posttoday

Climate Change กระทบการรักษาโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย

19 กันยายน 2566

Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อการรักษาโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่อันตรายถึงชีวิต

กองทุนโลกเพื่อการต่อสู้โรคเอดส์, วัณโรค และมาลาเรีย (the Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria) ได้เผยแพร่ผลการดำเนินงานปี 2023 โดยระบุว่า โครงการระดับนานาชาติเพื่อการต่อสู้กับโรคต่างๆ เริ่มฟื้นตัวได้มากขึ้นหลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 

แต่ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และความขัดแย้ง ส่งผลให้เราอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการรักษาโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียได้ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่อันตรายถึงชีวิต 

ตัวอย่างเช่น โรคมาลาเรียกำลังแพร่กระจายไปยังพื้นที่สูงของแอฟริกา โดยก่อนหน้านี้ยุงซึ่งเป็นพาหะที่ทำให้เกิดโรคไม่สามารถอาศัยในพื้นที่นี้ได้ ด้วยสภาพอากาศที่เย็นเกินไป

สภาพอากาศสุดขั้ว อย่าง น้ำท่วม ยังถือเป็นภัยธรรมชาติที่กระทบต่อบริการด้านสุขภาพอย่างหนัก เพราะ ทำให้ชุมชนต้องพลัดถิ่น ส่งผลให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้น และการรักษาก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่ในประเทศอย่าง ซูดาน ยูเครน อัฟกานิสถาน และเมียนมาร์ การเข้าถึงชุมชนเปราะบางก็ถือเป็นความท้าทายอย่างมากจากสถานการณ์ความไม่มั่นคงในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดที่น่าพึงพอใจอยู่บ้าง เช่น ในปี 2022 ผู้คนในประเทศที่ทางองค์กรลงทุนกว่า 6.7 ล้านคนได้รับการรักษาวัณโรค นับเป็นตัวเลขที่มากกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1.4 ล้านคน นอกจากนี้ทางกองทุนยังสามารถจัดหายาต้านไวรัส HIV ให้กับประชาชนได้ 24.5 ล้านคน  และแจกจ่ายมุ้งไปกว่า 220 ล้านผืน ทั้งนี้ทางกองทุนยังตั้งตารอนวัตกรรมใหม่ที่อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันและวินิฉัยโรค

ที่ผ่านมา กองทุนโลกเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคเป็นอย่างมาก ที่ไม่จัดสรรงบสำหรับการรักษาโรคนี้ให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้ป่วยได้มากที่สุดในบรรดา 3 โรคที่กองทุนมุ่งเน้น

อย่างไรก็ตาม ทางกองทุนชี้ว่า โลกจำเป็นต้องทุ่มทรัพยากรมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับวัณโรค แต่ก็รับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเมื่อดูตัวเลขผู้เสียชีวิตในแต่ละปี หลายประเทศที่ประชากรป่วยด้วยวัณโรคมากที่สุดคือประเทศที่มีรายได้ปานกลาง