การใช้ประโยชน์ความตกลงและกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ในประชาคมอาเซียน
โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th
ในปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งระดับภูมิภาคหรือระดับระหว่างประเทศอันรวมไปถึงกฎเกณฑ์ที่บัญญัติ โดยองค์กรหรือหน่วยงานเฉพาะ เช่น องค์กรศุลกากรโลก หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย เป็นต้น
โดยในส่วนขององค์การการค้าโลกก็มีกฎเกณฑ์เฉพาะ คือ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า(TFA) อันเป็นที่มาของกรอบการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน (ATFF)
ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ประเทศ ต่างๆ ต้องมีการปรับปรุงนโยบายและกฎเกณฑ์สำคัญให้สอดคล้องกับหลักการที่ความตกลงระหว่างประเทศที่ได้มีการกำหนดขึ้นใหม่
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งบ่งชี้ได้จากการที่ประเด็นดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นประเด็นสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์และมีการกำหนดนโยบายด้านนี้อย่างชัดเจน ซึ่งแต่ละประเทศอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายของตนให้มีความสอดคล้องทันสมัย และเป็นไปตามหลักการเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น
จะเห็นได้จากการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายศุลกากรที่นำหลักการในสนธิสัญญาเกียวโตมาใช้หรือการออกกฎเกณฑ์เพื่อมารับรองเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน เป็นต้น
แต่กฎหมายบางเรื่องยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขของการใช้กฎหมายนั้นเพื่อนำมาใช้ในทางปฏิบัติ แม้จะมีกฎหมายรับรองแต่ก็ไม่มีการบังคับใช้จริง
ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีการปรับปรุงกระบวนการร่างกฎหมายให้เกิดความโปร่งใสด้วยการเพิ่มขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อร่างกฎหมาย โดยการกำหนดให้มีการทำประชาพิจารณ์เป็นไปตามหลักการสากลที่ดี ประกอบกับมีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่กฎหมายหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเป็นไปตามกรอบความตกลงของอาเซียน
แต่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ ภาครัฐ หรือผู้ประกอบการยังคงขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกหรือมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า
ข้อเสนอแนะของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) เพื่อการพัฒนาการใช้ประโยชน์ความตกลงของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นที่หนึ่ง : ประเด็นด้านการใช้ประโยชน์ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนแผนการดำเนินงานอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน
สำหรับประเทศไทย ควรมีความชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันข้อมูลหน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะถูกนำมาบรรจุในฐานข้อมูลของศุลกากรเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐได้ทุกหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ภาครัฐควรพัฒนาให้เกิดการใช้แบบฟอร์มเดียวกันให้สามารถใช้ได้กับทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและให้หน่วยงานต่าง ๆ ส่งเอกสารรับรองที่เกี่ยวข้องกลับมาที่กรมศุลกากร และให้กรมศุลกากรสามารถอนุมัติใบขนสินค้าให้โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางไปติดต่อกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ถือเป็นการช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินธุรกรรมของผู้ประกอบการ
ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งรัดให้เกิดการจัดระบบศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวอย่างเต็มรูปแบบ และการใช้แบบฟอร์มเดียวกันอย่างจริงจัง
ประเด็นที่สอง : การอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและบูรณาการด้านการขนส่งในอาเซียนการจัดตั้งคณะกรรมการชายแดนระหว่างประเทศในอาเซียนที่มีพรมแดนติดกัน ซึ่งทุกประเทศมีคณะทำงานเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในส่วนของ Cross-Border TransportFacilitation Agreement (CBTA) ควรครอบคลุมถึงทุกด่านศุลกากรในกลุ่มประเทศ GMS ไม่ใช่เฉพาะเพียงบางด่านศุลกากรเท่านั้น
ประเด็นที่สาม : กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าซึ่งเป็นหลักเกณฑ์จำกัดสิทธิประโยชน์ตามความตกลงการเปิดเสรีทางการค้าไว้ให้เฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิกที่อยู่ในความตกลง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของไทย
โดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็กทราบและเข้าใจสิทธิประโยชน์ตามความตกลงการค้า และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองให้เพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่สี่ : การระงับข้อพิพาท โดยมุ่งเน้นการศึกษาการประเมินปัญหาต่าง ๆ ทางการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้น รวมถึงเสนอกลไกการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเอกชน และเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างนวัตกรรมและความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลง การยึดหลักธรรมาภิบาลการส่งเสริมให้มีกฎระเบียบและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพในระดับภูมิภาคเพื่อการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐนั้น
อาเซียนได้มีการวางกฎเกณฑ์ในเรื่องของการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจอย่างสันติวิธีไว้เป็นลายลักษณ์อักษรสอดรับกับกฎบัตรของสหประชาชาติโดยอ้างอิงจากหลักการระงับข้อพิพาทตามกรอบขององค์การการค้าโลก แต่ยังไม่ปรากฏการปรับใช้จริงให้เห็นเป็นรูปธรรมในส่วนการระงับข้อพิพาทของเอกชน การระงับข้อพิพาทจึงขึ้นอยู่กับระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภายในของแต่ละประเทศ
ประเด็นที่ห้า : การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าของโลกโดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคการผลิตของภูมิภาคในการบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าของโลก การพัฒนาตราสินค้าระดับ ภูมิภาคการจัดกิจกรรมส่งเสริมในพื้นที่ต่าง ๆ และการวางกลยุทธ์ทางการตลาดร่วมกัน
ทั้งนี้ ข้อริเริ่มด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าซึ่งเน้นทั้งในด้านการนำเข้าและส่งออกการลดผลกระทบจาก ข้อจำกัดทางการค้าและต้นทุนที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษีและการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศ