ภูเบี้ยดินแดน (เคย) ต้องห้ามของลาว
จากยุคพระวิภาคภูวดลถึงกองกำลังม้ง ภูเขาที่สูงที่สุดในลาวมีความน่ามหัศจรรย์หลายๆ เรื่อง แต่มันยังเป็นที่ที่อันตรายที่สุดเช่นกัน
เจมส์ แมคคาร์ที (James F. McCarthy) เป็นนักสำรวจรังวัดและนักทำแผนที่ชาวไอริช เขามีโอกาสเดินทางมายังประเทศสยามครั้งแรกในปี พ.ศ. 2423 เมื่อรัฐบาลอังกฤษได้ขออนุญาตจากรัฐบาลสนามให้กองแผนที่กรมสำรวจของอินเดีย (ขณะนั้นเป็นอาณานิคมอังกฤษ) เข้ามาในประเทศสยาม ซึ่งหัวหน้ากลุ่มนักสำรวจทำแผนที่คือกัปตัน เอช ฮิลล์ (Captain H.Hill) พร้อมด้วยเจมส์ เอฟ แมคคาร์ธีผู้ช่วย
จากประวัติของกรมแผนที่ทหารระบุว่า "การสำรวจของนายช่างเซอร์เวย์อังกฤษในครั้งนั้นข้าราชการไทยหวั่นวิตกเป็นอันมาก เนื่องจากได้สังเกตเห็นมาแล้วว่าประเทศนักล่าอาณานิคมมักขอเข้าสำรวจก่อนแล้วจึงถือโอกาสเข้ายึดครองในภายหลัง อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยินยอมตามคำขอของรัฐบาลอังกฤษ ทั้งทรงเห็นชอบด้วยกับการที่จะเจรจาทาบทามตัวพนักงานทำแผนที่อังกฤษเข้ามารับราชการเพื่อเป็นการวางรากฐานการทำแผนที่ของไทยเองด้วย"
"ผลที่สุดปรากฎว่าเจมส์ เอฟ แมคคาร์ธี ตกลงยินยอมเข้ารับราชการสยามนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2424 "ภารกิจของเจมส์ แมคคาร์ธี ในระยะแรกได้แก่ การทำแผนที่เฉพาะกิจตามความต้องการของหน่วยราชการต่างๆ เช่น แผนที่ทางโทรเลขระหว่างระแหงถึงมะละแหม่ง แผนที่วิวาทชายแดนระหว่างอำเภอรามันปัตตานี กับเขตติดต่อแม่น้ำเประของอังกฤษ และแผนที่แม่น้ำแม่ติ่น แดนตากต่อเชียงใหม่ เพื่อประกอบกรณีพิพาทเรื่องเก็บค่าตอ เป็นต้น เจ้าหน้าที่กองสำรวจและทำแผนที่ระยะนี้ ก็ได้แก่ ข้าราชการในกรมทหารมหาดเล็กนั้นเอง"
ผลงานของการช่วยรัฐบาลสยามของเจมส์ แมคคาร์ที ทำให้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระวิภาคภูวดล" และเจมส์ แมคคาร์ทีได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งบันทึกการสำรวจทำแผนที่ประเทศสยามในครั้งนั้นคือ Surveying and exploring in Siam ซึ่งไม่ใช่แค่บันทึกสภาพภูมิศาสตร์ ความเป็นอยู่ สถานการณ์บ้านเมืองของสยามเท่านั้นแต่รวมถึงประทเศราชของสยามด้วย
ในตอนท้ายๆ ของหนังสือ Surveying and exploring in Siam ของพระวิภาคภูวดล คุณพระชาวบริติชท่านเล่าถึงการสำรวจภูเขาที่สูงที่สุดในอินโดจีน คือ ภูเบี้ย ในประเทศลาว ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศราชของสยาม
ที่ขึ้นไปก็เพื่อที่จะรังวัดทำแผนที่ประเทศสยามและแว่นแคว้นใกล้เคียง อย่างที่บางคนบอกว่าเป็นการสร้างประเทศสยามจากการทำแผนที่เพราะยุคโบราณประเทศสยามไม่มีการทำแผนที่เป็นหลักแหล่งมีแต่หลักหมุดแบบโบราณไม่กี่หลัก เมื่อชาติยุโรปเข้ามายึดเพื่อนบ้านและเฉือนดินแดนของสยามไป รัฐบาลจึงต้องรีบกำหนดเขตแดนให้ชัดเจน
การขึ้นไปภูเบี้ยเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นพอสมควร เพราะยอดล้อมด้วยเขาหินปูนแหลม มีผาสูงชันแทบไต่ขึ้นไม่ได้ ปกคลุมด้วยป่าหนาทึบ
วันที่คณะของคุณพระเริ่มการเดินทางที่เชียงขวาง อุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส มีน้ำค้างแข็งเกาะตามพื้นดิน เมื่อถึงตีนภู ก็จ้างชาวม้งนำทางขึ้นไปช่วงเช้าตรู่ พื้นดินมีน้ำแข็งเกาะ แอ่งน้ำบนเขาแข็งเป็นแผ่นประมาณ 1 ใน 4 นิ้ว พวกเด็กลูกหาบชาวกัมมุสนุกสนานกันใหญ่ พากันแกะน้ำแข็งมาแทะเล่น
เมื่อถึงยอดภูเบี้ย เป็นหินชนวนสลับกับหินปูน ต้นไม้บนยอดมีขนาดเล็กมาก พื้นปกคลุมด้วยมอสหนา ด้านทิศเหนือเป็นผาหินปูนสูง ปีนขึ้นมาไม่ได้
คืนวันที่ 20 ธ.ค. 1892 อุณหภูมิลดลงเหลือ -2 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็งหนาประมาณ 1 ใน 4 นิ้ว ในคืนต่อๆ มาจนถึงวันที่ 23 ธ.ค. มีลมแรง และเกิดน้ำแข็งอีก เมื่อตั้งเสารังวัดแล้วก็กลับลงมา ด้วยความยินดีปรีดา เพราะว่าหมดทรมานเสียที
บันทึกความหนาวของพระวิภาคฯ
เนื้อหาของบันทึกมีอยู่ว่า "และเราหันมาสนใจภูเบี้ย (Pu Bia) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในบรรดายอดเขาทั้งหมด เนินเขานี้จากจุดที่เรายืนอยู่ดูเหมือนถูกล้อมรอบด้วยยอดแหลมของหินปูนซึ่งจะทำให้การขึ้นลงยากมาก แต่โชคดีที่ในกลุ่มบางคนของเรารู้จักภูมิประเทศและสามารถนำทางเราไปสู่เส้นทางที่ง่ายกว่า" (Surveying and exploring in Siam หน้า 182)
"ด้วยคนนำทางชาวแม้ว (ชาวม้ง) เราเริ่มขึ้นและนอนที่ด้านข้างของเนินเขา เมื่อออกเดินทางในเช้าวันรุ่งขึ้นเราพบว่าพื้นดินเปียกเป็นน้ำแข็งและสูงขึ้นไปเราเห็นสระว่ายน้ำบนพื้นผิวมีน้ำแข็ง หนาหนึ่งในสี่ของนิ้ว น้ำแข็งสร้างความสนุกให้กับกุลีตัวน้อยๆ ซึ่งแต่ละคนหยิบมัน (น้ำแข็ง) มาเคี้ยวเล่น ยอดเขาประกอบด้วยแผ่นหินชนวนซ้อนทับหินปูนและต้นไม้ทั้งหมดมีขนาดเล็กมากเป็นพันธุ์พุ่ม (boxwood) ไม้ชนิดหนึ่ง มอสมีมากและมีการเตรียมการสำหรับการตั้งกระท่อมเล็กๆ ขึ้นในทันทีซึ่งมีมอสหนาเป็นชั้น ๆ ทำให้ค่อนข้างสบาย เช่นเดียวกับชาวเขาส่วนใหญ่ (Surveying and exploring in Siam หน้า 183)
"ชาวกัมมุซึ่งเป็นกุลีของเราสวมเสื้อผ้าให้น้อยชิ้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บางครั้งก็เป็นเพียงผ้าผืนใหญ่พอที่จะใช้งานได้และไม่มีสถานการณ์เพียงพอที่จะป้องกันความหนาวเย็นได้" (Surveying and exploring in Siam หน้า 184)
"คืนวันที่ 20 ธันวาคม 1892 (พ.ศ. 2435) ฟ้าเปิดมากและในเช้าวันรุ่งขึ้นเทอร์โมมิเตอร์อยู่ที่ 27 ฟาเรนไฮต์ น้ำแข็งก่อตัวขึ้นความหนากว่าหนึ่งในสี่ของนิ้ว และพ่อครัวที่เก็บมันรู้สึกประหลาดใจมากที่พบว่าเมื่อละลายแล้วมันก็กลายเป็นสีของกาแฟที่เขาตั้งใจจะทำมันขึ้นมา มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำเนื่องจากสามารถจัดหาได้จากคูน้ำเท่านั้น แต่ความไม่สะดวกนี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ตลอดทั้งคืนของวันที่ 21 มีลมแรงมาก แต่เทอร์โมมิเตอร์ไม่ได้ตกลงไปที่จุดเยือกแข็งและในตอนเช้ามันอยู่ที่ 37 องศา คืนวันที่ 22 เรามีน้ำแข็งอีกครั้ง ในวันที่ 23 หลังจากสร้างเสาสัญญาณแล้วเราก็ออกจากเนินเขาซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นจุดที่น่าพอใจที่สุดสำหรับการตั้งจุดสังเกต บางส่วนของแม่น้ำโขงสามารถมองเห็นได้ ความสูงของภูเบี้ยคือ 9,355 ฟุตและจะต้องเป็นที่หนึ่งในบรรดาภูเขาทางใต้ของเส้นขนานที่ 23 องศา ภูเขาที่สูงที่สุดในคาบสมุทรมาเลย์ที่ต้นแม่น้ำปาหังมีความสูงต่ำกว่า 9,000 ฟุตแม้ว่าจะมีบางคนที่กำหนดให้มีความสูง 12,000 ก็ตาม" (Surveying and exploring in Siam หน้า 184)
พระวิภาคภูวดลบันทึกเรื่องน้ำแข็งบนภูเบี้ยไว้เท่านี้ แล้วตั้งข้อสังเกตว่า ภูเบี้ยเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแหลมมลายูและอินโดจีน (2,820 เมตร) ซึ่งในภายหลังเราทราบว่าที่เวียดนามยังมียอดเขาที่สูงกว่า คือ ฟานซีปังซึ่งมีหิมะแน่นอนตอนหน้าหนาว
แต่ผู้เขียนคิดว่าภูเบี้ยเป็นความน่าอัศจรรย์ทางธรรมชาติมากกว่า ภูเขาฟานซีปัง (รวมถึงพงสาลีของลาว) อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น ซึ่งเป็นอากาศแบบจีนตอนใต้ ไม่แปลกที่จะมีหิมะ แต่ภูเบี้ยอยู่ในภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งร้อนเป็นหลัก หากจะมีหิมะหรือน้ำแข็งบนยอด ก็นับว่าเป็นของขวัญอันพิเศษสุด สำหรับคนขี้ร้อนที่แสวงหาความหนาวแถวๆ นี้
ส่วนยอดเขาในเมียนมาเป็นเขตหิมาลัยแล้ว ดูไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แถมยังเที่ยวจากฝั่งจีนง่ายกว่าด้วย
ดินแดนสนธยาที่เปิดแล้วแต่เข้าไม่ได้
นอกจากบันทึกของพระวิภาคภูวดล ยังมีบันทึกอื่นๆ เล่าว่าเมื่อศตวรรษที่แล้ว ภูเบี้ยมีหิมะปกคลุมในบางครั้ง (บางแห่งก็ว่าคลุมตลอด) แต่ในศตวรรษนี้ไม่มีแล้ว คงเพราะปัญหาโลกร้อนเป็นเหตุ บางแหล่งข้อมูลอ้างว่า ทุกวันนี้อุณหภูมิเฉลี่ยบนยอดภูเบี้ยประมาณ -5 องศา แต่เรื่องนี้ผู้เขียนยังสงสัย เพราะเดือน ธ.ค.เมื่อ 100 กว่าปีก่อนอุณหภูมิแค่ -2
แต่ที่น่ากังวลพอๆ กับปัญหาโลกร้อนคือปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่
ภูเบี้ยเป็นเขตหวงห้ามหลายสิบปีแล้ว เพราะความขัดแย้งช่วงสงครามเย็น ด้วยความที่เป็นพื้นที่ห่างไกลปกคลุมไปด้วยป่าจึงถูกใช้โดยทหารกองกำลังม้ง มีข้อมูลว่าในปี 1970 มี ชาวม้ง 60,000 คนที่สนับสนุนการปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการปะเทดลาวและกองทัพประชาชนเวียดนาม (ฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ของทั้งสองประเทศ) คือปฏิบัติการ Raven Forward Air Controllers ของสหรัฐในช่วงสงครามเวียดนามมาหลบภัยที่เทือกเขาภูเบี้ย
หลังสงครามเวียดนาม ม้งในลาวอพยพออกมาและนับแสนคนลี้ภัยในไทยและในสหรัฐ แต่ยังมีกองกำลังเหล่านี้เหลืออยู่เรียกว่า "ม้งเจ้าฟ้า" กบดานในพื้นที่ภูเบี้ยและยังก่อเหตุโจมตีทางการลาวเป็นครั้งคราว ขณะที่ทางการลาวก็พยายามกำราบกลุ่มนี้ ช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์ลาวยึดครองประเทศได้ใหม่ๆ รัฐบาลสหรัฐอ้างว่าอาจมีการใช้สารเคมีจนชาวม้งแถบภูเบี้ยตายไปถึง 5,000 คนซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด และใน Haig Report ระบุว่ากองทัพปลดแอกประชาชนลาวและกองกำลังกองทัพเวียดนาม กองพลที่ 51 อ้างว่ามีชาวม้ง 200 คนเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยสารเคมีในบริเวณภูเบี้ยระหว่างปี 1975 - 1981
จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ยังมีสื่อต่างประเทศเล็ดรอดเข้าไปถึงแหล่งกบดานแล้วรายงานวิถีชีวิตของกองกำลังม้งเหล่านี้ซึ่งปัจจุบันเหลือหลักร้อยถึงหลักสิบคน
รายงานของ UNPO ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2016 ทางการลาวเริ่มโจมตีหนัก มีการใช้อาวุธสงครามหนักๆ เช่น รถถังและปืนใหญ่เข้าโจมตีพวกม้งเจ้าฟ้าแถบภูเบี้ย หลายคนทนไม่ไหวจึงยอมวางอาวุธแต่หลายคนก็หนีไปพึ่งประเทศเพื่อนบ้านแต่ก็ต้องถูกประเทศเพื่อนบ้านส่งกลับมาให้ลาวอีก
นอกจากนี้ยังมีกับระเบิดอีกเพียบซึ่งยากที่จะเก็บกู้ แล้วยังได้ข่าวว่าทางการลาวพยายามศึกษาเรื่องภูเบี้ย เพราะข้อมูลกระท่อนกระแท่นเหลือเกิน
ดังนั้นเมื่อไม่กี่ปีก่อนโอกาสที่จะสำรวจภูเบี้ย น่าจะเท่ากับศูนย์เพราะปัญหาความมั่นคง อย่าว่าแต่ภูเบี้ยเลยแม้แต่เหมืองทองโดยรอบภูเบี้ยก็ยังยากจะเข้าไป และโครงการจะเปลี่ยนภูเบี้ยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวจะเปิดรับคนนอกเข้าไปจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะอาณาบริเวณนั้นเปราะบางพอสมควร
ภูเบี้ยจึงเคยเป็นอีกหนึ่งดินแดนสนธยาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และในแง่รัฐศาสตร์
จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้ว ทางการลาวได้จัดการเปิดภูเบี้ยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเรียบร้อยแล้ว Vientiane Times รายงานเมื่อเดือนมกราคม 2021 ว่า พล.ต.คำเลียง อุทะไกสอน ที่ผู้ว่าราชการแขวงไซสมบูนซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของภูเบี้ย ได้เสนอรายงานต่อที่ประชุมพรรคที่ 11 ระบุว่าเจ้าหน้าที่ในแขวงไซสมบูน ได้ทำงานอย่างหนักในการติดตามและปราบปรามเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในพื้นที่ รายงานระบุว่าขณะนี้สถานการณ์สงบโดยไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ
พล.ต.คำเลียงยังรายงานว่าได้มีการนำธงชาติลาวไปปักไว้บนยอดเขาภูเบี้ย (หรือจอมภูเบี้ย) เพื่อแสดงถึงความสามัคคี และทางการแขวงไซสมบูนยังได้อนุมัติให้พัฒนาภูเขาภูเบี้ยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
เบื้องต้นได้มีการตัดถนนขึ้นไปเพื่อเปิดทางไปถึงจอมภูเบี้ยและมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของลาวบางส่วนได้ขึ้นไปชมภูเบี้ย "ยุคสันติภาพ" แล้วเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2020 ส่วนหนึ่งเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองการสถาปนา สปป. ลาว ครบรอบ 45 ปี
แต่ยังอีกนานกว่าคนภายนอกประเทศลาวจะได้มีโอกาสเข้าไปเยือน เพราะต่อให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของลาวยกขบวนกันขึ้นไปปักธงแล้ว แต่พื้นที่โดยรอบก็ยังมีกองกำลังม้งอยู่ ในเดือนเมษายน 2021 นี่เอง Radio Free Asia ยังรายงานว่า กองกำลังของรัฐบาลลาวได้เปิดการโจมตีใหม่ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อาศัยอยู่ในป่าใกล้ภูเขาภูเบี้ย ซึ่ง Radio Free Asia อ้างแหล่งข่าวชาวม้งและกลุ่มสิทธิว่าเป็นความพยายามของทางการที่จะนำคนพวกนี้เขาออกจากพื้นที่เป้าหมายสำหรับการพัฒนาและแผนการลงทุนจากต่างประเทศ (โดยจะมีการให้สัมปะทาน 99 ปี)
การปะทะครั้งนี้เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2021 หรือไม่ถึง 3 เดือนหลังจากทางแขวงไซสมบูนระบุว่า "ขณะนี้สถานการณ์สงบ" แต่กลางเดือนมีนาคมทางการแขวงสั่งห้ามพลเรือนเข้าไปในพื้นที่ป่าโดยรอบภูเบี้ย
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม สมาชิกของกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ทราบฝ่ายถูกสังหารจากการปะทะกับกองกำลังของรัฐบาลลาว ทางการลาวระบุว่าเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซึ่งน่าจะหมายถึงกองกำลังม้งในพื้นที่ ย้อนไป 20 มิถุนายน 2020 ทหารรัฐบาลถูกยิงเสียชีวิตขณะลาดตระเวนตรวจสอบการปลูกฝิ่น ในเดือนมกราคม 2016 รถที่บรรทุกคนงานเหมืองชาวจีนถูกซุ่มโจมตีในจังหวัดทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 1 คนและในเดือนพฤศจิกายน 2015 มีการปะทะระหว่างกลุ่มติดอาวุธและกองกำลังทหารในพื้นที่ทำให้ทหาร 3 นายและพลเรือนเสียชีวิต 4 คน
การปะทะกันล่าสุดคาดว่าคงเป็นสาเหตุให้เมื่อ 14 มีนาคม ทางการในแขวงไซสมบูนได้ออกคำสั่งโดยมีการส่งจดหมายไปยังหมู่บ้าน 26 แห่งในพื้นที่โดย จำกัดการเข้าถึงป่าในพื้นที่ภูเบี้ยกับพลเรือนทุกคน หนังสือดังกล่าวระบุว่าอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ได้เฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารจากแขวงไซสมบูนและทหารของเขตท่าโทมเท่านั้น โดยจะปิดถนนทุกสายตั้งแต่วันที่ 14 - 30 มีนาคม (ต่อมาขยายเวลาออกไป)
แผนที่ของพระวิภาคฯ
อนึ่ง ผู้เขียนยังมีของฝากนักอ่าน จากหนังสือ Surveying and exploring in Siam ของพระวิภาคภูวดลเป็นแผนที่ประเทศสยาม ในแบบมณฑลเทศาภิบาล อันเป็นระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นกึ่งรวมศูนย์ เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างความรัฐชาติ (Nation state) เพื่อยุติความหละหลวมของระบอบจตุสดมภ์ และป้องกันรัฐชาติที่แข็งแกร่งจากตะวันตกมากลืนกินแผ่นดิน โดยอ้างว่านี่เป็นแผ่นดินที่ขึ้นกับกรุงเทพฯ แบบหลวมๆ ไม่ใช่ของรัฐบาลกรุงเทพฯ แบบ 100%
นี่เองเป็นเหตุให้เกิดการปกครองแบบใหม่ และการเร่งทำแผนที่แบบตะวันตก โดยคุณพระฝรั่ง
ปกติแล้วเราคงไม่ค่อยได้เห็นแผนที่มณฑลเทศาภิบาลกันเท่าไร เพราะหาดูได้ยาก แต่ในโลกดิจิทัลอะไรก็เป็นไปได้ แม้ว่าในไทยจะไม่มีให้ดูกันง่ายๆ แต่ที่อื่นๆ เช่น Cornell University Library ใช่ว่าจะไม่มี ในเมื่อเจอแล้ว ผู้เขียนเลยนำภาพมาให้ดู
การเรียกชื่อมณฑลนี้อาจจะไม่คุ้นกันนัก เพราะเป็นการจัดการปกครองยุคแรก และเรียกตามสภาพภูมิศาสตร์แบบไทยๆ เช่น มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ หมายถึงล้านนา มณฑลพิษณุโลกยังกินพื้นที่ถึงแขวงไชยบุรี/ไซยะบูลีของลาวทุกวันนี้ เมืองไชยบุรีนี้พระวิภาคภูวดลไปเจอ “ภูเขาไฟ” เข้า แต่ทุกวันนี้เราทราบว่ามันคือแหล่งถ่านหินนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีมณฑลเขมร คือเมืองพระตะบอง เสียมราฐ (แน่นอนว่านครวัด นครธมอยู่ในนั้นด้วย) ยังมีมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือกินพื้นที่จากฝั่งตรงข้ามเมืองสตึงแตรง จนถึงเมืองมุกดาหาร ส่วนมณฑลอุดรตอนนั้นเรียกมณฑลเหนือ มณฑลตะวันตก หมายถึงระนองจนถึงเมืองไทรบุรี ตรงข้ามมณฑลตะวันตกคือมณฑลนครศรีธรรมราช ล่างไปคือมณฑลมลายู
ปัจจุบันเราไม่ได้ปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลอีกต่อไป และหลายส่วนของดินแดนกลายเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังรักกันปานจะกลืนกินแต่บางครั้งก็เคืองกันจนมองหน้าไม่ติด
โดย กรกิจ ดิษฐาน
ภาพประกอบหลักโดย Boroli ทำการปรับแต่งตามลิขสิทธิ์ Attribution-Share Alike 4.0 International