จักรพรรดิผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นบ้า เพราะไม่ยอมเป็นข้าฝรั่ง
เรื่องราวของสองจักรพรรดิพ่อลูกของอันนัมที่พยายามปลดแอกประเทศ แต่ต้องพบกับชะตากรรมที่น่าเศร้า
เวียดนามภายใต้การปกครองของราชวงศ์เหงวียนเคยเป็นมหาอำนาจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ เป็นคู่แข่งกับประเทศสยามในการชิงอิทธิพลเหนือกัมพูชาและลาว แต่เพราะความวุ่นวายจากการเมืองภายในและการกดขี่ชาวคริสตัง (นิกายคาทอลิก) ทำให้เวียดนามอ่อนแอลงและยังเปิดช่องโหว่ให้กับนักล่าอาณานิคมเข้ามาเขมือบแผ่นดิน
ในปี พ.ศ. 2401 จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เริ่มก้าวแรกเพื่อสร้างอิทธิพลอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีน ทรงอนุมัติให้ส่งกำลังทหารมายังเวียดนามเพื่อลงโทษชาวเวียดนามที่ทารุณต่อต่อมิชชันนารีคาทอลิกชาวยุโรปและบังคับให้ราชสำนักเวียดนามยอมให้ฝรั่งเศสเข้ามาดำเนินการในเวียดนามได้
อย่างไรก็ตาม การส่งกำลังทหารมาสั่งสอนกลายเป็นการบุกรุกเต็มรูปแบบ สิ่งที่ทำให้นโปเลียนที่ 3 เปลี่ยนพระทัยคือความเชื่อที่ว่าฝรั่งเศสอาจจะไล่ตามมหาอำนาจอื่นไม่ทันหากไม่ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออก และยังเชื่อว่าฝรั่งเศสมีภารกิจที่จะต้องสร้างความศิวิไลซ์ให้เอเชีย ดังนั้นภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2402 ฝรั่งเศสจึงยึดครองไซ่ง่อนและสามจังหวัดทางใต้ของเวียดนามเอาไว้
เมื่อถึงปี พ.ศ. 2405 สงครามสิ้นสุดลงและเวียดนามยอมรับสนธิสัญญาไซ่ง่อน ซึ่งเวียดนามถูกบังคับให้ยอมมอบสามจังหวัดทางตอนใต้ให้กลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในนาม "โคชินจีน" ในทศวรรษต่อมา เวียดนามค่อยๆ ถูกกลืนมาอยู่ภายใต้การควบคุมของฝรั่งเศส โดยเวียดนามจำต้องทำสนธิสัญญาเว้ พ.ศ. 2426 ทำให้เวียดนามที่เหลือกลายเป็นอารักขาของฝรั่งเศส แบ่งออกเป็น "รัฐในอารักขาอันนัม" และ "รัฐในอารักขาตังเกี๋ย" เมื่อรวมกับ "โคชินจีน" แล้วเวียดนามถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนโดยฝรั่งผู้รุกราน
จีนซึ่งเคยอ้างสิทธิเหนือเวียดนามในฐานะประเทศราชหรือรัฐจิ้มก้อง ตกลงกับฝรั่งเศสหลังสงครามจีน-ฝรั่งเศสโดยในสนธิสัญญาเทียนจิน จีนยอมรับสิทธิการอารักขาของฝรั่งเศสเหนืออันนัมและตังเกี๋ย และละทิ้งการอ้างสิทธิ์ของจีนเองที่มีอำนาจเหนือเวียดนามโดยปริยาย อันนัมและตังเกี๋ยกลายเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2430
ราชวงศ์เหงวียนยังคงปกครองรัฐอารักขาทั้งสองแต่ในนาม ตังเกี๋ยถูกปกครองโดยฝรั่งเศสโดยพฤตินัย ในขณะที่รัฐบาลของจักรวรรดิยังคงมีอำนาจเหนืออันนัมอยู่บ้าง เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2440 สภาจักรวรรดิเวียดนามในเมืองอันนัมก็ถูกแทนที่ด้วยสภารัฐมนตรี โดยมีผู้แทนฝรั่งเศสเป็นประธานในทางนิตินัย
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2441 ชาวฝรั่งเศสเข้ายึดครองสิทธิ์ในการเก็บภาษีทั้งหมดในรัฐอันนัมโดยตรงและจัดสรรเงินเดือนให้แก่จักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหงวียนและขุนนางราชสำนัก (ซึ่งราชสำนักยังแต่งตั้งเองได้ แต่ข้าหลวงใหญ่มีสิทธิไม่อนุมัติ)ฉ ในประกาศลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2441ข้าหลวงใหญ่ หรือเรซิดัง ซูเปริเยร์ แห่งอันนัมเขียนว่า "ตั้งแต่นี้ไป ในอาณาจักรแห่งอันนัมไม่มีสองรัฐบาลอีกต่อไป แต่มีเพียงรัฐบาลเดียว" (หมายความว่ารัฐบาลฝรั่งเศสเข้ายึดอำนาจบริหารทั้งหมด)
แม้แต่องค์จักรพรรดิเองก็ต้องถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลฝรั่งเศส โดยจะคัดเลือกเชื้อพระวงศ์ที่ฝรั่งเศสเห็นว่าไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อตน
แต่จนแล้วจนรอด จักรพรรดิอันนัมบางพระองค์แม้จะถูกฝรั่งเศสแต่งตั้งหมายจะใช้เป็นหุ่นเชิด แต่ก็ยังมีจิตใตที่ต้องการปลดแอกจากฝรั่ง เช่น จักรพรรดิถั่ญ ท้าย พระองค์ยังเป็นพระจักรพรรดิพระองค์แรกของเวียดนามที่ทรงตัดพระเกศาเป็นแบบฝรั่งเศส และพระองค์ยังสนับสนุนการศึกษาแบบฝรั่งเศส แต่พระองค์ก็แสดงท่าทีเป็นเอกเทศจากการครอบงำของฝรั่งเศส
บ่อยครั้งที่จักรพรรดิถั่ญ ท้ายจะหลบหนีออกจากวังเพื่อเข้าไปในเมืองโดยปลอมตัวเป็นสามัญชน แทรกซึมเข้าไปในหมู่ประชาชนเพื่อดูว่าการตัดสินใจและการดำเนินนโยบายการเมืองของพระองค์มีอิทธิพลต่อชีวิตของพสกนิกรอย่างไร บางครั้งเมื่อเสด็จฯ ไปในเมือง องค์จักรพรรดิจะพาราษฎรมาชมนุมกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีโอกาสสนทนากับผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เหมือนกับ "Town Meeting" ในสหรัฐอเมริกา หรือเหมือนกับประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส สมัยที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ประทับอยู่ใต้ต้นไม้เมื่อสิ้นสุดพิธีมิสซา และจะทรงรับฟังผู้ที่ประสงค์จะระบายความคับข้องใจ และหวังว่ากษัตริย์จะทรงมอบความยุติธรรมให้กับพวกเขาได้ จักรพรรดิถั่ญ ท้ายก็ทรงทำแบบเดียวกัน
แต่เมื่อเวลาผ่านไป จักรพรรดิก็ตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ในราชสำนักถูกสายลับแทรกซึมเข้ามา เพื่อที่จะตบตาพวกสายลับฝรั่งเศส พระองค์จึงค่อยๆ แสร้งทำเป็นสติวิปลาสจนพวกฝรั่งเศสชื่อว่าพระองค์วิกลจริตจริงๆ ทำให้พระองค์สามารถทำงานเพื่อเอกราชของเวียดนามโดยตรงมากขึ้น
จักรพรรดิถั่ญ ท้ายยังทรงแอบตั้งกองทหารหญิงอำพรางฝรั่งเศส เอกสารบางฉบับระบุว่าทรงคัดเลือกทหารหญิง 4 กอง กองละ 50 คน เมื่อกองแรกเสร็จสิ้นการฝึกแล้วกลับไปหาครอบครัวและจะเรียกกองใหม่มาฝึกแล้วเมื่อมีโอกาสพระองค์กับหองทหารหญิงจะกบฏต่อฝรั่งเศสด้วยกัน แต่ในที่สุดเรื่องนี้ถูกขุนนางในราชสำนักที่เป็นหนอนบ่อนไส้แจ้งให้ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสทราบเสียก่อน
ในขณะที่รอจังหวะที่เหมาะสมที่จะลงมือ ในปี พ.ศ. 2450 จักรพรรดิถั่ญ ท้ายได้พยายามเข้าร่วมขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสที่กบดานในจีน แต่จักรพรรดิถูกกองกำลังฝรั่งเศสขัดขวางระหว่างทาง ตอนนั้นเองที่ทรงถูกกล่าวหาว่าวิกลจริตจริงๆ (บางข้อมูลระบุว่าทรงถูกฝรั่งเศสจับได้ว่าแอบร่างภาพอาวุธ จึงทรงแสร้างทำเป็นวิกลจริตแต่ฝรั่งเศสถือโอกาสป้ายสีว่าทรงบ้าไปจริงๆ)
ข้าหลวงฝรั่งเศสกราบทูลตรงๆ ว่าเขารู้ว่าจักรพรรดิมีเจตนาต่อต้านฝรั่งเศส ดังนั้นถ้าอยากจะครองบัลลังก์ต่อไป พระองค์จะต้องลงนามในบันทึกขอโทษ โดยประกาศให้ประเทศชาติทราบว่ามีการสมคบคิดกับฝรั่งเศส แต่ถั่ญ ท้ายทรงโยนร่างประกาศลงบนพื้นเป็นการปฏิเสธ
ดังนั้น ถั่ญ ท้ายจึงทรงถูกปลดจากบัลลังก์ และทรงถูกเนรเทศไปยังเมืองหวุงเต่า ที่โคชินจีน
เจ้าชายเหงียน ฟุก หวิญ ซาน พระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิถั่ญ ท้าย ถูกฝรั่งเศสเลือกมาครองบัลลังก์อันนัมองค์ต่อไป พ.ศ. 2450 ด้วยพระชนมายุเพียง 7 พรรษา พระนามว่าจักรพรรดิซวี เติน ที่แปลว่า "การปฏิรูป"
แม้จะยังเป็นเพียงเด็กน้อยและฝรั่งเศสเชื่อว่า "หัวอ่อน" ควบคุมได้ง่าย แต่จักรพรรดิซวี เตินกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ในเวลานั้นกระแสต่อต้านฝรั่งเศสเริ่มรุนแรงขึ้นมาทุกที เมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2451 ขบวนการต่อต้านการเก็บภาษีเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 และการจับกุมแกนนำหลักของการลุกฮือ จักรพรรดิซวี เตินมีพระชนมายุเพียง 9 พรรรษา หลังจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทรงได้ประกาศต่อขุนนางในราชสำนักว่า
"[…] ถ้าบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายอยู่เนืองๆ นั่นก็เพราะประชาชนมีไม่พอกิน" และตรัสว่า "[…] ตั้งแต่วันนี้ จากเบี้ยหวัดประจำของเรา 6,000 เปียสตร์ เราจะแบ่ง 3,000 ไปแจกจ่ายให้คนจน" - นี่คือพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ที่พระชนมายุเท่ากับเด็ก 9 ขวบเท่านั้น ช่างเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก
เมื่อมหาสงคราม หรือสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในยุโรป ฝรั่งเศสกลายเป็นสมรภูมิสำคัญและพยายามใช้ทรัพยากรธรรมชาติและกำลังคนของอินโดจีนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการต่อสู้กับสงครามโลกครั้งที่ 1 พร้อมๆ กันนั้นฝรั่งเศสก็ยังทุ่มแรงปราบปรามขบวนการมวลชนผู้รักชาติของเวียดนาม
ความไม่พอใจต่อฝรั่งเศสรุนแรงขึ้นไปอีก เมื่ออาณานิคมอินโดจีน (ส่วนใหญ่เป็นเวียดนาม) ต้องจัดหาทหาร 70,000 นายและคนงาน 70,000 คนให้กับฝรั่งเศส ซึ่งถูกบังคับเกณฑ์ทหารจากหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเข้าร่วมในสมรภูมิฝรั่งเศส เวียดนามยังให้เงินกู้ 184 ล้านเปียสตร์และอาหาร 336,000 ตัน
ภาระเหล่านี้หนักหนาสาหัส โดยเพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในเวียดนามประสบภัยธรรมชาติระหว่างปี 2457 ถึง 2460 ความเจ็บแค้นเหล่านี้ควรจะบ่มเพาะเป็นการลุกฮือต่อต้านฝรั่งศสได้ไม่ยากเพราะฝรั่งเโศสกำลังวุ่นวายกับมหาสงครามที่ยุโรป แต่เพราะขบวนการชาติเวียดนามไม่มีความเป็นปึกแผ่นในระดับประเทศจะพลาดโอกาสที่จะใช้โอกาสที่ฝรั่งเศสกำลังอ่อนแอเพื่อก่อการจลาจลครั้งใหญ่
แต่จักรพรรดิซวี เตินที่เติบโตเป็นหนุ่มแล้ว ทรงมีปณิธานที่จะเป็นผู้นำประเทศของพระองค์ปลดแอกจากฝรั่งเศส และทรงไม่ได้ขับเคลื่อนอยู่แค่ข้างหลัง แต่ทรงลงมือทำจริงๆ อย่างกล้าหาญ
ฝ่ายกบฏได้วางแผนโจมตีอีกครั้งในคืนวันที่ 3 ถึง 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 จักรพรรดิซวี เตินเป็นผู้นำในการก่อกบฏนี้ แต่เนื่องจากไม่มีแผนปฏิบัติการ การลุกฮือจึงล้มเหลวเพราะมีแต่คนส่วนน้อยเข้าร่วมไม้ได้กระพือไปให้คนอันนัมส่วนใหญ่รู้สึกร่วมไปด้วยว่าจะต้องต่อต้านฝรั่งเศส
ความล้มเหลวของการลุกฮือนี้มีราคาแพงมาก ซวี เตินทรงถูกจับกุม ขับจากราชบัลลังก์ วันที่ 3 พฤศจิกายน อดีตจักรพรรดิซวี เตินที่หวนไปใช้พระอิสริยยศเดิมคือ "เจ้าชายเหงียน ฟุก หวิญ ซาน" กับพระชายา พระชนนี พระภคนี และข้าบริพาร ถูเนรเทศไปยังเกาะเรอูนียงกลางมหาสมุทรอินเดีย เป็นเวลา 23 ปีที่จักรพรรดิผู้ไร้บัลลังก์ต้องดำรงพระชนม์ชีพอย่างโดดเดี่ยวห่างไกลจากแผ่นดินเกิดของพระองค์ มีเพียงงานอดิเรกที่ช่วยผ่อนคลายความเหงาคือความหลงใหลในวิทยุ พระองค์จึงกลายเป็นนักวิทยุสมัครเล่นคนแรกของเกาะ
แต่อดีตพระจักรพรรดิยังทรงสนับสนุนการปลดปล่อยเวียดนามในระหว่างทรงถูกเนรเทศ แม้จะทรงถูกฝรั่งเศสเนรเทศ แต่ก็ยังทรงเข้าร่วมกับฝรั่งเศสต่อต้านการรุกรานของนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงได้รับอนุญาตให้ไปฝรั่งเศส โดยเสด็จมาถึงปารีสในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2488 และเข้าร่วมสงครามในเยอรมนีในช่วงปลายสงครามโดยติดยศผู้บัญชาการกองพัน
ตอนนั้นเองนายพลชาร์ลส์ เดอโกล ผู้นำฝรั่งเศสฝ่ายต่อต้านนาซีเริ่มสนใจเจ้าชายเหงียน ฟุก หวิญ ซานในฐานะปัจจัยที่อาจจะช่วยรักษาความเป็นปึกแผ่นของอินโดนีจีนเอาไว้ ท่ามกลางกระแสต่อต้านฝรั่งเศสในเวียดนามที่หนักขึ้นและฝรั่งเศสที่อ่อนแอลงไปมากเพราะการรุกรานของญี่ปุ่นในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เจ้าชายเหงียน ฟุก หวิญ ซาน มีแถลงทางการเมืองครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกเนรเทศทางวิทยุอันตานานาริโว (ที่มาดาดัสการ์) ตรัสพูดถึงประชาชนของพระองค์ให้ต่อต้านผู้รุกรานชาวญี่ปุ่น โดยระบุว่าอนาคตของประเทศของพระองค์จะมีขึ้นมาได้ก็ต้องผ่านความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือกับฝรั่งเศสเท่านั้น
เดอโกลได้พบกับเจ้าชาย เจ้าชายเหงียน ฟุก หวิญ ซานเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งการพบปะกันนี้อาจกำหนดเงื่อนไขกับอดีตจักรพรรดิเพื่ออัญเชิญพระองค์คืนสู่บัลลังก์อันนัมและอาจประกาศเอกราชให้กับโคชินจีนหลังจากการลงประชามติเพื่อแลกกับทการที่ฝรั่งเศสจะมีสิทธิพิเศษต่อไป
อย่างไรก็ตาม พระองค์กลับเสด็จสวรรคตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จเดินทางกลับเวียดนามในปี พ.ศ. 2488 ทำให้แผนการนี้ไม่สำเร็จ และเชื่อกันว่าหากอดีตจักรพรรดิซวี เตินไม่สวรรคต อนาคตของเวียดนามก็คงจะไม่ต้องเกิดสงครามกลางเมืองมีผู้คนล้มตายไปนับไม่ถ้วน และไม่แน่ว่าเวียดนามก็ยังอาจรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ได้
ขณะที่ พระราชบิดาที่ประสบกับชะตากรรมเดียวกันคือ อดีตจักรพรรดิถั่ญ ท้าย ก็ไม่เคยละทิ้งความหวังที่จะปลดแอกแผ่นดินของพระองค์ให้เป็นเอกราช แม้ว่าเมื่อพระราชโอกรสคือซวี เตินจะก่อการปลดแอกล้มเหลวและทั้งพระราชบิดาและพระราชโอกาสจะถูกเนรเทศไปยังเกาะเรอูนียงด้วยกันก็ตาม
ชีวิตของถั่ญ ท้ายที่เกาะเรอูนียงนับว่าย่ำแย่มาก ทรงขัดสนจนกระทั่งถูกเจ้าหนี้และเจ้าที่ดินทวงเงินอยู่บ่อยๆ ต้องรับความช่วยเหลือจากจักรพรรดิองค์ใหม่ของอันนัมเป็นระยะๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2488 อดีตจักรพรรดิได้รับอนุญาตให้กลับไปเวียดนาม แต่ก็ทรงถูกควบคุมตัวครั้งแรกให้ประทับที่เมืองหวุงเตา เมืองตากอากาศของไซ่ง่อน กระทั่งสวรรคตที่ไซ่ง่อนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2497 พระชนมายุ 75 ปี
สิ้นสุดตำนานสองพ่อลูกจักรพรรดิที่ฝรั่งเศสคิดจะชักใย แต่กลายเป็นนักสู้เพื่อเอกราชจนต้องพบกับชะตากรรมที่น่าเศร้า
โดย กรกิจ ดิษฐาน