posttoday

ซิมบับเวเตรียมฆ่าช้าง 200 ตัว แจกจ่ายเนื้อให้ชาวบ้านที่อดอยากจากภัยแล้ง

18 กันยายน 2567

ทางการซิมบับเวประกาศแผนฆ่าช้าง 200 ตัว เพื่อนำเนื้อไปแจกจ่ายชุมชนที่กำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง หลังประสบภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี

ภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญได้ทำลายพืชผลในแอฟริกาตอนใต้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 68 ล้านคน และก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารทั่วทั้งภูมิภาค

ทินาเช ฟาราโว โฆษกสำนักงานอุทยานและสัตว์ป่าแห่งซิมบับเว (Zimparks) กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "เราขอยืนยันว่ากำลังวางแผนที่จะฆ่าช้างประมาณ 200 ตัวทั่วประเทศ ขณะนี้เรากำลังพิจารณารายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร"

เขากล่าวว่าเนื้อช้างจะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับชุมชนในซิมบับเวที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

การฆ่าช้างครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่ปี 2531 โดยการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างนามิเบียได้ตัดสินใจฆ่าช้าง 83 ตัวเมื่อเดือนที่แล้ว และนำเนื้อไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกัน

มีการประมาณการว่าช้างกว่า 200,000 ตัวอาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ที่ครอบคลุม 5 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้ ได้แก่ ซิมบับเว, แซมเบีย, บอตสวานา, แองโกลา และนามิเบีย ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นบ้านของประชากรช้างที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ซิมบับเวเตรียมฆ่าช้าง 200 ตัว แจกจ่ายเนื้อให้ชาวบ้านที่อดอยากจากภัยแล้ง

 

นายฟาราโวกล่าวว่า การฆ่าช้างครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดความแออัดของช้างในอุทยานของประเทศ ซึ่งสามารถรองรับช้างได้เพียง 55,000 ตัวเท่านั้น ในขณะที่ซิมบับเวมีช้างอยู่มากกว่า 84,000 ตัว

"นี่เป็นความพยายามในการลดความแออัดของอุทยานท่ามกลางภัยแล้ง จำนวน 200 ตัวนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวเมื่อเทียบกับจำนวนช้างทั้งหมดที่เรามีอยู่กว่า 84,000 ตัว "

ในสภาวะภัยแล้งที่รุนแรงเช่นนี้ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าอาจทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ในปีที่ผ่านมา ซิมบับเวสูญเสียประชาชน 50 คนจากการถูกช้างทำร้าย

ซิมบับเวเตรียมฆ่าช้าง 200 ตัว แจกจ่ายเนื้อให้ชาวบ้านที่อดอยากจากภัยแล้ง

ซิมบับเว ซึ่งได้รับการยกย่องในด้านความพยายามอนุรักษ์และการเพิ่มจำนวนประชากรช้าง กำลังวิ่งเต้นให้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เปิดการค้างาช้างและช้างขึ้นอีกครั้ง

ในฐานะประเทศที่มีประชากรช้างมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซิมบับเวมีงาช้างในคลังมูลค่าประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่สามารถนำออกมาขายได้