posttoday

บทเรียน Proxy War

19 มีนาคม 2565

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

ช่วงนี้ความร้อนแรงของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ ในสายตาของผมเอง คิดว่ายังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆเลย ซึ่งสงครามครั้งนี้ไม่เหมือนเมื่อยุคปีพ.ศ.2522 ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดสงครามสั่งสอนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทางชายแดนภาคเหนือของเวียดนาม ที่มีพรมแดนติดกับจีนเพื่อตอบโต้การบุกและยึดครองประเทศกัมพูชาของเวียดนาม 

ที่ในความเป็นจริงทั้งสามประเทศนี้มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ด้วยกันทั้งหมด สงครามครั้งนั้นใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือนก็ยุติลง ทำให้สร้างความเสียหายให้กับประเทศเวียดนามและจีนเป็นอย่างมาก 

ในขณะที่จีนเอง ก็คล้ายๆกับว่าจะเป็นการส่งสัญญานเตือนไปยังพี่เบิ้ม ในระบอบคอมมิวนิสต์ว่า “อย่าได้ยุ่งกับฉันนะ ฉันเอาจริงๆด้วย” ในขณะที่ครั้งนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนสาเหตุที่ทำให้เกิดสงคราม คงไม่ต้องอธิบายกันแล้วนะครับ เพราะสื่อต่างๆก็ออกมารายงานกันหมดแล้ว

สิ่งที่น่าจับตามองของผม คือสงครามครั้งนี้ หากเราจะมองจากบทเรียนที่ทำให้เกิดสงครามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการบุกอิหราน หรือสงครามการเข้าไปจัดการกับซัดดัมในอิรัก หรือแม้แต่สงครามในซีเรีย สิ่งหนึ่งที่ต้องเจาะลึกให้เข้าใจคือ ทุกครั้งจะเกิด Proxy War หรือสงครามตัวแทนเกิดขึ้นตามมา 

ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านๆ ก็คือสงครามที่ลุกลามใหญ่โต ก็เพราะความที่เข้าไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านนั่นแหละครับ เลยถูกดึงเข้ามาสู่สมรภูมิของสงครามนั่นเองครับ 

โดยครั้งนี้ตัวอย่างของประเทศที่เห็นได้ชัด คือประเทศโปแลนด์ ประเทศญี่ปุ่นหรืออีกหลายๆประเทศ ที่อยู่ดีไม่ว่าดี ไปสนับสนุนคู่กรณีจนออกนอกหน้ากัน ทำให้เดี๋ยวก็ได้มีการถูกดึงเข้าไปสู่วังวนเข้าให้ คงจะวุ่นวายน่าดูเลยครับ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมขออนุญาตยกตัวอย่างให้ดู คือสมัยที่ผมเรียนหนังสืออยู่ที่ไต้หวัน มีอยู่วันหนึ่ง ผมกับเพื่อนชื่อเล่นว่า “ญา”ไปนั่งทานข้าวกันที่หลังโรงเรียนเทคนิคไทเป ปรากฎว่าหน้าร้านมีการทะเลาะกันของวัยรุ่น เขากำลังชกกันอย่างชุลมุนอยู่ 

เจ้าญาเกิดนึกสนุกจึงออกไปดูเขาชกกัน ดูไม่ดูเปล่า มีการหัวเราะแล้วพูดเป็นภาษาจีนว่า “ดูมันสิ ชกก็ชกไม่เป็น” แค่นั้นแหละ คู่กรณีทั้งสองหันมามองหน้าเจ้าญา แล้วร่วมกันหันมาชกเจ้าญาคนเดียว จนพวกเราต้องวิ่งหนีกันแทบไม่ทันเลยครับ  

ผมมักจะพูดถึงการเป็นวางตัวกลางของเหตุการณ์ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กระดับตัวเราเองหรือเรื่องใหญ่ระดับชาติ หากเราจะวางตัวเป็นกลาง เราไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด คนของแต่ละฝ่ายที่มาพบเรา เราก็สามารถต้อนรับเขาได้อย่างปกติ แต่เวลาที่สนทนากัน เมื่อกล่าวถึงฝ่ายตรงกันข้าม เราก็อย่าไปเออออห่อหมกไปกับเขามาก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าได้แสดงออกว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นอันขาด เพราะนั่นจะทำให้เกิดปัญหาตามหลังได้ครับ บางครั้งเราแค่พยักหน้า เขาก็อาจจะคิดไปไกลกว่าที่เราคิดเยอะ 

แล้วผลที่ตามมา อาจจะดึงเราเข้าสู่วงจรของความขัดแย้งได้นะครับ จงฟังอย่างเดียว ไม่ต้องแสดงความคิดเห็นเป็นอันขาดครับ อันตรายจะเข้ามาสู่เราโดยคาดไม่ถึงครับ 

ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาเอง ก็ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะเท่าที่ผมทราบมาจากข่าววงใน ทั้งสามสี่ฝ่ายที่ผมมีเพื่อนอยู่ ก็ทราบมาว่าหลายๆช่องทางหลายฝ่ายได้มีการหลบหนีภัยสงครามภายในของประเทศเมียนมา เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่แต่ละฝ่ายต้องพยายามจะหาพวก 

อีกทั้งแรงสนับสนุน ยังมีการจัดประชุมกันอย่างลับๆต่อเนื่องเรื่อยมา เราเองต้องระมัดระวัง อย่าได้ไปให้การสนับสนุนเป็นอันขาด เขาจะทำอย่างไรก็ต้องปล่อยเขา เพราะหากเข้าไปมีปฎิสัมพันธ์ด้วย อันตรายที่จะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน หรือทำให้เกิด Proxy War ขึ้นมา แล้วเราก็จะตกอยู่ในวังวนทันทีนะครับ 

ผมเชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลของไทยเรานั้น มีความระมัดระวังกันอย่างดีอยู่แล้ว เพียงแต่ฝ่ายเอกชนอย่างเรา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ล้วนมีส่วนในการช่วยกันทั้งสิ้น อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆนะครับ 

เพราะบางครั้งฝ่ายเอกชนจะมีทั้งฝ่ายสนุบสนุนหรือฝ่ายค้านรัฐบาล ถ้าจะเอาแค่เพียงสะใจ หรือคิดแค่คัดค้านรัฐบาลเท่านั้น ก็ต้องช่วยกันคิดใหม่ได้ เพราะหากเกิดมีปัญหาจริงๆ 

คนที่จะตกอยู่ในสถานะที่ลำบาก ก็จะเป็นประชาชนตาดำๆเท่านั้นครับ