posttoday

เรือยอร์ชของซัดดัมกลายเป็นจุดปิกนิกสำหรับนักท่องเที่ยวและชาวประมง

17 มีนาคม 2566

เรือ "al-Mansur" ขนาด 121 เมตร เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งและอำนาจที่ซัดดัมเมื่อสร้างขึ้นในปี 1980 ขณะที่ในปัจจุบันซากเรือขึ้นสนิมลำดังกล่าว กลับกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวและชาวประมงที่นิยมปีนขึ้นไปบนซากเรือเพื่อปิกนิกและดื่มชา

ซากเรือยอร์ชขึ้นสนิมของซัดดัม ฮุสเซน ที่อับปางในแม่น้ำทางตอนใต้ของอิรักเปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจถึงการปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ก่อนจะต้องปิดฉากลงด้วยการถูกรุกรานจากสหรัฐฯ เมื่อสองทศวรรษก่อน

Hussein Sabahi ชาวประมงผู้ซึ่งกำลังเพลิดเพลินกับการดื่มชาบนซากเรือลำนี้กล่าวว่า “ตอนที่อดีตประธานาธิบดีเป็นเจ้าของเรือลำนี้ ไม่มีใครสามารถเข้าใกล้เรือได้เลย มันเหลือจะเชื่อ! เรือลำนี้เคยเป็นของซัดดัม ฮุสเซน และตอนนี้ผมก็กำลังเดินเพ่นพ่านไปมารอบๆเรือ ”

เรือยอร์ชของซัดดัมกลายเป็นจุดปิกนิกสำหรับนักท่องเที่ยวและชาวประมง

หลังประเทศถูกบุกรุกในวันที่ 20 มีนาคม 2003 ซัดดัมได้ออกคำสั่งให้เคลื่อนย้ายเรือยอร์ชออกจากท่าจอดเรือที่ Umm Qasr ไปยัง Basra เพื่อความปลอดภัย ซึ่งขณะดำเนินการเคลื่อนย้ายนั้น กองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯได้จู่โจมเรือลำดังกล่าว จนอับปางลงในแม่น้ำ Shatt al-Arab

เรือยอร์ชหนึ่งในสามลำที่ซัดดัมเป็นเจ้าของ สามารถรองรับแขกได้มากถึง 200 คน ทั้งยังมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ แต่หลังเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายทางอำนาจของซัดดัม ทรัพย์สินต่างๆบนเรือยอร์ชล้วนถูกปล้นออกไปจนแทบทั้งหมด ตั้งแต่โคมระย้าและเฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงชิ้นส่วนของโครงสร้างโลหะ

เรือยอร์ชของซัดดัมกลายเป็นจุดปิกนิกสำหรับนักท่องเที่ยวและชาวประมง

ขณะที่ทางการสหรัฐฯประมาณการในปี 2003 ว่าซัดดัมและครอบครัวอาจมีมูลค่าทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบมากถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์

แม้ชาวอิรักบางส่วนจะบอกว่าซากเรือของซัดดัมควรได้รับการอนุรักษ์ไว้ แต่รัฐบาลแล้วชุดเล่าก็ไม่ได้จัดสรรเงินเพื่อกู้หรืออนุรักษ์ไว้ซึ่งซากเรือลำดังกล่าว

Zahi Moussa กัปตันเรือที่ทำงานในกระทรวงคมนาคมของอิรักกล่าวว่า “เรือยอร์ชลำนี้เปรียบเสมือนอัญมณีล้ำค่า เหมือนของเก่าหายากที่คุณต้องประคบประหงมเก็บไว้ที่บ้าน แต่น่าเศร้าใจเหลือเกินที่ต้องเห็นมันอยู่ในสภาพนี้”