posttoday

อีกมิติแห่งยานยนต์ เมื่อรถบินได้ผ่านการอนุมัติให้ใช้งานจริง

28 สิงหาคม 2566

จากเรื่องที่เราได้เห็นในภาพยนตร์ไซไฟมานาน ในที่สุดอนาคตของรถบินได้กำลังจะขยับขึ้นไปอีกขั้น เมื่อเริ่มมีรถที่ได้รับใบอนุญาตจาก กรมการขนส่ง และ องค์กรการบินแห่งชาติสหรัฐฯ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวใหญ่ที่ช่วยให้ยานพาหนะชนิดนี้ใกล้ใช้งานทั่วไปขึ้นทุกที

สำหรับท่านที่ติดตามข่าวเทคโนโลยีมาตลอดอาจพูดได้ว่า รถบินได้ หรือ eVTOL ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นยานยนต์ที่ได้รับความสนใจและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับการพูดถึงควบคู่กับรถยนต์ไฟฟ้า ได้รับการพูดถึงในฐานะอีกหนึ่งยานยนต์แห่งยุคอนาคต

 

          ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินการพัฒนาและทดสอบรถบินได้เกิดขึ้นทั่วโลก ความสำเร็จมากมายได้รับการประกาศ บางประเทศถึงขั้นเตรียมพร้อมสำหรับให้ยานพานะชนิดนี้ให้บริการในฐานะรถโดยสาร หลายท่านจึงพากันคาดหวังว่า เราอาจได้พบเห็น ใช้งาน ไปจนจับจองรถบินได้ในไม่ช้า

 

          และในที่สุดความฝันดังกล่าวก็ใกล้จะเป็นจริงกับรถยนต์บินได้ซึ่งได้รับการอนุมัติให้สามารถวิ่งและบินได้

 

อีกมิติแห่งยานยนต์ เมื่อรถบินได้ผ่านการอนุมัติให้ใช้งานจริง

 

Aska A5 รถบินได้คันแรกซึ่งได้รับอนุญาตเต็มรูปแบบ

 

          หนึ่งในเรื่องชวนปวดหัวในการพัฒนา รถบินได้ หรือ eVTOL คือ ขั้นตอนขอใบอนุญาตมีความซับซ้อนและคาบเกี่ยวหลายหน่วยงาน ต้องได้รับการอนุญาตทั้งจากหน่วยงานควบคุมทางบกและอากาศ แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้น กระนั้นการขอใบอนุญาตก็ถือเป็นเรื่องยากในหลายประเทศ

 

          ล่าสุดความสำเร็จนี้เกิดขึ้นกับบริษัท Aska กับการพัฒนา Aska A5 ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างรถบินได้ซึ่งสามารถขับเคลื่อนบนถนนได้อย่างราบรื่น และอาศัยการกดปุ่มภายในรถเพียงปุ่มเดียว ก็พร้อมจะเปลี่ยนจากรถที่แล่นบนท้องถนน สู่อากาศยานที่พร้อมจะพาเราขึ้นสู่ฟากฟ้า

 

          ในขั้นตอนทดสอบพบว่าตัวรถขับเคลื่อนตามถนนทางหลวงเป็นระยะสูงสุดอยู่ที่ 480 กิโลเมตร สามารถทำระยะการบินบนฟ้าเป็นระยะทางสูงสุดอยู่ที่ 400 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยอาศัยเพียงรันเวย์สั้นๆ เพื่อทำการขึ้นบินหรือลงจอดในแต่ละครั้ง

 

          จุดเด่นสำคัญของรถบินได้รุ่นนี้คือ การได้รับใบรับรองจากสององค์กรควบคุมการขนส่ง ทั้ง กรมการขนส่งทางบกสหรัฐ(DMV) และ องค์กรบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ(FAA) ถือเป็นรถบินได้คันแรกของโลกที่ได้รับอนุญาตให้ออกวิ่งบนท้องถนนจากหน่วยงานการขนส่งทางบก และเป็นรถบินได้คันแรกของโลกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สัญจรทั้งสองรูปแบบ

 

          นี่จึงถือเป็นรถบินได้คันแรกซึ่งสามารถนำมาขับบนท้องถนนจริงได้ และผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยในทุกรูปแบบ ทั้งในด้านความทนทาน, ถุงลมนิรภัย, สายยึดเบาะรถกับคาร์ซีทสำหรับเด็ก ฯลฯ ซึ่งเพิ่มความยากในการออกแบบโครงสร้าง รวมถึงกลไกการทำงานของปีกที่ยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก

         

          Aska A5 สนนราคาอยู่ที่ 789,000 ดอลลาร์(ราว 27,500,000 บาท) และจะพร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2026

 

อีกมิติแห่งยานยนต์ เมื่อรถบินได้ผ่านการอนุมัติให้ใช้งานจริง

 

ข้อจำกัดที่ยังต้องพัฒนาไปให้ถึง

 

          จริงอยู่เมื่อได้รับการอนุญาตจากทั้ง DMV และ FAA นี่จึงเป็นรถที่พร้อมสำหรับการใช้งานในสหรัฐฯ หากสามารถทำการผลิตเชิงพาณิชย์ออกมาได้ ก็พร้อมจัดจำหน่ายเพื่อให้เราได้สัมผัสประสบการณ์รถบินได้ในอีกไม่กี่ปี แต่ไม่ได้ยืนยันว่าการผลิตรถบินได้ Aska A5 จะราบรื่นเสียทีเดียว

         

          อย่างแรกคือใบอนุญาตจากทาง FAA ยังอยู่ในรูปแบบยอมรับให้ทำการบินทดสอบเป็นหลัก แม้การขอใบอนุญาตเพื่อให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ในอนาคตจะง่ายขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทางบริษัทยังต้องยื่นขออนุญาตซ้ำ เพื่อให้ผ่านการรับรองเต็มรูปแบบในฐานะอากาศยานจากทาง FAA

 

          ต่อมาคือข้อจำกัดในด้านเครื่องยนต์ของ Aska A5 ใกล้เคียงกับรถบินได้อื่นที่เตรียมใช้งานเชิงพาณิชย์คือ อาศัยเครื่องยนต์ไฮบริดเป็นหลัก ผสมผสานทั้งพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยข้อจำกัดของพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไม่เพียงพอในการแบกรับน้ำหนักเพื่อบินขึ้นฟ้า ทำให้รถบินได้รุ่นแรกๆ ไม่ใช่รถยนต์พลังงานสะอาดเต็มตัว

 

          การใช้งานรถบินได้เองก็จำเป็นต้องมีใบอนุญาตทั้งสองประเภท ทั้งใบขับขี่ทั่วไป และ ใบอนุญาตการบิน ส่วนนี้อาจเป็นข้อจำกัดที่เกิดจากผู้ใช้งานเอง แต่การขอใบอนุญาตทั้งสองรูปแบบเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปในการเข้าถึงรถบินได้ไปเสียหน่อย

 

          ถึงอันที่จริงราคาค่างวดของรถบินได้ทั้งหลายจะเป็นตัวตัดสินเรื่องเหล่านี้อยู่แล้วก็ตาม

 

อีกมิติแห่งยานยนต์ เมื่อรถบินได้ผ่านการอนุมัติให้ใช้งานจริง

 

          อนาคตของรถยนต์บินได้ที่จะมาถึงในไม่ช้า

 

          สำหรับคนทั่วไปเราอาจไม่มีโอกาสครอบครองหรือขับขี่รถบินได้ก็จริง แต่ในด้านการโดยสารใช้บริการอาจไม่เป็นแบบนั้น เพราะนอกจากรถบินได้ส่วนบุคคลที่หลายเจ้าพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ยังเริ่มมีแนวคิดผลักดันนำรถบินได้มาให้บริการในฐานะแท็กซี่สำหรับขนส่งผู้โดยสารเช่นกัน

 

          บริษัทที่ให้ความสนใจในการพัฒนาแท็กซี่บินได้คือ Vollksesgen อีกหนึ่งบริษัทรถยนต์ชั้นนำที่เดินหน้าผลิตรถบินได้ต้นแบบ V.MO สามารถบรรทุกผู้โดยสารสู่กลางอากาศ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนบินทดสอบเก็บรวบรวมข้อมูล และคาดว่าจะผลักดันรถบินได้หรือ eVTOL พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบภายในปี 2035

 

          หลายชาติเริ่มให้ความสนใจในเทคโนโลยีไม่แพ้กัน เริ่มจากฝรั่งเศสที่เริ่มพัฒนาแท็กซี่บินได้ขึ้นบินทดสอบในชื่อ Volocopter ซึ่งคาดว่าจะพร้อมสำหรับการจดทะเบียนให้ใช้บริการในไม่ช้า เพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยวที่กำลังจะเกิดขึ้นในการแข่งขันโอลิมปิก 2024

 

          ทางฝั่งรัฐบาลสหรัฐฯเองก็เริ่มตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการศึกษาการใช้งานยานพาหนะประเภท eVTOL เพื่อรองรับการมาถึงในการให้บริการของแท็กซี่บินได้ และศึกษาผลกระทบการเดินทางในรูปแบบนี้อย่างจริงจัง จากการขยับตัวของบริษัทเอกชนหลายแห่งที่ตั้งเป้าในการเปิดให้บริการภายในปี 2024 เช่นกัน

 

          ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เองแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รถบินได้ไม่เพียงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่อาจให้บริการอย่างแพร่หลายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

 

 

          แน่นอนว่าสำหรับประเทศไทยการมาถึงของรถบินได้อาจล่าช้ากว่าในหลายประเทศ ด้วยจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบในหลายด้าน แต่ต้องยอมรับว่าการมาถึงจองเทคโนโลยีนี้ถือเป็นเรื่องน่าตื่นตา และอาจเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของสังคมเมืองในปัจจุบันให้แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง

 

 

 

          ที่มา

 

          https://newatlas.com/aircraft/aska-a5-dmv-street-legal/

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1460

 

          https://www.posttoday.com/international-news/687512

 

          https://www.posttoday.com/post-next/innovation/688057

 

          https://www.posttoday.com/international-news/691626

 

          https://www.posttoday.com/international-news/694697