เปิดสถิติผลิตแร่ลิเธียมช่วงระยะเวลา 25 ปี
เปิดสถิติอัตราการผลิตแร่ลิเธียมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ประเทศใดมีกำลังการผลิตสูงสุด ลิเธียมถูกใช้งานรูปแบบใดบ้างนอกจากการผลิตแบตเตอรี่ และแนมโน้มตลาดลิเธียมในอนาคต
ลิเธียมถือเป็นโลหะที่ถูกขนานนามเป็น ทองคำขาว แห่งรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าและมีน้ำหนักเบาของ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งกลายเป็นหัวใจหลักของยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ความต้องการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าของนานาชาติ ทำให้ความต้องการลิเธียมในตลาดพุ่งทะลุฟ้า
นำมาสู่ตัวเลขสถิติของอัตราการผลิตแร่ลิเธียมจากปี 1995 – 2021 โดยข้อมูลจาก Statistical Review of World Energy
อันดับประเทศที่มีอัตราการผลิตแร่ลิเธียมสูงสุดในปี 2021
1.ออสเตรเลีย กำลังการผลิต 55.416 ตัน คิดเป็น 52% ของโลก
2.ชิลี กำลังการผลิต 26,000 ตัน คิดเป็น 25% ของโลก
3.จีน กำลังการผลิต 14,000 ตัน คิดเป็น 13% ของโลก
4.อาร์เจนตินา กำลังการผลิต 5,967 ตัน คิดเป็น 6% ของโลก
5.บราซิล กำลังการผลิต 1,500 ตัน คิดเป็น 1% ของโลก
6.ซิมบับเว กำลังการผลิต 1,200 ตัน คิดเป็น 1% ของโลก
7. โปรตุเกส กำลังการผลิต 900 ตัน คิดเป็น 1% ของโลก
8. สหรัฐฯ กำลังการผลิต 900 ตัน คิดเป็น 1% ของโลก
9. อื่นๆ กำลังการผลิต 102 ตัน คิดเป็น 0.1% ของโลก
รวมเป็น 105,984 ตัน
อัตราการผลิตแร่ลิเธียมในปัจจุบัน
ในอดีตช่วงทศวรรษ 1990 สหรัฐฯถือเป็นผู้ผลิตลิเธียมรายใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นกำลังการผลิตกว่า 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตลิเธียมทั่วโลกในปี 1995 แต่เมื่อเวลาผ่านไปกำลังการผลิตจากประเทศอื่นเริ่มมีการขึ้น โดยในปี 2010 ชิลีก้าวเข้ามาเป็นผลิตรายใหญ่ที่สุดในตลาด ด้วยเหมืองแร่ลิเธียมขนาดใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก
ปัจจุบันอัตราการผลิตแร่ลิเธียมพุ่งไปเกินกว่า 100,000 ตันเป็นครั้งแรกในปี 2021 มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราการผลิตในปี 2010 อัตราการผลิตของแร่ลิเธียมในปัจจุบันกว่า 90% เกิดขึ้นจากกำลังการผลิตของ 3 ประเทศ โดยออสเตรเลียประเทศเดียวครองส่วนแบ่งการตลาดไปกว่า 52%
จีนถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสามที่มีรากฐานการผลิตและตลาดในประเทศที่แข็งแรง นอกจากการผลิตแร่ลิเธียมจากเหมืองในประเทศแล้ว บริษัทจีนยังเข้าไปร่วมลงทุนการผลิตลิเธียมเป็นมูลค่ากว่า 5.6 พันล้านดอลลาร์ในประเทศต่างๆ เช่น ชิลี แคนาดา และออสเตรเลีย อีกทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการใช้ลิเธียมในการผลิตแบตเตอรี่กว่า 60% ของโลก
การใช้งานแร่ลิเธียมในปัจจุบัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายตัวและความต้องการแร่ลิเธียมในตลาดเพิ่มสูงขึ้นจากอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยปัจจุบันลิเธียมกว่า 74% ถูกใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ แต่ยังมีการใช้งานลิเธียมในอุตสาหกรรมอื่นเช่นกัน อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติอัตราการการใช้งานแร่ลิเธียมในปี 2010 นับว่าแตกต่างจากปัจจุบันไปโดยสิ้นเชิง
ในปี 2010 อัตราการส่วนการใช้งานแร่ลิเธียมสูงสุดอยู่ที่ อุตสาหกรรมแก้วและเซรามิก ครองสัดส่วนการตลาดไปกว่า 31% ด้วยคุณสมบัติของลิเธียมคาร์บอเนตช่วยเพิ่มความแข็งแรงและทนทานต่อความร้อนของเซรามิก จึงได้รับความนิยมอย่างสูงในงานเซรามิกสมัยใหม่
นอกจากนี้ลิเธียมยังถูกนำไปใช้ในการผลิตสารหล่อลื่นหลายประเภท เช่น จารบี ที่ถูกใช้งานในอุตสาหกรรมขนส่งโลหะ สายการบิน และงานด้านอุตสาหกรรมหนักรูปแบบต่างๆ อีกด้วย
อนาคตของการผลิตลิเธียม
ด้วยกระแสความนิยมใน EV หรือยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการแร่ลิเธียมในตลาดจึงยิ่งทวีคูณ เปรียบเทียบกับกำลังการผลิตในปี 2021 ที่ 540,000 ตัน คาดว่ากำลังการผลิตลิเธียมจะพุ่งไปถึง 1.5 ล้านตัน ในปี 2025 เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปัจจุบัน และจะขยายตัวมากกว่า 3 ล้านตันในปี 2030 เพิ่มมากขึ้นกว่า 6 เท่าเลยทีเดียว
แม้แนวโน้มความต้องการของแร่ลิเธียมในตลาดจะเติบโตแบบทวีคูณ แต่โครงการเหมืองลิเธียมจำเป็นต้องใช้เวลาราว 6 – 15 ปี กว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตออกสู่ตลาดโลก จึงเป็นไปได้สูงว่าเมื่อหากความต้องการของยานยนต์ไฟฟ้ายังขยายตัว ลิเธียมอาจเป็นสินค้าขาดดุลและขาดแคลนได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ที่มา
https://www.visualcapitalist.com/visualizing-25-years-of-lithium-production-by-country/