posttoday

เรียนไปก็ไร้ประโยชน์? ผลวิจัยชี้คนฐานะดีประสบความสำเร็จมากกว่า

09 พฤศจิกายน 2564

การตั้งใจเรียนในโรงเรียนไม่ใช่ปัจจัยการันตีความสำเร็จในชีวิตอีกต่อไป

หลายคนมีความเชื่อว่าหากตั้งใจเรียนในโรงเรียนเราจะสามารถหางานดีๆ มีเงินเดือนเยอะๆ และในที่สุดเราจะประสบความสำเร็จ แต่ในยุคนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว

สำนักข่าว VICE รายงานว่า การวิจัยเรื่อง Social Class Mobility in Modern Britain: Changing Structure, Constant Process (การขยับสถานะของชนชั้นทางสังคมในอังกฤษยุคใหม่: โครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง กระบวนการที่ไม่เปลี่ยนแปลง) ของจอห์น โกลด์ธอร์ป (John Goldthorpe) นักสังคมวิทยาชื่อดังจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพบว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในอังกฤษแทบไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด กล่าวคือ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 หรือเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตล้วนเป็นคนที่มาจากครอบครัวร่ำรวยทั้งสิ้น

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ความร่ำรวยเป็นปัจจัยการันตีความสำเร็จอย่างดี

“หลายศตวรรษที่ผ่านมา นโยบายด้านการศึกษามองข้ามไปโดยสิ้นเชิงว่าคนรุ่นใหม่ทั้งชายและหญิงยากที่จะประสบความสำเร็จเท่ากับคนรุ่นพ่อแม่หรือรุ่นปู่ย่าตายายแม้ว่าจะเรียนเก่งกว่าก็ตาม” โกลด์ธอร์ปเผยกับ VICE Impact “คือพวกเขามีโอกาสน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จจนขยับสถานะทางสังคมขึ้นไปได้”

การวิจัยของโกลด์ธอร์ปแสดงให้เห็นว่า การลงทุนกับการศึกษาในระดับชาติมีผลน้อยมากกับการขยับสถานะทางสังคม เนื่องจากครอบครัวที่ร่ำรวยจะใช้ทุนทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมเพื่อให้แน่ใจว่าลูกๆ ของพวกเขานำหน้าคนอื่นๆ

โกลด์ธอร์ฟมองว่า ปัจจัยเดียวที่จะทำให้คนคนหนึ่งขยับสถานะทางสังคม ไม่ได้ชึ้นอยู่กับว่าพวกเขาทุ่มเทความพยายามในการศึกษาเล่าเรียนเท่าใด แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ปกครองทุ่มเทเงินทองให้มากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ด้าน แวนดา ไวปอร์สกา คณะกรรมการบริหาร The Equality Trust องค์กรที่รณรงค์ด้านความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ เผยกับ VICE Impact ว่า “การศึกษาก็สำคัญ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ทุกๆ คนมีโอกาสเท่าๆ กันอย่างเห็นได้ชัด หรือที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนจากพื้นเพที่ยากจน”

“ในหลายๆ อาชีพ คนที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเอกชนได้รับเงินเดือนสูงกว่าคนที่จบจากสถาบันของรัฐ แม้ว่าพวกเขาจะได้รับวุฒิการศึกษาระดับเดียวกันจากมหาวิทยาลัยเดียวกันก็ตาม ทั้งยังมีช่องว่างของรายได้ที่แตกต่างกันมากเพราะชนชั้นในอาชีพชั้นนำในอังกฤษ” ไวปอร์สกากล่าว

ยกตัวอย่าง แม้ว่าจะมีนักเรียนในอังกฤษในระดับหัวกะทิมากกว่าในรุ่นก่อน แต่ที่ว่างในมหาวิทยาลัยชั้นนำยังมำอยู่จำกัดเหมือนเดิม หนำซ้ำยังถูกสงวนไว้สำหรับเด็กนักเรียนจากครอบครัวร่ำรวยที่จบมาจากโรงเรียนเอกชนเท่านั้นเพราะค่าเล่าเรียนค่อนข้างสูง 

นอกจากนี้ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในอังกฤษทำให้มีนักศึกษาจบใหม่มากกว่าตำแหน่งงานว่าง ทำให้ไม่สามารถขจัดความไม่เท่าเทียมและปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายควรดำเนินการเพื่อลงทุนในด้านความเท่าเทียมกันของการครองชีพ สภาพสังคม และเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา

การวิจัยของโกลด์ธอร์ปปิดท้ายด้วยการเตือนถึงวิธีกาควบคุมกับดักการขยับสถานะทางสังคมไว้ว่า ‘ผู้กำหนดนโยบายที่มุ่งมั่นในแนวคิดเรื่อง "โอกาสที่มากขึ้นสำหรับทุกคน" อาจทำได้ดีหากมุ่งเน้นความพยายามในการลดความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม และสร้างตำแหน่งงานว่างสำหรับบุคลากรที่มีทักษะการจัดการระดับสูงและเป็นมืออาชีพ แล้วปล่อยให้การขยับสถานะทางสังคมดูแลตัวมันเอง’

REUTERS/Hannah McKay