posttoday

พลิกปูมความขัดแย้งนับร้อยปี อิสราเอลกลืนปาเลสไตน์ยังไง

18 พฤษภาคม 2564

ด้วยความที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ศาสนา คือ อิสลาม ยูดาย และคริสต์ เยรูซาเลมจึงเป็นพื้นที่ทีทั้งอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ต้องการจนนำมาสู่ความขัดแย้งยาวนานนับร้อยปี

ครั้งหนึ่งปาเลสไตน์เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมัน แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงและอาณาจักรออตโตมันล่มสลาย ชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีชัยชนะในสงครามได้กำหนดให้อังกฤษเข้ามาปกครองปาเลสไตน์

อังกฤษได้ประกาศให้ปาเลสไตน์เป็น "บ้านแห่งชาติของคนยิว" (a national home for the Jewish people) โดยกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อสิทธิทางศาสนาและพลเมืองของชุมชนที่ไม่ใช่ชาวยิวที่อยู่ที่นั่น

หลังจากนั้นระหว่างทศวรรษ 1920-1940 ชาวยิวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์มากขึ้น โดยหลายคนหนีการไล่ล่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีในยุโรปเข้ามาในดินแดนแห่งนี้

หลังจากการสถาปนาอิสราเอลขึ้นเป็นรัฐในปี 1948 ก็เริ่มเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ขึ้น โดยขบวนการชาตินิยมยิวไซออนิสต์ได้ขับไล่ชาวปาเลสไตน์ราว 750,000 คนออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดและทำลายบ้านเรือน

เหตุการณ์นี้ทำให้ชาติอาหรับ อาทิ อียิปต์และจอร์แดนไม่พอใจสิ่งที่อิสราเอลปฏิบัติกับชาวอาหรับด้วยกันจึงบุกโจมตีอิสราเอล

หลังการสู้รบสิ้นสุดในปี 1949 มีการตกลงแบ่งพรมแดนระหว่างอิสราเอลกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการสร้างพรมแดนของพื้นที่ที่รู้จักกันในชื่อ ฉนวนกาซา (อียิปต์ยึดครอง) เยรูซาเลมตะวันออกและเขตเวสต์แบงก์ (จอร์แดนยึดครอง)

เท่ากับว่าอิสราเอลครอบครองพื้นที่ 78% ของปาเลสไตน์ ส่วนที่เหลือ 22% อยู่ภายใต้การปกครองของอียิปต์และจอร์แดน

นอกจากนี้ ในปี 1953 อิสราเอลยังลงมือสังหารหมู่ที่อ้างว่าเป็นการแก้แค้นครั้งใหญ่ในหมู่บ้าน Qibya ในเขตเวสต์แบงก์ ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 69 ราย บ้านเรือน 45 หลังพังเสียหาย

แต่แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อพรมแดนอิสราเอลอีกครั้งในปี 1967 อิสราเองสู้รบกับอียิปต์ จอร์แดน และซีเรียในสงครามที่รู้จักกันในชื่อ สงคราม 6 วัน (Six-Day War) อิสราเอลสร้างความช็อกให้ชาวโลกด้วยการเข้ายึดครองเขตเวสต์แบงก์ที่เหลือของปาเลสไตน์ เยรูซาเลมตะวันออก ฉนวนกาซา รวมทั้งที่ราบสูงโกลันของซีเรียและคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ภายในเวลาเพียง  6 วัน

ถึงจุดนี้อิสราเอลได้ขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่อีกราว 300,000 คน ส่งผลให้พื้นที่ของดินแดนภายใต้การควบคุมของอิสราเอลเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว และอิสราเอลยังผนวกเยรูซาเลมตะวันออกและอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเมืองเยรูซาเลมทั้งเมืองให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล แต่การกระทำเช่นนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก รวมทั้งจากชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการใช้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของรัฐในอนาคต

อิสราเอลเริ่มก่อตั้งชุมชนชาวยิวในพื้นที่ที่ตัวเองไม่มีกรรมสิทธิ์เหนือซึ่งขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน โดยหลังจากสงครามในปี 1967 เพียง 1 ปี อิสราเอลก่อตั้งชุมชนชาวยิวบนที่ราบสูงโกลันของซีเรีย 6 แห่ง ในปี 1973 ก่อตั้ง 17 ชุมชนชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์ และ 7 แห่งในฉนวนกาซา ปี 1977 อิสราเอลราว 11,000 คนอาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา ที่ราบสูงโกลัน และคาบสมุทรไซนาย

โครงการก่อสร้างชุมชนชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลอิสราเอลดำเนินการโดยฝ่ายการตั้งถิ่นฐานขององค์การไซออนิสต์สากลที่สนับสนุนให้ชาวยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์

ที่น่าสังเกตคือ เมื่ออิสราเอลผนวกรวมเยรูซาเลมตะวันออกแล้วก็กำหนดนโยบายที่แบ่งแยกชนชาติอย่างชัดเจน โดยชาวยิวที่เกิดในเยรูซาเลมตะวันออกถือเป็นพลเมืองของอิสราเอล ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ได้สิทธิ์เพียงผู้พำนักถาวรซึ่งจะถูกเพิกถอนหากบุคคลดังกล่าวอาศัยอยู่นอกเยรูซาเลมตะวันออกเกินกำหนด ซึ่งไม่ต่างจากการจำกัดการเดินทางของชาวปาเลสไตน์

จนถึงวันที่ 30 ม.ค.2020 มีชุมชนชาวยิวที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอิสราเอล 130 แห่ง และที่ไม่ได้รับอนุญาตอีก 100 แห่ง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวอิสราเอลราว 400,000 คนในเขตเวสต์แบงก์ และอีก 200,000 คนในเยรูซาเลมตะวันออก ทำให้ชาวปาเลสไตน์ไม่สามารถขยับขยายชุมชนของตัวเอง และต้องอยู่ในพื้นที่นั้นด้วยความแออัด

ความเห็นของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าด้วยกำแพงเวสต์แบงก์ (West Bank barrier) เมื่อปี 2004 ระบุว่า การตั้งชุมชนชาวยิวของอิสราเอลในปาเลสไตน์ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับนานาชาติที่มองว่าชุมชนดังกล่าวขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และองค์การสหประชาติที่ย้ำหลายครั้งว่าการก่อสร้างชุมชนชาวยิวของอิสราเอลฝ่าฝืนอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4

ขณะที่สหรัฐมีความเห็นเช่นเดียวกันนี้มานานหลายทศวรรษ จนกระทั่งสมัยของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เปลี่ยนท่าทีเมื่อเดือน พ.ย. 2019 ด้วยการประกาศว่า การก่อสร้างชุมชนชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์ไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

AFP PHOTO / MOHAMMED ABED