posttoday

เดลตา (Delta variant) มันร้ายขนาดไหน?

27 มิถุนายน 2564

ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสายพันธุ์ที่กำลังอาละวาดไปทั่วโลกและกำลังสั่นคลอนโครงการฉีดวัคซีนในหลายๆ ประเทศ

1. สายพันธุ์เดลตา (Delta) คืออะไร? เป็นแขนงหนึ่งที่มาจากสายพันธุ์ B.1.617 ของเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 โดยสาย B.1.617 ตรวจพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อปลายปี 2020 เช่นเดียวกับแขนงของมันคือ B.1.617.2 ซึ่งเป็นการแตกแขนงลำดับที่ 2 แขนงลำดับที่ 2 นี้ได้รับการตั้งชื่อโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าสายพันธุ์เดลต้า (Delta variant) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2021

2. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) ได้เปลี่ยนการจำแนกเชื้อสาย B.1.617.2 จากสายพันธุ์ภายใต้การตรวจสอบ (VUI) เป็นสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง (VOC) โดยพิจารณาจากการประเมินความสามารถของมัยในการแพร่เชื้ออย่างน้อยเท่ากับเชื้อแขนง B.1.1.7 หรืออัลฟา (Alpha variant) ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร

3. สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง (VOC) คือมีศักยภาพแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในประชากรมนุษย์ สามารถทำให้เกิดการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการคั่งค้างระยะยาวหลังติดเชื้อแล้ว (Long COVID) ความสามารถในการหลบเลี่ยงการตรวจจับโดยการทดสอบวินิจฉัย ความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ (เช่น ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ) และมีความสามารถในการแพร่เชื้อสู่ผู้ได้รับวัคซีน

4. ในวันที่ 11 พฤษภาคม องค์การอนามัยโลกได้จำแนกเชื้อสายพันธุ์นี้ให้เป็นกลุ่ม VOC ด้วย และกล่าวว่ามีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการแพร่เชื้อที่สูงขึ้นและลดการป้องกันการติดเชื้อ ในเดือนพฤษภาคมเช่นกันที่สื่อเริ่มคาดว่าสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นตัวการทำให้เกิดการระบาดระลอกที่สองของอินเดียที่เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2021

5. อาการของมันเป็นอย่างไร? ข้อมูลจากการศึกษาอาการโควิด-19 ของ ZOE Covid Symptom Study ซึ่งมีการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจาก King's College London ชี้ให้เห็นว่าอาการหลักของการติดเชื้อไวรัสเดลตาคืออาการปวดหัว เจ็บคอ และน้ำมูกไหล ข้อมูลจากเว็บไซต์ Healthline ที่เผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพของสหรัฐระบุว่า "ในสหราชอาณาจักร ซึ่งสายพันธุ์เดลต้าคิดเป็นร้อยละ 91 ของผู้ป่วยรายใหม่ ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าอาการที่รายงานมากที่สุด ได้แก่ ปวดศีรษะ เจ็บคอ และน้ำมูกไหล"

6. นี่คือการเปลี่ยนแปลงจากข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับอาการของควิด-19 ก่อนหน้านี้ เช่นในข้อมูลที่จัดทำโดย National Health Service (NHS) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งระบุว่าอาการโควิด-19 ก่อนหน้านี้จะไข้ อาการไออย่างต่อเนื่อง และการสูญเสียกลิ่นหรือรสชาติ ทั้งหมดนี้เป็นอาการหลักของโควิด-19 รุ่นก่อน

7. เตโวโดรส อัดฮาโนม เกอเบรออีเยอซุส (TedrosAdhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนว่า “เดลตาเป็นสายพันธุ์ที่สามารถแพร่เชื้อได้มากที่สุด โดยพบแล้วอย่างน้อย 85 ประเทศ และกำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในกลุ่มประชากรที่ไม่ได้รับวัคซีน”

8. ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเริ่มกังวลกับมัน เวนดี บาร์เคลย์ (Wendy Barclay) ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาและหัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อที่ Imperial College London ในสหราชอาณาจักร อธิบายกับ Medical News Today ว่าสายพันธุ์แพร่เชื้อได้มากกว่ารุ่นก่อนๆ เนื่องจากการกลายพันธุ์ที่สำคัญบางอย่างในโปรตีนตรงส่วนหนาม (The spike protein) ซึ่งช่วยให้ไวรัสสามารถเจาะทะลุและติดเชื้อในเซลล์ที่แข็งแรงได้

9. กลางเดือนเดือนมิถุนายน 2021 สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษประกาศว่าได้ทำการศึกษาซึ่งพบว่าหลังจากฉีดสองครั้ง วัคซีน Pfizer-BioNTech และวัคซีน AstraZeneca มีประสิทธิภาพ 96% และ 92% ตามลำดับในการป้องกันการรักษาในโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลตา

10. อย่างไรก็ตาม กลางเดือนนมิถุนายนเช่นกัน สหราชอาณาจักรต้องเลื่อนการคลายล็อคดาวน์ออกไปจากเดิมที่จะคลายวันที่ 21 มิถุนายน เพราะการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่คิดเป็นส่วนใหญ่ (90%) ของการติดเชื้อใหม่ในสหราชอาณาจักร นักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่าเดลตามีศักยภาพการทำให้ติดเชื้อระหว่าง 40% ถึง 80% มากกว่าอัลฟาที่เคยระบาดก่อนหน้านี้

11. อิสราเอลที่ใช้ Pfizer-BioNTech และหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนต้องกลับไปสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ภายในอาคาร รวมทั้งงานอีเว้นต์ขนาดใหญ่ที่จัดภายนอกอาคารอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลเพิ่งยกเลิกคำสั่งไปเมื่อ 10 วันก่อน เพราะการแพร่ระบาดของ Covid-19 สายพันธุ์เดลตาทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันของอิสราเอลสูงกว่า 100 คนเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน

12. สหรัฐที่ใช้ Pfizer-BioNTech ก็เสี่ยงเช่นกัน ดร. สก็อต กอตลีบ (Dr. Scott Gottlieb) อดีตเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอาหารแหละยาสหรัฐเตือนด้วยว่าสหรัฐอาจประสบกับการระบาดของโควิด-19 อีกเนื่องจากสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อได้สูง และได้ตั้งข้อสังเกตว่าประมาณ 10% ของผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เกิดจากตัวแปรเดลตาจากการรายงานของ Medical News Today

13. ดร.แอนโธนี เอส. เฟาซี (Dr. Anthony S. Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐ เตือนว่า “ประเทศใดก็ตามที่มีสายพันธุ์เดลตาควรกังวลว่าจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเทศนั้นไม่มีอัตราประชากรจำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีน”

13. มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ (Maria Van Kerkhove) หัวหน้าฝ่ายเทคนิคเกี่ยวกับโควิด-19 ของ WHO กล่าวว่า “สถานการณ์โลกเปราะบางมาก” พร้อมเตือนว่า “สายพันธุ์เดลต้าสามารถสร้างกราฟเส้นโค้งการแพร่ระบาดแบบทวีคูณ” ดร. ฟาน เคอร์โคฟ กล่าวเสริมและวัคซีนที่มีอยู่ “อาจไม่ได้ผล” เมื่อเวลาผ่านไป

ภาพถ่ายจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) ที่ได้รับเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2021 แสดงไมโครกราฟอิเล็กตรอนแบบสแกนสีของเซลล์ (สีเขียว) ที่ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2-สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 (สีส้ม) โดยทำการแยกจากตัวอย่างผู้ป่วย Photo by Handout / National Institute of Allergy and Infectious Diseases / AFP