posttoday

รัฐบาลอินเดียคาดเศรษฐกิจโต 6.5%-7% ตามทิศทางการค้าโลก

24 กรกฎาคม 2567

รัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกจะขยายตัวระหว่าง 6.5% ถึง 7% โดยมีจุดยืนที่ระมัดระวังเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์

“การเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าระดับโลกนั้นเกิดขึ้นได้ยาก” วี. อนันทา นาเกสวารัน หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการเปิดเผยรายงานประจำปี โดยอ้างถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ลัทธิกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน

 

เขาระบุว่า เศรษฐกิจอินเดียอยู่ภาวะที่แข็งแกร่งและมั่นคง และ GDP ที่แท้จริงก็เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งในห้าจากระดับก่อนเกิดโรคระบาด โดยอ้างถึงการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายของรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากการเติบโตที่ดีในช่วงสามปีที่ผ่านมา ความกลัวว่าการนำเข้าราคาถูกจากประเทศที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินอาจจำกัดการก่อตัวของทุนภาคเอกชน 

 

รายงานความยาว 476 หน้าดังกล่าวถูกเสนอต่อรัฐสภาโดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นิรมาลา สิธารามัน เมื่อวันจันทร์ ก่อนที่จะนำเสนองบประมาณของรัฐบาลกลางในวันอังคาร

 

การคาดการณ์จากแผนกเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังต่ำกว่าการตาดการณ์จากนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง ที่ประเมินว่าอินเดียจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 8.2% ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมีนาคม 

 

รายงานระบุว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้ชะลอลงในเศรษฐกิจส่วนใหญ่ สอดคล้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง และความกดดันในห่วงโซ่อุปทานที่ผ่อนคลายลง โดยอ้างถึงการคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่ 3.2% ในปี 2567

 

แต่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจกระตุ้นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และอาจส่งผลต่อจุดยืนนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ได้

รัฐบาลอินเดียคาดเศรษฐกิจโต 6.5%-7% ตามทิศทางการค้าโลก

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากขนาดของเศรษฐกิจอินเดีย ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก อัตราการขยายตัวในระดับดังกล่าว ก็ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับไทย ซึ่งล่าสุด World Bank ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทย ลดลงอีก จากที่ตอนแรกในเดือนมกราคม ประเมินว่าทั้งปี 2024 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.2%

 

ก่อนที่ในเดือนเมษายน จะปรับลดประมาณการ GDP เหลือเติบโต 2.8% โดยมีสาเหตุมาจากการฟื้นตัวของการค้าโลกที่ยังอ่อนแอ และการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีที่ล่าช้า

 

กระทั่งล่าสุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา World Bank ก็ได้หั่น GDP Growth ของไทยในปีนี้เหลือโตเพียง 2.4% เท่านั้น เติบโตต่ำสุดในอาเซียน แพ้เวียดนามที่คาดว่าจะโต 6.5% ฟิลิปปินส์ 6.1% มาเลเซีย 4.7% สาเหตุสำคัญมาจากภาคการส่งออก และการลงทุนของภาครัฐที่อ่อนแอกว่าที่คาดเอาไว้ในช่วงต้นปี