เจ้าภาพ COP 28 พร้อม! สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เผยยุทธศาสตร์เปลี่ยนผ่านพลังงาน
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เผยยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2023 นี้
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประจำประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าว "COP28 : Climate Change Conference" ณ โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพ เพื่อเผยถึงแนวทางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2023 นี้ โดยนายโอเบด บินตอเรช อัลดาเฮรี่ เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทย (H.E. Obaid Bintaresh Aldhaheri) เป็นประธานในพิธี
สำหรับการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ COP28 จะมุ่งเน้นไปที่ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโดยจะลดการปล่อยมลพิษลงให้ได้ 43% ภายในปี 2030 เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส, การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance), ความเป็นอยู่ของประชากร และความครอบคลุมของการดำเนินงาน
ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ภายในปี 2050
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เริ่มวางยุทธศาสตร์ด้านพลังงานตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดสำหรับภาคพลังงาน ขณะที่ในปี 2020 ทางประเทศได้เริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องแรก และถือเป็นโรงงานนิวเคลียร์แห่งแรกในโลกอาหรับ ต่อมาในปี 2021 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เปิดตัวแผนยุทธศาสตร์ Net Zero เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 รวมถึงเปิดตัวแผนพลังงานไฮโดรเจนในการประชุม COP 26 ส่วนในปี 2022 ทางประเทศได้แปลงสถานีโรงไฟฟ้าฮัสส์ยัน (Hassyan) ให้ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ จากเดิมที่ใช้พลังงานถ่านสะอาด
ขณะที่ในปี 2023 นี้ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซายิด อัลนะฮ์ยาน (H.H. Sheikh Mohammed bin Zayed Al Nahyan) ประมุขแห่งรัฐได้ประกาศให้เป็นปีแห่งความยั่งยืนจากการที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ COP28 และมุ่งหน้าบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050
แนวทางเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของ UAE
- ร่วมมือกับรัฐบาลทุกประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นสองเท่า
- เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนขึ้นอีกสามเท่าให้แตะ 11,000 GW ภายในปี 2030
- เพิ่มการผลิตไฮโดรเจนขึ้นอีกสองเท่าให้ได้ 180 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030
- เรียกร้องให้ IOC และ NOC ลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงภายในปี 2030
- เรียกร้องให้ทุกประเทศปรับการใช้เงินทุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานสะอาด
- เรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศมีนโยบายเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น พลังงานนิวเคลียร์ ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน
- ร่วมมือกับ IEA, UNFCCC และ IRENA เพื่อบูรณาการเป้าหมายของผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย ภาคพลังงาน และผู้บริโภค
แนวทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance)
- ปรับปรุงการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีราคาไม่แพง และครอบคลุมทุกภาคส่วน
- ทำงานร่วมกับ IMF, World Bank และ GFANZ เพื่อปลดล็อกอำนาจของตลาดทุน สร้างมาตรฐานให้กับตลาดคาร์บอนในกลไกภาคสมัครใจ และสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนมากขึ้น
- ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับสูง G20 เพื่อออกแบบแนวทางและวิถีปฏิบัติให้เหมาะกับศตวรรษที่ 21
- เรียกร้องให้ประเทศผู้บริจาคเงินสำหรับกองทุนของสหประชาชาติ ให้ปฏิบัติตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ และแก้ไขปัญหาการจัดสรรเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ของกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Finance Fund) ให้ได้ภายในปีนี้