posttoday

เมื่อมหิดลนำไข่ผำขึ้นสู่อวกาศ ทางเลือกใหม่แห่งอาหารและออกซิเจน

24 ตุลาคม 2566

หลายท่านคงรู้จัก ไข่ผำ หรือ ไข่น้ำ กันมาบ้าง สำหรับบางท่านนี่คืออีกหนึ่งเมนูโปรดที่เปี่ยมคุณค่าสารอาหารและความอร่อยพร้อมสรรพ แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อนักวิจัยจากมหาลัยมหิดลชี้ว่า ไข่ผำอาจแก้ปัญหาด้านอาหารและออกซิเจนของนักบินอวกาศ

การเดินทางสู่อวกาศ หมุดหมายสำคัญที่ทั่วโลกต่างมุ่งหน้าจะไปถึง จากความพยายามผลักดันโครงการอวกาศของนานาประเทศ เป้าความสนใจทั่วโลกมุ่งสู่อวกาศนำไปสู่การแข่งขันทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ที่คราวนี้ผู้เล่นรายสำคัญไม่ได้จำกัดเพียงมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ และ โซเวียต แต่ทั่วโลกต่างเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง

 

          จุดหมายสำคัญในการกลับสู่อวกาศของทุกชาติแน่นอนว่าย่อมเป็นทรัพยการล้ำค่าอันไร้ขีดจำกัด ด้วยเหตุนี้การส่งนักบินอวกาศเพื่อไปปฏิบัติภารกิจตั้งรกรากจึงเป็นจุดหมายสำคัญ แต่ด้วยข้อจำกัดจากปัจจัยในหลายด้าน เราจึงจำเป็นต้องคิดค้นเทคโนโลยีที่จะสร้างสภาพแวดล้อมในดำรงชีพที่เหมาะสมกับมนุษย์ขึ้นมาเสียก่อน

 

          ล่าสุดเริ่มมีแนวคิดในการนำ ไข่ผำ พืชพื้นบ้านของไทยในการมุ่งสู่อวกาศเพื่อสนับสนุนปัจจัยดำรงชีพ แต่ก่อนอื่นเรามาพูดถึงพืชชนิดนี้กันเสียหน่อย

 

เมื่อมหิดลนำไข่ผำขึ้นสู่อวกาศ ทางเลือกใหม่แห่งอาหารและออกซิเจน

 

ไข่ผำ พืชเศรษฐกิจคุณประโยชน์รอบด้าน

 

          ไข่ผำ หรือที่หลายท่านรู้จักกันในชื่อ ไข่น้ำ เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นทรงกลมสีเขียวขนาดเล็กเท่าไข่ปลา เติบโตกระจายปกคลุมเหนือผิวน้ำติดกันเป็นแพ พืชชนิดนี้พบได้ตามแหล่งน้ำเรียบนิ่งไม่มีการไหลเวียน เช่น บึง หรือ หนองน้ำธรรมชาติ จัดเป็นผักพื้นฐานที่ได้รับความนิยมในภาคเหนือและอีสาน

 

          สำหรับประเทศไทยไข่ผำเป็นพืชที่ได้รับความนิยมในการประกอบอาหารอยู่ทั่วไป ด้วยพื้นฐานรสชาติไข่ผำมีคุณสมบัติหอม มัน อร่อย จึงสามารถนำไปประกอบอาหารทั้งเมนูแกงและผัด หรืออาจนำไปล้างให้สะอาดและรับประทานเป็นสลัดก็ได้เช่นกัน

 

          จุดเด่นของไข่ผำคือ โดยพื้นฐานพืชชนิดนี้ให้โปรตีนสูงมากกว่าเนื้อและไข่จนใกล้เคียงกับถั่วเหลืองในปริมาณเท่ากัน นอกจากนี้ยังมีสารอาหารสำคัญทั้งแคลเซียม, ฟอสฟอรัส, วิตามินหลายชนิด ไปจนกรดอะมิโนมากมายรวมถึงเบต้าแคโรทีน จึงถือเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก

 

          นอกจากใช้ในฐานะวัตถุดิบประกอบอาหารแล้วยังสามารถใช้เป็นยาสมุนไพร ใช้รักษาอาการท้องผูก, ต้านการติดเชื้อ, ลดกรดในกระเพาะ ไปจนภาวะซีดในโรคโลหิตจาง นอกจากนี้ยังมีการนำไข่ผำมาใช้ในการบำบัดน้ำเสีย เพราะพืชชนิดนี้สามารถสังเคราะห์ออกซิเจนปริมาณมาก ลดอัตราเป็นพิษของน้ำเสียลงอีกด้วย

 

          นอกจากนี้ไข่ผำยังมีจุดเด่นในด้านการขยายพันธุ์เร็ว เพาะเลี้ยงง่าย ปลูกได้แม้แต่ในพื้นที่ขนาดเล็ก ทั้งยังเป็นอาหารของสัตว์น้ำหลายชนิด ทำให้พืชชนิดนี้ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างในฉายา คาเวียร์สีเขียว และเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของแหล่งอาหารของมนุษย์ในอนาคต

 

          จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีแนวคิดในการนำพืชชนิดนี้เข้าร่วมกับโครงการอวกาศในที่สุด

 

เมื่อมหิดลนำไข่ผำขึ้นสู่อวกาศ ทางเลือกใหม่แห่งอาหารและออกซิเจน

 

สู่เป้าหมายการส่งไข่ผำสู่อวกาศ

 

          แนวคิดนี้เกิดจาก มหาวิทยาลัยมหิดล ของไทย กับแนวคิดในการนำเอาไข่ผำที่เรารู้จักกัน มาร่วมทดสอบในเครื่องหมุนเหวี่ยงของทาง European Space Agency(ESA) ทดสอบในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงในอวกาศ เพื่อตรวจสอบผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชชนิดนี้

 

          เมื่อตั้งเป้าในการส่งนักบินอวกาศไปใช้ชีวิตตั้งรกรากต่างดาว สิ่งแรกที่หลายคนย่อมนึกถึงคืออาหาร เนื่องจากการขนส่งเสบียงย่อมทำได้จำกัด คงดีกว่าหากสามารถทำการเพาะปลูกเพื่อผลิตอาหารหล่อเลี้ยงนักบินอวกาศได้เอง แต่นั่นก็นำกลับมาสู่การตั้งคำถามในหลายด้าน

 

          ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีรายงานความสำเร็จจากการปลูกพืชบนอวกาศจากหลายชาติ ทั้งสหรัฐฯที่ทำการทดสอบปลูกพืชในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงได้สำเร็จ หรือจีนที่สามารถปลูกข้าวให้เติบโตบนอวกาศล้วนเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญ อย่างไรก็ตามเมื่อคำนึงถึงทรัพยากรที่ใช้งาน แนวทางนี้อาจนำไปสู่ข้อจำกัดและการตั้งคำถามว่าสามารถนำไปใช้งานจริงได้แค่ไหน

 

          ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มเกิดแนวคิดในการใช้งาน ไข่ผำ ที่เรารู้จักกัน ด้วยคุณสมบัติที่สามารถเติบโตได้ในน้ำนิ่ง ไม่จำเป็นต้องอาศัยดิน ไม่กินพื้นที่ในการเพาะปลูก สามารถใช้เพียงน้ำในการเจริญเติบโต สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์หรือดาวอังคารที่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้

 

          ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงอาศัยเครื่องหมุนเหวี่ยงของทาง ESA จำลองสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงในอวกาศ จากนั้นจึงเริ่มนำไข่ผำไปเผาะภายในสภาพแวดล้อมดังกล่าว เพื่อตรวจสอบผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ปฏิกิริยา ไปจนการปรับตัวของพืชชนิดนี้หากถูกนำไปเพาะเลี้ยงบนอวกาศ

 

          จากวงจรชีวิตของไข่ผำที่มีระยะเวลาเพียงไม่กี่วันจะช่วยให้พวกเขาทราบผลอย่างรวดเร็ว เมื่อทำการทดลองเสร็จสิ้นทางทีมวิจัยจะเก็บรวบรวมข้อมูล นำสารสกัดจากไข่ผำที่โตในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงไปศึกษาเพิ่มเติม ทั้งในด้านการเจริญเติบโตไปจนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในหลายระดับ เพื่อตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพืชชนิดนี้

 

          แน่นอนว่าการวิจัยทดลองในครั้งนี้จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลและศึกษาเพิ่มเติม แต่เป็นไปได้ว่าการเติบโตในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงจะไม่มีผลต่อพืชชนิดนี้มากนัก ด้วยเดิมทีไข่ผำไม่มีทั้งราก ลำต้น หรือใบให้งอกเงย เป็นเพียงทรงกลมสีเขียวลอยอยู่ภายในน้ำ จึงเป็นไปได้ว่าไข่ผำอาจเจริญเติบโตโดยไร้ผลกระทบ

 

          หากการทดลองนี้ประสบความสำเร็จและไข่ผำเติบโตได้อย่างดี ไม่แน่ว่าพืชชนิดนี้จะไม่เป็นเพียงขออร่อยประจำบ้านเรา แต่อาจเป็นความหวังของมนุษยชาติในการท่องอวกาศ ด้วยสารอาหารที่อัดแน่นสามารถนำไปปรุงรสได้หลากหลาย ทั้งยังมีคุณสมบัติในการผลิตออกซิเจนจำนวนมาก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยดำรงชีพของนักบินอวกาศอีกด้วย

 

 

 

          อย่างไรก็ตามการทดลองนำไข่ผำมาปลูกบนสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงยังคงอยู่ในขั้นทดลอง จำเป็นต้องได้รับการศึกษาผลกระทบที่เกิดหลังการเจริญเติบโต รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เกิดขึ้นเสียก่อน เราจึงจะสามารถแน่ใจได้ว่าสามารถปลูกไข่ผำเพื่อรับประทานบนอวกาศได้

 

          คงต้องรอดูกันต่อไปว่าสุดท้ายไข่ผำจะได้รับการนำไปต่อยอดและใช้งานจริงบนอวกาศหรือไม่

 

 

          ที่มา

 

          https://psub.psu.ac.th/?p=8525

 

          https://www.technologychaoban.com/folkways/article_69455

 

          https://mgronline.com/china/detail/9650000083534

 

          https://www.nasa.gov/missions/station/astronauts-harvest-radish-crop-on-international-space-station/

 

          https://www.esa.int/Enabling_Support/Space_Engineering_Technology/Hypergravity_odyssey_of_Earth_s_tiniest_plant