บริษัทญี่ปุ่นประสบวิกฤติขาดแคลนแรงงานรุนแรงท่ามกลางสังคมสูงวัย
ผลสำรวจล่าสุดจากรอยเตอร์เผยว่า บริษัทญี่ปุ่นกว่าสองในสามกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการที่ประชากรของประเทศมีแนวโน้มลดลงและมีอายุสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าการขาดแคลนแรงงานกำลังอยู่ในระดับวิกฤติ โดยเฉพาะในภาคบริการและธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จากการสำรวจพบว่า 66% ของบริษัทระบุว่าได้รับผลกระทบรุนแรงถึงค่อนข้างรุนแรง ขณะที่ 32% ระบุว่าได้รับผลกระทบไม่มากนัก
สถานการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการล้มละลายของธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 มีบริษัทล้มละลายจากปัญหาขาดแคลนแรงงานถึง 342 ราย เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อน นับเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
บริษัทญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาด้วยหลายวิธี โดย 69% เพิ่มความเข้มข้นในการรับพนักงานใหม่ และ 59% ขยายอายุเกษียณหรือจ้างพนักงานที่เกษียณอายุกลับเข้ามาทำงาน ผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขเผยเมื่อปีที่แล้วระบุว่า อายุเกษียณอย่างเป็นทางการกำหนดไว้ที่ 60 ปีสำหรับประมาณ 2 ใน 3 ของบริษัทญี่ปุ่น แม้ว่าส่วนใหญ่จะออกมาตรการที่อนุญาตให้พนักงานทำงานต่อไปได้จนถึงอายุ 65 ปีก็ตาม นอกจากนี้ บริษัทส่วนใหญ่วางแผนเพิ่มการลงทุนด้านเงินทุนและทรัพยากรบุคคล รวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อรักษาพนักงานอีกทางหนึ่งด้วย
ผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานและค่าเงินเยนที่อ่อนตัวทำให้ 44% ของบริษัทวางแผนขึ้นราคาสินค้าและบริการในปีนี้ ขณะที่ 26% จะปรับราคาบางรายการ และ 17% จะคงราคาเดิม ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคหลักของโตเกียวในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่มขึ้น 2.2%