posttoday

เมื่อสาหร่ายและกากโกโก้ช่วยลดก๊าซมีเทนจากวัว

07 มกราคม 2568

ที่ผ่านมาเราอาจได้ยินว่า วัว หรือปศุสัตว์ในระบบเป็นอีกหนึ่งต้นตอภาวะโลกร้อน แต่จะเป็นอย่างไรหากเราสามารถลดการปล่อยมีเทนได้ด้วย สาหร่าย และ กากโกโก้

มีเทน จัดเป็นก๊าซเรือนกระจกอีกชนิดที่มีคุณสมบัติในการดักจับความร้อนสูง สามารถเก็บกักความร้อนภายในชั้นบรรยากาศมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ราว 25 – 30 เท่า นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและทำให้เราจำเป็นต้องหาทางจัดการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในภาคปศุสัตว์ที่มีสัดส่วนการปล่อยมีเทนมากที่สุด

 

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นแนวคิดในการลดการปล่อยมีเทนจากปศุสัตว์ด้วยสาหร่ายและกากโกโก้

 

เมื่อสาหร่ายและกากโกโก้ช่วยลดก๊าซมีเทนจากวัว

 

สาหร่ายชนิดใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยมีเทน 40%

 

ผลงานนี้เป็นของนักวิจัยจาก University of California กับการค้นพบว่า สาหร่าย อาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมาจากปศุสัตว์ โดยการผสมสาหร่ายเข้าไปในอาหารที่ป้อนให้วัวเนื้อในแต่ละมื้อ ช่วยลดอัตราการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศได้มากกว่า 40%

 

แนวคิดนี้มาจากคุณสมบัติของสาหร่ายสีแดง Asparagopsis taxiformis ที่มีสาร Bromoform เข้าไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ในจุลินทรีย์ Methanogens ในกระเพาะวัว ตัวการสำคัญในการผลิตก๊าซมีเทน ทำให้เมื่อวัวได้รับประทานพืชประเภทสาหร่ายเข้าไปแล้วจะมีอัตราการปล่อยมีเทนลดลง

 

เมื่อทำการป้อนสาหร่ายชนิดนี้ร่วมกับอาหารให้แก่ปศุสัตว์ในปริมาณ 0.2 – 2% ของน้ำหนักตัว พบว่า วัวเนื้อและวัวนมมีอัตราการปล่อยก๊าซมีเทนลดลงจากเดิมกว่า 80% อีกทั้งการเติมสาหร่ายปะปนลงไปในอาหาร ยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและผลผลิตอีกด้วย

 

ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้ทำการทดสอบโดยการเติมสาหร่ายลงไปในอาหารวัวรูปแบบเม็ด เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนและความหายากของสาหร่ายชนิดนี้ตามท้องตลาด ผลปรากฏว่าวัวที่ได้รับอาหารดังกล่าว สามารถลดอัตราการปล่อยก๊าซมีเทนลงจากเดิม 40% โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพ

 

นี่จึงถือเป็นหนึ่งตัวเลือกสำหรับลดการปล่อยมีเทนภายในปศุสัตว์ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมาก

 

เมื่อสาหร่ายและกากโกโก้ช่วยลดก๊าซมีเทนจากวัว

 

กากโกโก้กับการลดมีเทนภายในวัว

 

ผลงานนี้เป็นของบริษัท LOCOL Thailand สตาร์ทอัพจากประเทศไทย ที่ได้ไปเปิดตัวในงาน OMEUP 2024 เทศกาลรวมสตาร์ทอัพระดับโลก ด้วย Cocoa-Lick blocks ที่ผลิตขึ้นจากเศษเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมโกโก้ มาเป็นอาหารเสริมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงกว่า 62.5%

 

โกโก้จัดเป็นพืชอีกชนิดที่มีคุณสมบัติในการลดการปล่อยก๊าซมีเทนเช่นกัน เนื่องจาก แทนนิน สารประกอบชนิดหนึ่งภายในโกโก้เองก็มีผลต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในกระเพาะวัว ทำให้เมื่อนำโกโก้มาให้วัวรับประทานจะช่วยลดอัตราการปล่อยมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศในที่สุด

 

ในขั้นตอนการทดสอบพบว่า การป้อน Cocoa-Lick blocks ให้แก่วัวเป็นอาหารเสริมจากอาหารปกติเป็นจำนวนราว 60 ตัว โดยการผสมผลิตภัณฑ์นี้ร่วมกับอาหารปกติของปศุสัตว์ในปริมาณราว 2% ของน้ำหนักตัว พบว่าวัวกลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงกว่า 62.5%

 

จริงอยู่ที่สาหร่ายสีแดงก็มีคุณสมบัติลดมีเทนจากวัวได้เช่นกัน แต่ข้อแตกต่างสำคัญจากวัสดุทั้งสองชนิดคือ ความง่ายในการผลิต สาหรายสีแดงที่ใช้ในการลดมีเทนมีข้อจำกัดในการผลิตและเพาะเลี้ยงเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องยากที่จะสามารถผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการเป็นวงกว้าง

 

แตกต่างจากกากโกโก้ในอุตสาหกรรมโกโก้ที่พบเห็นได้ทั่วไป สามารถค้นหาและนำมาใช้ในการผลิตได้ในเกือบทั่วทุกมุมโลก นอกจากนี้การนำกากโกโก้มาผลิตเป็นอาหาเสริมแก่วัว ยังเป็นการช่วยลดขยะที่จะออกสู่สิ่งแวดล้อม นับเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแก้ปัญหาขยะไปพร้อมกัน

 

นี่ถือเป็นแนวทางเบื้องต้นในการผลักดันระบบปศุสัตว์ของเราไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

 

 

 

 

การนำสาหร่ายสีแดงมาใช้เป็นอาหารเสริมให้แก่วัวยังอยู่ในขั้นทดสอบจากขีดความสามารถทางการผลิต แต่ทางบริษัท LOCOL Thailand ยืนยันว่า Cocoa-Lick blocks จะขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมวัวกว่า 100,000 ตัวภายในปี 2030 ซึ่งจะเทียบเท่ากับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงกว่า 140,000 ตัน/ปี

 

 

ที่มา

 

https://interestingengineering.com/science/eco-friendly-moos-feeding-cattle-seaweed-cuts-methane-emissions-by-almost-40

 

https://www.ubergizmo.com/korea-pr/locol-thailand-to-showcase-sustainable-cocoa-lick-blocks-at-comeup-stars-2024/