ใจสลาย! แผ่นดินไหวเมียนมา คร่าชีวิตเด็กอนุบาลอย่างน้อย 50 ราย
ยอดผู้เสียชีวิตแผ่นดินไหวเมียนมาแตะ 2,700 รายแล้ว โดยในจำนวนนี้มีเด็กอนุบาลอย่างน้อย 50 ราย ที่เสียชีวิตจากอาคารโรงเรียนอนุบาลพังถล่มในเมืองมัณฑะเลย์
หลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา
ล่าสุดมียอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงกว่า 2,700 รายแล้ว โดยในจำนวนนี้มีเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างน้อย 50 ราย จากเหตุการณ์อาคารโรงเรียนอนุบาลพังถล่ม
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) รายงานว่า ในพื้นที่มัณฑะเลย์ นอกเหนือจากเด็กอนุบาลที่เสียชีวิตแล้ว ยังมีครูอีก 2 รายที่เสียชีวิต
"ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุด ผู้รอดชีวิตจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร ที่พักพิง และน้ำดื่มสะอาด” OCHA ระบุในรายงาน
ข้อมูลล่าสุดจากสถานีโทรทัศน์ของจีนระบุยอดผู้เสียชีวิตเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมาว่าอยู่ที่ 2,719 ราย และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 4,500 คน
ขณะที่นายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา คาดการณ์ว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 3,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ารายงานของสื่อรัฐบาล
แผ่นดินไหวครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรอบกว่าศตวรรษ แรงสั่นสะเทือนได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ทั้งเจดีย์โบราณอันเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมถึงอาคารสมัยใหม่จำนวนมากที่พังทลายราบเป็นหน้ากลอง
ทางคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (IRC) เน้นย้ำว่า ผู้ประสบภัยในพื้นที่ใกล้เคียงจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว เช่น เมืองมัณฑะเลย์ ต้องการที่พักพิง อาหาร น้ำดื่ม และการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งใหญ่นี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญจากสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในเมียนมา หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2564
องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล
ในขณะเดียวกัน กลุ่มกบฏได้กล่าวหารัฐบาลทหารว่าได้ทำการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
"กองทัพเมียนมามีประวัติในการขัดขวางความช่วยเหลือที่จะเข้าไปยังพื้นที่ที่กลุ่มต่อต้านปฏิบัติการอยู่" โจ ฟรีแมน นักวิจัยด้านเมียนมาของแอมเนสตี้กล่าว
"พวกเขาต้องอนุญาตให้องค์กรด้านมนุษยธรรมทุกแห่งเข้าถึงพื้นที่ได้ทันทีโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ และยกเลิกอุปสรรคด้านการบริหารที่ทำให้การประเมินความต้องการความช่วยเหลือต้องล่าช้า"
นอกจากนี้ การควบคุมเครือข่ายการสื่อสารอย่างเข้มงวดของรัฐบาลทหาร รวมถึงความเสียหายต่อถนน สะพาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกิดจากแผ่นดินไหว ยังเป็นปัจจัยที่เพิ่มความยากลำบากอย่างมากให้กับเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์