COP29 และการละเลยอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า COP30 จะไปต่ออย่างไร?
การประชุม COP29 (Conference of the Parties ครั้งที่ 29) ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจานระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2024 สิ้นสุดลงพร้อมกับการบรรลุข้อตกลงสำคัญ คือ Baku Finance Goal เป็นข้อตกลงให้ประเทศพัฒนาแล้วมอบเงินช่วยเหลือด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจาก 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพิ่มเป็น 3 แสนล้านเหรียญภายในปี 2578 แก่ประเทศกำลังพัฒนา
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับการละเลยภาคการขนส่ง โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) แม้ภาคส่วนนี้จะมีส่วนสำคัญต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึง 15% การละเลยครั้งนี้สร้างความกังวลให้แก่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของความพยายามลดคาร์บอนในภาคการขนส่ง
ภาคการขนส่งทางถนนมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานทั่วโลกราว 15% ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคส่วนนี้ต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ หากเปรียบเทียบกับการประชุมก่อนหน้า เช่น COP26 ได้เคยตั้งเป้าหมายให้ยานยนต์ขนาดเล็กงดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดภายในปี 2040 หรือใน COP28 ได้มีการนำเสนอ “แผนที่เส้นทางการเปลี่ยนแปลงสู่ยานยนต์ปลอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” (Zero Emission Vehicle - ZEV Transition Roadmap) เพื่อให้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่เข้าถึงได้ง่ายและคุ้มค่าที่สุดทั่วโลกภายในปี 2030
อย่างไรก็ตาม การประชุม COP29 ไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายเหล่านี้ต่อไปข้างหน้า ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างในด้านกลยุทธ์ระดับโลกสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง มีเสียงสะท้อนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในด้านนี้โดยตรง ยกตัวอย่างเช่น มารุซา คาร์ดามา (Maruxa Cardama) เลขาธิการ Partnership on Sustainable, Low Carbon Transport (SLOCAT) แสดงความผิดหวังว่า “COP29 ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนในเรื่องความเร่งด่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่งอย่างรวดเร็ว”
เช่นเดียวกันกับ วิคกี้ ซินส์ (Vicky Sins) จาก World Benchmarking Alliance ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า “การดำเนินการเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคการขนส่งขาดหายไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งสะท้อนถึงการลดทอนพันธสัญญาทางการเมืองในประเด็นนี้”
ช่องว่างการลงทุนและการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์สะอาด
ภาคอุตสาหกรรมการขนส่งกำลังเผชิญช่องว่างการลงทุนที่สำคัญ โดยคาดว่าจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อให้บรรลุการลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นถึงเจ็ดเท่าจากปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงนั้น รายได้จากการผลิตยานยนต์คาร์บอนต่ำกลับมีเพียง 17% ของรายได้ทั้งหมดในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ซึ่งได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้าสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และที่สำคัญคือ ไม่มีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายใดที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยุติการผลิตรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถาวรภายในปี 2035 ในประเด็นดังกล่าวนี้ ทาง World Benchmarking Alliance ได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนว่า
“อุตสาหกรรมยานยนต์มีเทคโนโลยีพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่าน แต่ความก้าวหน้ายังถูกขัดขวางจากแรงต้านและการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ไม่เพียงพอ แรงต้านนี้ยังถูกเสริมด้วยการวิ่งเต้น (Lobbying) และขาดแรงจูงใจทางการเงิน ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมเคลื่อนไหวได้ช้า”
ความเหลื่อมล้ำของการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก
สัดส่วนอัตราการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก โดยในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเกือบแตะ 14 ล้านคัน โดย 95% ของยอดขายเกิดขึ้นในประเทศจีน ทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยประเทศจีนเป็นผู้นำตลาดด้วยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 60% ของยอดขายทั่วโลก ตามมาด้วยทวีปยุโรปและสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในบางภูมิภาคกลับพบกับอุปสรรค ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนีมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าลดลง 16.4% ในครึ่งแรกของปี 2024 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2023 ซึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกเงินสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจากรัฐบาล
COP29 บรรลุข้อตกลงพัฒนาระบบสายส่งและการจัดเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่
อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากการประชุม COP29 คือ “คำมั่นสัญญาการจัดเก็บพลังงานและระบบสายส่งไฟฟ้าทั่วโลก” (Global Energy Storage and Grids Pledge) ตั้งเป้าที่จะจัดเก็บพลังงานได้ถึง 1,500 กิกะวัตต์ (GW) ทั่วโลกภายในปี 2030 และปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้า 25 ล้านกิโลเมตรในปีเดียวกัน ความก้าวหน้าเหล่านี้มีความสำคัญต่อการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนและสนับสนุนการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างยิ่ง
ความคาดหวังสำหรับ COP30
สำหรับความคาดหวังของการประชุม COP30 ครั้งหน้าที่ประเทศบราซิลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งจะตรงกับช่วงเปิดตัว “ทศวรรษแห่งการขนส่งที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ” (UN Decade of Sustainable Transport) ในเดือนมกราคม 2026 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สิ่งที่อยากเห็นคือ ความกระตือรือร้นและความตระหนักที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของภาคการขนส่งในเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะแรงขับเคลื่อนเหล่านี้จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและคำมั่นสัญญาที่มีความทะเยอทะยานมากขึ้นในอนาคต