เขตปลอดภาษี (Free Zone) สุวรรณภูมิ
คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน
เมื่อวันอังคารที่ 14 ธันวาคม ผมได้พาคณะกรรมการและสมาชิกของสภาธุรกิจไทย-เมียนมา พร้อมทั้งท่านฑูตพานิชย์ประเทศเมียนมาประจำประเทศไทย ท่าน Lwin Myo Zaw ทั้งหมดร่วมยี่สิบท่าน เข้าไปเยี่ยมชมเขตปลอดภาษีหรือ Free Zone ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยความเอื้อเฟื้อประสานงานจากคุณวัลภา สถิรชวาล แห่งบริษัท อีเกิ้ลส์ โลจีสติกส์ จำกัด
โดยได้รับการต้อนรับจากคุณคทา วีณิน รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารการขนส่งสินค้าทางอากาศ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในวันนั้นทางคณะฯได้รับฟังคำบรรยายถึงการดำเนินการของเขตปลอดภาษีสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งได้พาเข้าไปเยี่ยมชมการดำเนินการภายในเขตดังกล่าวอย่างละเอียดทุกขั้นตอนเลยครับ
เขตปลอดภาษีของประเทศไทยเราได้ดำเนินการมาช้านาน ด้วยวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการค้าและการลงทุน อีกทั้งอำนวยความสะดวกในการจัดการขนส่งสินค้าผ่านแดนให้แก่ประเทศคู่ค้าต่างๆ ซึ่งลักษณะของการดำเนินการนั้น สามารถดำเนินการได้หลากหลายวิธี เรียกว่าไม่แพ้ชาติเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่ผมเคยไปดูงานมาเลยครับ
เริ่มตั้งแต่การส่งสินค้าผ่านแดนแบบธรรมดาทั่วไป จนกระทั้งใช้เป็นสถานที่ผลิตสินค้า คัดแยกสินค้า บรรจุสินค้าใหม่ จนกระทั้งเป็นโกดังจัดเก็บสินค้า เพื่อส่งต่อผ่านแดนไปยังประเทศอื่นๆ และยังสามารถเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้า
โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีก่อนแล้วขอคืนภายหลัง ที่เป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างจะยุ่งยากในการบริหารทั้งเวลาและเงิน แต่ที่เขตปลอดภาษีหรือ Free Zone สามารถลดภาระต่างๆเหล่านั้นให้แก่ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ประกอบการไทย หรือผู้ประกอบการต่างชาติ ที่มาใช้บริการได้ทั้งหมดเลย
ดังนั้นหากมีการใช้ประโยชน์ของเขตปลอดภาษีนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราจะสามมารถสร้างมูลค่าของการเป็นฮับหรือเป็นแขนของการตลาด ( Marketing Arm) ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างดีทีเดียวครับ
ลองย้อนกลับไปมองประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่เราก็ทราบๆกันว่า ประเทศเขามีพื้นที่น้อยนิด ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆในการส่งเสริมการผลิตภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ แต่ประเทศสิงคโปร์ก็สามารถสร้างและพัฒนาประเทศได้อย่างก้าวหน้า ในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปี
สิ่งที่เขาทำก็คือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่ไปกับความพยายามจัดตั้งสถานะของประเทศสิงคโปร์ ให้เป็นมือเป็นไม้ในการทำการตลาดให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน
จนมาถึงวันนี้สิงคโปร์จึงได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นี่คือตัวอย่างที่ดีมากๆสำหรับประเทศไทย เนื่องจากหากประเทศไทยเราจะเปรียบเทียบกันระหว่าเรากับเขา ผมเชื่อว่าเรามีจุดดีจุดเด่นที่มากกว่าเขาหลายขุมเลยทีเดียว อีกทั้งเรายังได้รับการส่งเสริมจากทางภาครัฐอีกมากมาย เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้รับรู้กันมากนัก
ดังนั้นหากเราสามารถใช้สิ่งที่เรามีอยู่แล้วนำมาปรับปรุงและใช้งานให้เต็มกำลังที่สามารถจะใช้ได้ ก็ไม่ยากที่เราจะเดินหน้าไปในตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ให้ถึงเส้นชัยได้
ในส่วนของคู่ค้าที่ทางประเทศสิงคโปร์ใช้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทางด้านของอุปทาน (Supply) เขามุ่งเน้นไปที่ประเทศมาเลเชียและอินโดเนเชียเป็นหลัก
ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งวัตถุดิบในการผลิต เขามีมากมายมหาศาลก็จริงอยู่ แต่หากคู่ค้าด้านอุปทานของประเทศไทยเรา ก็เป็นประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน เช่น ประเทศเมียนมา ประเทศกัมพูชา ประเทศสปป.ลาว และบ้างส่วนในจีนตอนใต้ ที่เขาต้องหาทางออกสู่ทะเลเพื่อไปยังตลาดโลก ด้วยการร่นระยะทางการเดินเรือ ไทยจะมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบการผลิต ไม่ได้แพ้เขาเลยทีเดียวครับ
ดังนั้นหากเรารู้จักใช้เครื่องมือการตลาดที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราจะทำสำเร็จได้ไม่ยากครับ
ในส่วนของประเทศเมียนมา วันนี้เขากำลังอยู่ในช่วงที่จะต้องดิ้นรน เพื่อหาทางพัฒนาประเทศอยู่ เพราะเหตุจาก COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เขาไม่สามารถที่จะดำเนินการใดๆได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการค้า-การลงทุน หรือแม้กระทั้งการบริโภคภายในประเทศ การนำเข้า-ส่งออก ล้วนแล้วแต่มีปัญหาทั้งสิ้น
แต่ถ้าหากเรายื่นมือเข้าไปช่วยเขาในวันที่เขากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ นอกจากจะได้ใจเขาไปแบบเต็มๆแล้ว หากเขาใช้เราเป็นมือการตลาดให้เขา นานวันเข้าพอความคุ้นชินบังเกิด ในอนาคตข้างหน้า เขาก็จะต้องใช้เราตลอดไป เหมือนกับที่สิงคโปร์ทำให้กับมาเลเชียและอินโดนีเชียนั่นแหละครับ
สิ่งที่จะทำให้เกิดได้ ก็ด้วยการอาศัยเขตปลอดภาษี Free Zone นี่แหละครับ เนื่องจากสถานการณ์ในวันนี้ ประเทศเมียนมาไม่สามารถดำเนินธุรกรรมทางการส่งออกได้ อีกทั้งได้ปิดประเทศมาเกือบสองปีแล้ว รายได้หลักที่เคยได้จากการจัดงานประมูลหยกและจิวเวลรี่ ที่เคยทำได้ปีละสองหน แต่ละหนก็มีรายได้สามารถพอที่จะหล่อเลี้ยงประชาชนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ได้สูญหายไปเลย
หากเราสามารถจัดการเรื่องนี้ให้เขาได้ ผมเชื่อว่าผลที่จะตามมาอีกในอนาคต จะมีอีกมากมายเลยครับ เราไม่ได้เสียอะไรไปเปล่าเลย เพียงแค่เอื้อเฟื้อสถานที่จัดงานแฟร์ในเขตปลอดภาษี แล้วช่วยกันขายหยกขายจิวเวลรี่ที่มีมูลค่ามหาศาล
ซึ่งจะนำมาซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยเรา เท่านี้ก็เข้าเส้นชัยแล้วครับ