posttoday

IMF กังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของ Climate change ต่อเศรษฐกิจ

26 กรกฎาคม 2566

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรียกร้องให้เกิดความร่วมมือเพื่อแก้ไขสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเตือนว่าสภาพอากาศสุดขั้วกำลังทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีภาระหนี้สูงอยู่แล้ว

Pierre-Olivier Gourinchas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวว่ากรณีของอาร์เจนตินาซึ่งเคยประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ยืดเยื้อ และสถานการณ์ต้องทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกเมื่อประเทศต้องประสบกับภัยแล้งรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าราว 20,000 ล้านดอลลาร์ โดยจากสถานการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วมีผลทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้ว เลวร้ายลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อาร์เจนตินาเพิ่งกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวกับการค้าให้อ่อนลง เพื่อเร่งให้บรรลุข้อตกลงกับ IMF ในการให้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยวงเงินช่วยเหลือ 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งคืออัตราการชะลอตัวในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งต้องรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากตลาดการเงินที่ผันผวน และอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งตัวขึ้น รวมถึงผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

Gourinchas ยังกล่าวเสริมว่าเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อนที่กำลังปกคลุมไปทั่วยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงปรากฎการณ์ El Nino ที่เกิดขึ้นในปีนี้ซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนักและภัยแล้งในบางพื้นที่ จะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของประชากร

“เห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์จากสภาพอากาศสุดขั้วเริ่มเกิดบ่อยขึ้น ซึ่งเราต้องจัดการกับต้นเหตุที่ทำให้มันเกิดขึ้น นั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ยังมีอีกหลายสิ่งที่รอให้เราจัดการ และต้องทำอย่างเร่งด่วน”

“เราจำเป็นต้องมีแนวทางแบบพหุภาคีต่อสภาพอากาศที่สามารถจัดการได้ในระดับโลก เราต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าความรับผิดชอบของแต่ละประเทศอยู่ในอัตราส่วนที่สัมพันธ์กับรายได้และทรัพยากรที่พวกเขามี”

ทั้งนี้ IMF ยังคาดการณ์การเติบโดของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 ว่าอาจเขยิบขึ้นเล็กน้อย แต่ด้วยอัตราการผลิตที่ตกต่ำลง รวมถึงภาพรวมการค้าที่ซบเซา อาจส่งผลให้ในปีนี้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้เพียง 3% และจะอยู่ในระดับนี้ไปอีก 5 ปี ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1990