เกาหลีใต้ผ่านกฎหมายห้ามจำหน่ายและกินเนื้อสุนัข
สภาเกาหลีใต้ผ่านร่างกฎหมายยุติการบริโภคและการจำหน่ายเนื้อสุนัข ซึ่งเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของเกาหลีใต้ แต่เป็นประเด็นที่สังคมถกเถียงกันมายาวนาน จากกระแสสนับสนุนด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่เพิ่มขึ้น
ในอดีต การบริโภคเนื้อสุนัขถูกมองว่าเป็นวิธีกระตุ้นพลังงานในช่วงฤดูร้อนของเกาหลี แต่ปัจจุบัน การบริโภคเนื้อสุนัขมักนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น เนื่องจากคนเกาหลียุคใหม่นิยมเลี้ยงสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงในครอบครัว และมีความตระหนักต่อชีวิตสัตว์มากขึ้น
กลุ่มนักเคลื่อนไหวระบุว่า สุนัขส่วนใหญ่ถูกฆ่าเอาเนื้อด้วยการช็อตไฟฟ้าหรือแขวนคอ แม้ผู้เพาะพันธุ์และบรรดาผู้ค้าจะแย้งว่ามีการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการเชือดให้มีความมนุษยธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ยังเป็นที่น่ากังวล
แรงสนับสนุนการแบนเนื้อสุนัขเพิ่มสูงขึ้นภายใต้การนำประเทศของประธานาธิบดี Yoon Suk Yeol เนื่องจากตัวเขาเป็นคนรักสัตว์และเลี้ยงสุนัขถึง 6 ตัว แมวอีก 8 ตัว ขณะที่ภรรยาเขา Kim Keon Hee ต่อต้านการบริโภคเนื้อสุนัขเช่นกัน
ร่างกฎหมายดังกล่าว ได้รับการลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นด้วยคะแนน 208 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจากช่วงเวลาผ่อนผันสามปี ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะต้องโทษจำคุกสูงสุด 3 ปีหรือปรับสูงสุด 30 ล้านวอน หรือราว 795,000 บาท
ในผลการสำรวจซึ่งเผยแพร่โดยสถาบันวิจัยและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์แห่งกรุงโซล ระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่า 94% ไม่ได้รับประทานเนื้อสุนัขในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ 93% กล่าวว่าจะไม่บริโภคเนื้อสุนัขในอนาคต
ก่อนหน้านี้ ความพยายามในการห้ามบริโภคและจำหน่ายเนื้อสุนัขล้มเหลวมาตลอด เนื่องจากการประท้วงของกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม กฎหมายฉบับใหม่จึงกำหนดการจ่ายเงินชดเชยเพื่อสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ในการปรับเปลี่ยนสู่ธุรกิจอื่น
ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรเกาหลีใต้ ช่วงเดือนเมษายน 2022 มีฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัขเพื่อการบริโภคประมาณ 1,100 แห่งทั่วประเทศ โดยเลี้ยงสุนัขไว้ราว 570,000 ตัว เพื่อส่งให้กับร้านอาหารประมาณ 1,600 ร้าน
ทั้งนี้ สมาคมผู้บริโภคเนื้อสุนัขเกาหลี ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้เพาะพันธุ์และผู้ค้าเนื้อสุนัข กล่าวว่า กฎหมายยุติการบริโภคและการจำหน่ายเนื้อสุนัขจะส่งผลกระทบต่อฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัขถึง 3,500 แห่ง ที่เลี้ยงสุนัขไว้กว่า 1.5 ล้านตัว และร้านอาหารอีกประมาณ 3,000 ร้าน