posttoday

โลกมุมกลับ ? สี จิ้นผิง วิพากษ์ลัทธิกีดกันทางการค้าในที่ประชุม APEC

16 พฤศจิกายน 2567

การประชุมสุดยอด APEC ทวีความตึงเครียด เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์มีโอกาสกลับมานั่งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลั่นการกีดกันทางการค้าต้องหมดไป เรียกร้องยุติการใช้นโยบายฝ่ายเดียว เพื่อให้เกิดโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกร้องยุติการใช้นโยบายฝ่ายเดียวและการกีดกันทางการค้า พร้อมผลักดันให้เกิดโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจในที่ประชุมเอเปค ประเทศเปรู สะท้อนบทบาทของจีนล่วงหน้าว่าจะวางตัวอย่างไร เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม

โลกมุมกลับ ? สี จิ้นผิง วิพากษ์ลัทธิกีดกันทางการค้าในที่ประชุม APEC

ทรัมป์ได้ประกาศนโยบายว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราที่สูงเกินกว่า 60% แต่ปักกิ่งและบริษัทจีนต่างหวังว่านโยบายการกีดกันทางการค้าของเขาจะสร้างความไม่พอใจให้กับพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปและเอเชียด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้จีนเพิ่มอิทธิพลระดับโลก และสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆได้มากขึ้น

ในสุนทรพจน์ที่อ่านให้ผู้บริหารธุรกิจฟัง โดยหวัง เหวินเถา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน เมื่อวันศุกร์ที่การประชุมสุดยอดซีอีโอเอเปค  สี จิ้นผิง กล่าวว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับ "กระแสต้าน" โดยไม่ได้ระบุถึงประเทศหรือผู้นำคนใดเป็นการเฉพาะ

"โลกได้ก้าวเข้าสู่ช่วงใหม่แห่งความวุ่นวายและการเปลี่ยนแปลง การดำเนินนโยบายฝ่ายเดียวและการกีดกันทางการค้ากำลังแพร่กระจาย การแตกแยกของเศรษฐกิจโลกทวีความรุนแรงขึ้น"

"การขัดขวางความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วยข้ออ้างต่างๆ การยืนกรานที่จะแยกตัวโลกที่ต่างพึ่งพากัน เป็นการย้อนทิศทางของประวัติศาสตร์"  - สี จิ้นผิง

โลกมุมกลับ ? สี จิ้นผิง วิพากษ์ลัทธิกีดกันทางการค้าในที่ประชุม APEC

สี จิ้นผิง ได้ระบุถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจีนได้ดำเนินการเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มจำนวนอุตสาหกรรมจีนที่สามารถรับการลงทุนจากต่างชาติ ตลอดจนการยกเว้นวีซ่าฝ่ายเดียวสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนจีน

"จีนจะดำเนินนโยบายเปิดประเทศที่เป็นอิสระและเป็นฝ่ายเดียวมากขึ้น ขยายเครือข่ายเขตการค้าเสรีมาตรฐานสูงที่เปิดสู่โลก และเปิดประตูสู่จีนให้กว้างขึ้นไปอีก" - สี จิ้นผิง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางท่านกล่าวว่า การนำเสนอตัวของจีนในฐานะทางเลือกหรือดุลถ่วงต่อสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มกีดกันทางการค้าภายใต้การนำของทรัมป์นั้น ได้สูญเสียความน่าสนใจลงเมื่อเทียบกับปี 2016 เมื่อครั้งที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งครั้งแรก

เจีย เอียน ชอง นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีความกังวลอย่างแพร่หลายในประชาคมระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการที่เงินอุดหนุนของรัฐจีนต่อภาคอุตสาหกรรม และกำลังการผลิตส่วนเกินที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ

"จีนมีการกีดกันทางการค้าเท่าๆ กับที่สหรัฐฯ อาจเป็น เศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันเปิดกว้างน้อยกว่าที่เคยเป็นมามาก" ชองกล่าว