posttoday

สรุปข้อมูล Sinovac ป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้หรือไม่?

29 มิถุนายน 2564

รอยเตอร์สรวบรวมข้อมูลและความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่พัฒนาโดยประเทศจีนไว้ดังนี้

รอยเตอร์สรายงานว่าขณะนี้มีหลายประเทศที่ใช้ Sinovac วัคซีนต้านโควิด-19 ของจีน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย บราซิล ไทย และจีนเองท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าวัคซีดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาซึ่งพบครั้งแรกในประเทศอินเดียได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในขณะนี้

Sinovac สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้หรือไม่

ผู้ผลิตวัคซีนจากจีนไม่ได้เปิดเผยผลลัพธ์ประสิทธิภาพของวัคซีนโดยเจาะจงสายพันธุ์ของโควิด-19 ทั้งในการทดลองทางคลินิกและการใช้งานจริง รวมถึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโดยละเอียดจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม จง หนานซาน นักระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญชื่อดังด้านโรคระบบทางเดินหายใจของจีนยืนยันว่านักวิจัยพบว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบบแสดงอาการ และลดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

โดยอ้างอิงจากการวิเคราะห์การติดเชื้อในเมืองกวางโจว ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นและกลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็ก

ขณะที่หลิว เพ่ยเฉิง โฆษก Sinovac กล่าวกับรอยเตอร์สว่าผลลัพธ์เบื้องต้นจากตัวอย่างเลือดผู้ที่ได้รับวัคซีนแสดงให้เห็นว่าการทำให้เป็นกลาง (neutralizing effect) ต่อสายพันธุ์เดลตาลดลง 3 เท่า แต่การฉีดวัคซีนเสริมหรือวัคซีนเข็มที่ 3 สามารถกระตุ้นแอนติบอดีที่แข็งแรงและทนทานต่อสายพันธุ์เดลตาได้อย่างรวดเร็ว

เฟิ่ง จื่อเจี้ยน อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนกล่าวกับสื่อของจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นโดยวัคซีนจีน 2 ยี่ห้อมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอสายพันธุ์เดลตาเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ แต่ไม่ได้เอ่ยชื่อวัคซีนทั้งสอง

อย่างไรก็ตามเฟิ่งเสริมว่า Sinovac ยังคงมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากมณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นที่แรกของจีนที่พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา พบว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวมีอาการรุนแรง แต่อาการรุนแรงทั้งหมดมาจากผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน

ขณะที่ จิน ตงหยาน นักนักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่าความเห็นของเฟิ่งยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากสายพันธุ์ได้ เนื่องจากจำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติม

ทั้งนี้ อินโดนีเซียซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นอย่างน่าตกใจเนื่องจากมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา รวมถึงเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาพบว่าบุคลากรทางการแพทย์หลายร้อยคนติดเชื้อแม้จะได้รับวัคซีนของ Sinovac แล้วก็ตาม

เมื่อเทียบกับวัคซีนอื่นๆ

การศึกษาโดยสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) ในเดือนพฤษภาคมพบว่าวัคซีนของ Pfizer-BioNTech มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยจากสายพันธุ์เดลตา 88% เมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้ว 2 สัปดาห์ ขณะที่ประสิทธิภาพดังกล่าวจะอยู่ที่ 93% เมื่อเจอกับสายพันธุ์อัลฟาที่พบครั้งแรกในอังกฤษ

ด้านวัคซีน AstraZeneca จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยจากสายพันธุ์เดลตา 60% เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม และ 66% สำหรับสายพันธุ์อัลฟา

ขณะที่วัคซีนชนิดเข็มเดียวจาก Johnson & Johnson ยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในสหรัฐกำลังชั่งน้ำหนักความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเสริมด้วยวัคซีน mRNA

ความรุนแรงของสายพันธุ์เดลตาในกวางตุ้ง

มณฑลกวางตุ้งเป็นคลัสเตอร์สายพันธุ์เดลตาที่ใหญ่ที่สุดของจีนโดยพบการติดเชื้อในพื้นที่ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยในกวางโจวเมืองหลวงของกวางตุ้งมีการติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างน้อย 146 ราย และอีกหลายรายจากเมืองใกล้เคียงอย่างเซินเจิ้นและตงกวน

ขณะที่กวางตุ้งกำลังเร่งฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด โดยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 39.15 ล้านโดส ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 เดือนถัดมา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนตัวเลขดังกล่าวพุ่งขึ้นเป็น 101.12 ล้านโดสจากประชากรทั้งหมดในกวางตุ้ง 126 ล้านคน

Photo by Luis ROBAYO / AFP