'ดร.ณัฏฐ์'จี้'พรพจน์'ถอนมติคณะกรรมการสอบสวนปมที่พิพาทเขากระโดง
ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน จี้ พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการสอบสวนปมที่พิพาทเขากระโดง มีเวลา90วันพิจารณาอุทธรณ์รฟท.ย้ำเขากระโดงเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดิน ตามพระบมราชโองการ รัชกาลที่6 ต้องปฎิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ว่า ผลบังคับและสิ้นสุดของคำสั่งทางปกครอง กรณีมติคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดง ที่อธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจแต่งตั้งตามตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2543 และกฎกระทรวงโดยคำสั่งทางปกครองให้มีผลใช้ยันต่อบุคคลตั้งแต่ขณะที่ผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นต้นไป ตามพะราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง โดยมีผลตลอดไปจนกว่าสิ้นสุดของคำสั่งทางปกครอง การสิ้นผลของคำสั่งทางปกครอง แบ่งเป็นสามลักษณะ คือ การสิ้นผลโดยการลบล้างโดยองค์กรผู้ทรงอำนาจ การสิ้นผลโดยมีเงื่อนเวลาและสิ้นผลโดยเหตุอื่น
แต่มติคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดง มีผลใช้ยันต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอดไปจนกว่าจะเพิกถอนคำสั่ง โดยการสิ้นผลของคำสั่งทางปกครอง โดยการเพิกถอนคำสั่ง โดยกระบวนการพิจารณาชั้นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ใช้อำนาจทวนคำสั่งทางปกครองในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามพะราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 46 และการลบล้างโดยองค์กรผู้มีอำนาจ โดยศาลปกครองใช้อำนาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 72(1)
แต่กรณีของการรถไฟแห่งประเทศไทยใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งทางปกครอง แต่ผลของคำสั่งยังผูกพัน การโต้แย้งไม่เป็นการทุเลาการบังคับ
หากพิจารณาถึงการอุทธรณ์ตามกฎหมายกลาง หรือตามพะราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นระบบพิจารณาอุทธรณ์ 2 ชั้น ซึ่งเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้องค์กรที่ทำคำสั่งทางปกครองในชั้นต้นได้มีโอกาสทบทวนคำสั่งทางปกครองที่ออกคำสั่งทางปกครองไปก่อน
ดังนั้น ผู้อุทธรณ์จะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อผุ้ออกคำสั่งทางปกครอง หากเห็นด้วย สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ หากไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ ต้องส่งคำอุทธรณ์พร้อมความเห็นประกอบเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ หากผู้มีอำนาจอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วย จะต้องฟ้องศาลปกครอง
การพิจารณาว่า กรณีใดเป็นการอุทธรณ์ตามกฎหมายเฉพาะหรือกรณีใดอุทธรณ์ตามพะราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่เป็นฐานในการทำคำสั่งทางปกครองว่า ได้กำหนดการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองเอาไว้หรือไม่ ส่วนใหญ่ในแง่อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองจะอยู่ในกฎหมายทั่วไปมากกว่ากฎหมายเฉพาะ ตามตามพะราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 44 ถึงมาตรา 48
ระยะเวลาในการจัดทำอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของกรมที่ดิน ที่จะเสนอต่อผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ภายใน 15 วัน โดยการพิจารณาของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาอุทธร์และแจ้งคำสั่งอุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ หากเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ให้เร่งรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจอุทธรณ์ภายในกำหนด คือ 30 วัน โดยให้ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน
หากมีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาอุทธรณ์ไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลา ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีหนังสือแจ้งไปยังผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว ตามพะราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 49
กรมที่ดินมีเวลาพิจารณาอุทธรณ์ของรฟท.รวมเวลา90วัน
หมายความว่า กรอบเวลาอุทธรณ์ที่อธิบดีกรมที่ดินจะพิจาณาจะต้องดำเนินการพิจารณาคำอุทธรณ์พร้อมความเห็นภายใน 30 วัน หากไม่เห็นด้วย ต้องรายงานความเห็นพร้อมคำอุทธรณ์ของการรถไฟให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ทราบภายในกรอบเวลาดังกล่าว ขยายเวลาไม่ได้ แต่ผู้พิจารณาอุทธรณ์ จะต้องมีความเห็นภายใน 30 วัน ขยายระยะเวลาได้เพียงครั้งเดียวไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว ซึ่งรวมระยะเวลาแล้วไม่เกิน 90 วัน กรณีไม่มีการวินิจฉัยอุทธรณ์ เมื่อระยะเวลาอุทธรณ์ ครบ 60 วัน ตามมาตรา 49 และไม่มีการขยายระยะเวลาอุทธรณ์ การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องฟ้องคดีศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 60 วัน
กรณีขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องฟ้องคดีศาลปกครอง ภายใน 90 วันนับแต่วันพ้น 90 วัน ตรงนี้ ถือว่า เงื่อนไขในการฟ้องคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคสอง ประกอบมาตรา 49 การรถไฟแห่งประเทศไทยจะข้ามขั้นตอนไปใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองเลยไม่ได้ เพราะยังไม่เกิดอำนาจฟ้องคดี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
"หากตรวจสอบเอกสารพบว่า เอกสารที่ใช้น็อคอธิบดีกรมที่ดินได้เป็นเอกสารการบันทึกการประชุมร่วมเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง ลงวันที่ 9 พ.ย. 2513 ระหว่างนายชัย ชิดชอบและเจ้าหน้าที่รฟท.ระบุว่า นายชัยขออาศัยในที่ดินดังกล่าวจากการรถไฟได้ และการรถไฟตกลงยินยอมให้อาศัย ซึ่งจะได้ทำสัญญาการอาศัยต่อไป เท่ากับว่า ยอมรับว่า เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นสมบัติของแผ่นดิน จะฮุบมาเป็นของเอกชนได้อย่างไร"
หากพิจารณาการได้เอกสารสิทธิ์ จำนวน 5,083 ไร่ เป็นการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย แม้ตระกูลการเมืองถือครองที่ดินและพักอาศัยในพื้นที่เพียง 300 กว่าไร่ แต่หากพิจารณาถึงเนื้อหามติคณะกรรมการสอบสวน ที่ดินเขากระโดงกลับพบว่า ตรงกับแนวทางข้อต่อสู้คำคัดค้านในการถือครองสิทธิ์ในที่ดินของตระกูลการเมืองใหญ่ค่ายสีน้ำเงิน มีข้อต่อสู้ของทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจและผู้เกี่ยวข้อง ที่คัดค้านต่อคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดงตรงกับมติคณะกรรมการสอบวน “ยุติเรื่อง ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดิน”แทบทั้งสิ้น ที่ตนชี้ช่องให้ว่า กรรมการสอบสวน ขาดความเป็นกลาง ให้จับข้อพิรุธ มติเป็นเอกฉันท์ ให้ยุติเรื่อง
หากการรถไฟแห่งประเทศไทย หลงเหลี่ยม ใช้เวลาในการพิสูจน์สิทธิและไม่โต้แย้งคัดค้าน เท่ากับที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิของเอกชน หากใช้เวลาในการพิสูจน์สิทธิ์ ใช้ระยะเวลานานกว่า ใช้กรอบเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งโดยศาลปกครอง อย่าลืมว่ารัฐบาลสมัยที่ผ่านมา ค่ายสีน้ำเงิน คุมกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำให้ตกเก้าอี้เพราะปมเขากระโดง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะอ้างว่าไม่มีอำนาจและเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งไม่ได้
"ทางออก อธิบดีกรมที่ดิน ใช้อำนาจทบทวนคำสั่งทางปกครอง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 46 โดยเพิกถอนคำสั่งภายในองค์กร และเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ จำนวน 5,038 ไร่ โดยไม่ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแล้วให้เอกชนเช่าในระยะยาว เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาและปฏิบัติตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง และวรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2543"
หากอธิบดีกรมที่ดินยังดื้อแพ่ง อ้างว่า ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองและปฏิบัติตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน ตามที่ให้สัมภาษณ์ เป็นการโชว์เหนือว่า มีความเก่งกาจเรื่องที่ดินสร้างผลงานชิ้นโบแดง ให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองคนหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ เพราะอย่าลืมว่า การแต่งตั้งกรรมการสอบสวน ขาดความเป็นกลาง เป็นคู่กรณีหรือเป็นนอมินี คำสั่งทางปกครองย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีบันทึกนายชัย ชิดชอบ ที่ลงนามไว้ขณะมีชีวิตอยู่ เป็นเอกสารชั้นต้น มัดว่า เป็นที่ดินของการรถไฟฯสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฏีกา
คณะกก.สอบสวนที่ดินใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกม.
ได้อ่านคำชี้แจงของอธิบกรมที่ดิน พยายามวนอยู่ในอ่างหาทางออกไม่ได้ แถมมีรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยยืนยันว่าใช้อำนาจถูกต้อง ถามว่าหากไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองจะออกมาฟอกขาวให้กันทำไม หากย้อนไปศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาศาลปกครองกลางและข้อกฎหมายมาตรา 61 วรรคหนึ่ง และวรรคแปดตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2543 การตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ดินแล้วใช้ดุลพินิจอื่น เป็นอย่างอื่น โดยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หากอ่านกลเกมสอดคล้องกับคำแก้ของทีมทนายตระกูลการเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ที่ถือครองที่ดินแม้บางส่วนก็ตาม แต่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดินเขากระโดง ในชั้นคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดง เชื่อว่า อธิบดีกรมที่ดินคงไม่กล้าทบทวนคำสั่งทางปกครอง เพราะฤดูกาลกฐินยังไม่หมด เชื่อว่ามีคนจองกฐินเยอะเป็นผลงานชิ้นโบแดง ที่ใจกล้าใช้ช่องดุลพินิจของคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดง ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาเป็นหลักป้องกันตนเอง
หากพิจารณาคำแถลงของอธิบดีกรมที่ดิน กล่าวถึงการรังวัดสอบเขตที่ดิน อ้างระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า กรรมการสอบสวนชุดที่ตั้งขึ้นตะละคนมีความเป็นกลาง เป็นคณะกรรมการสอบสวนที่ดินโดยใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่น แทนที่จะช่วยกันติดตามสมบัติของแผ่นดิน กลับใช้ช่องใช้ดุลพินิจ ไม่เชื่อแผนที่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยมติสั่งยุติเรื่องและไม่เพิกถอนที่ดินการรถไฟ
หากพิจารณาจากคำชี้แจงอธิบดีกรมที่ดิน อ้างว่า ไม่ได้ใช้ดุลพินิจ ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางทุกประการ ถามว่า คำพิพากษาศาลปกครองกลาง มีข้อความบรรทัดใด ให้คณะกรรมการสอบสวนเขากระโดง ใช้ดุลพินิจสั่งให้ยุติเรื่องทั้งๆที่สารตั้งต้นที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้เอกชนครอบครองจะมีระยะเวลากี่ปีก็ตาม ไม่สามารถยกอายุความต่อสู้รัฐได้
คดีปกครองก่อนหน้านี้ เป็นการฟ้องให้อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องที่ 2 กรณีละเลย ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งประเด็นที่ศาลปกครองวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดและคดีถึงที่สุด คือ อธิบดีกรมที่ดินละเลย ไม่ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเพื่อเพิกถอนที่ดินเขากระโดง
หากพิจารณาระหว่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาถึงที่สุดว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับคำวินิจฉัยศาลปกครอง คนละส่วนกัน เพราะอธิบดีกรมการปกครองที่ไม่ใช้อำนาจทางปกครองตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2543 เป็นเหตุให้การรถไฟแห่งประเทศไทยยื่นฟ้องบังคับให้กระทำการและเรียกค่าเสียหาย ตามมาตรา 9(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
คำพิพากษาศาลฎีกายังมีผลผูกพันคู่ความ การรถไฟแห่งประเทศไทยยังมีช่องทางในการบังคับคดีเพื่อให้เพิกถอนตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้ โดยตั้งเจ้านพักงานบังคับคดี หากไม่ปฏิบัติตามให้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมให้ไต่สวนให้ศาลมีคำสั่งบังคับตามคำพิพากษา ส่วนในคดีปกครอง รอคำสั่งคำอุทธรณ์ ก่อนนำคำสั่งไปฟ้องศาลปกครอง
เขากระโดงเกิดจากพระบรมราชโองการ ราษฎรไม่ได้สิทธิครอบครอง
หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2543 มาตรา 61วรรคแปด ได้บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอน หรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด”หมายความว่า
คณะกรรมการสอบสวน จะใช้ดุลพินิจขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกาไม่ได้ ดังนั้น การใช้ดุลพินิจไม่เชื่อแผนที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาก็ดี อ้างว่า ท้าย พรฎ.จัดซื้อดิน ปี 2465 ไม่มีแผนที่ดินแนบท้าย หากพิจารณาถึงที่มาของที่ดินที่จัดสร้างทางรถไฟบริเวณเขากระโดง เกิดจากมีพระบรมราชโองการ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานะเป็นกฎหมาย ที่เกิดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ราษฎรไม่สามารถยึดที่ดินมาเป็นของตนเองได้ ทั้งการครอบครองกี่ปีก็ตาม ไม่ได้สิทธิการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์มาตรา 1306
ตั้งคณะกรรมการฯไม่ครบถ้วนไม่โมฆะแต่ไม่ชอบด้วยกม.
ส่วนที่ถามว่า หากตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ดินไม่ครบถ้วนผลทางกฎหมายเป็นโมฆะหรือไม่ “ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน กล่าวว่า ความไม่เป็นกลางก็ดี คณะกรรมการสอบสวนไม่ครบถ้วนก็ดี สถานะความไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายมหาชนในคดีปกครอง มีผลไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่เป็นโมฆะแตกต่างจากกฎหมายเอกชน ตราบใดที่คำสั่งทางปกครอง ไม่มีผลลบล้าง เพิกถอนโดยองค์กรผู้ทรงอำนาจจากองค์กรที่ออกคำสั่งหรือศาลปกครอง คำสั่งทางปกครองมีผลใช้ยันคู่กรณีได้ตลอดไป