posttoday

Apple รับ Siri แอบฟังผู้ใช้จริง แต่ไม่เคยขายข้อมูลเพื่อหารายได้ทางการตลาด

09 มกราคม 2568

Apple ยอมรับ Siri แอบฟังข้อมูลจากบทสนทนาของผู้ใช้ แต่ไม่เคยขายข้อมูลเพื่อจุดประสงค์การหารายได้ทางการตลาด

หลังจาก Apple ยอมจ่ายเงิน 95 ล้านดอลลาร์เพื่อยุติคดีความ Siri แอบฟังผู้ใช้ ทำให้ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ทั้งยังตอกย้ำความเชื่อของหลายฝ่ายว่าบริษัทเทคโนโลยีอาจมีการนำข้อมูลของเราไปใช้ในทางที่ผิด

ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ Apple ยืนยันว่า "บริษัทไม่เคยใช้ข้อมูลจาก Siri เพื่อสร้างโปรไฟล์การตลาด ไม่เคยนำไปใช้เพื่อการโฆษณา และไม่เคยขายข้อมูลให้กับบริษัทอื่นไม่ว่าด้วยจุดประสงค์ใดๆ" พร้อมเน้นย้ำว่าบริษัทกำลังพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับ Siri

Apple รับ Siri แอบฟังผู้ใช้จริง แต่ไม่เคยขายข้อมูลเพื่อหารายได้ทางการตลาด

ประเด็นนี้เกิดขึ้นหลังจาก The Guardian เปิดเผยข้อมูลในปี 2019 โดยระบุว่า พนักงานตรวจสอบเสียง Siri อาจได้ยินข้อมูลส่วนตัวที่ละเอียดอ่อนจากการบันทึกบทสนทนาของผู้ใช้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม Apple ได้ออกมายอมรับข้อผิดพลาดและปรับปรุงนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Siri ใหม่ โดยกำหนดการตั้งค่าให้การบันทึกเสียงสนทนาของผู้ใช้จะไม่ถูกเก็บรวบรวมโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าผู้ใช้มีจุดประสงค์อยากช่วยพัฒนา Siri ก็สามารถให้ความยินยอมแบ่งปันข้อมูลเสียงนั้นได้ โดยบริษัทจะมีการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลอย่างเข้มงวด และไม่เปิดเผยให้กับบุคคลหรือบริษัทภายนอก

คดีความก่อนหน้านี้ เช่น คดีที่ยื่นฟ้องในปี 2021 ผู้ฟ้องร้องบางรายอ้างว่า หลังจากที่ได้เอ่ยถึงชื่อแบรนด์ต่างๆ อย่าง “Olive Garden,” “Easton bats,” “Pit Viper sunglasses” และ “Air Jordans” พวกเขาได้รับโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากขึ้น ซึ่งผู้ฟ้องร้องเชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่ Siri ดักฟังและนำข้อมูลไปใช้หารายได้จากการแสดงโฆษณา

แม้ Apple จะออกมาค้านหัวชนฝา แต่ความสงสัยจากผู้ใช้ยังมีมาอย่างต่อเนื่อง หากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ยืนยันว่าไม่ได้แอบสอดแนมบทสนทนาของเรา แล้วเหตุใดเราจึงมักพบโฆษณาที่ตรงกับสิ่งที่เราพูดถึงในเวลาต่อมาได้อย่างน่าประหลาดใจ?

Apple รับ Siri แอบฟังผู้ใช้จริง แต่ไม่เคยขายข้อมูลเพื่อหารายได้ทางการตลาด

มีการศึกษาและวิจัยหลายครั้งที่พยายามหาคำตอบในประเด็นนี้ ตัวอย่างเช่น การศึกษาในปี 2018 พบว่าแม้จะไม่มีหลักฐานการสอดแนมผ่านไมโครโฟน แต่ก็มีการบันทึกกิจกรรมบนหน้าจอของผู้ใช้และส่งข้อมูลไปยังบุคคลที่สาม ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล

ระบบโฆษณาออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลของผู้ใช้ได้อย่างละเอียด โดยอาศัยทั้งข้อมูลการค้นหาของผู้ใช้และข้อมูลจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือแม้แต่ข้อมูลที่รวบรวมมาจากแอปพลิเคชันในมือถือของเรา บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Google และ Facebook ก็มีการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการสร้างโปรไฟล์ของผู้ใช้ เพื่อนำเสนอโฆษณาที่ตรงกับความสนใจของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น