posttoday

สัปดาห์นี้ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี

08 พฤษภาคม 2554

ดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุด 2 ดวง จะปรากฏใกล้กันเมื่อสังเกตจากโลก โดยมีดาวพุธกับดาวอังคารปรากฏอยู่ไม่ไกลจากทั้งคู่มากนัก

ดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุด 2 ดวง จะปรากฏใกล้กันเมื่อสังเกตจากโลก โดยมีดาวพุธกับดาวอังคารปรากฏอยู่ไม่ไกลจากทั้งคู่มากนัก

ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีปรากฏใกล้กันโดยเฉลี่ยปีละครั้ง บางปีไม่มีเลยแม้แต่ครั้งเดียว บางปีอาจมีได้ถึง 2 ครั้ง ครั้งล่าสุดเป็นที่จดจำสำหรับคนไทย เกิดขึ้นเมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 1 ธ.ค. 2551 ห่างกัน 2 องศา และมีจันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้ๆ ดูคล้ายหน้าคน ซึ่งหลายคนเรียกว่า “พระจันทร์ยิ้ม”

สัปดาห์นี้ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี

ปีนี้ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีจะอยู่ใกล้กันที่สุดในเช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 12 พ.ค. ห่างกันเพียง 0.6 องศา ระยะขนาดนี้ เมื่อเราเหยียดแขนแล้วยกนิ้วขึ้นมาเพียงนิ้วเดียว ก็สามารถบังดาวทั้งสองดวงได้ ดวงที่สว่างกว่าคือดาวศุกร์ สว่างกว่าดาวพฤหัสบดีประมาณ 5 เท่า นอกจากดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีแล้ว ใกล้กันยังมีดาวพุธอยู่ทางขวาและดาวอังคารอยู่ต่ำลงมา เยื้องไปทางซ้ายมือ

สิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคทำให้ไม่เห็นก็คือสภาพท้องฟ้าที่บางวันอาจมีเมฆหรือฝน ดังนั้นเราอาจไม่จำเป็นต้องสังเกตเฉพาะวันที่ 12 พ.ค.เพียงวันเดียว วันที่ 11 และ 13 พ.ค. คือก่อนหน้าและหลังจากวันนั้น ก็มีโอกาสเห็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงกันด้วยระยะห่างที่ไกลกว่าวันที่ 12 เล็กน้อย การปรากฏใกล้กันของดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีในช่วง 23 วันดังกล่าวนี้เป็นเพียงมุมมองจากโลก ในความเป็นจริง ทั้งคู่มีระยะห่างกันในอวกาศไกลถึงราว 650 ล้านกิโลเมตร

เมื่อใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ส่องดูดาวพฤหัสบดี ยังจะมีโอกาสเห็นดาวบริวารขนาดใหญ่ 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด และคัล ลิสโต เรียกบริวาร 4 ดวงนี้ว่าดาวบริวารกาลิเลโอ เพื่อเป็นเกียรติแก่กาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี เขาจดบันทึกตำแหน่งดาวบริวารทั้งสี่เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยาย 20 เท่า ซึ่งทำให้เขาค้นพบว่าดาวดวงเล็กๆ เหล่านี้โคจรรอบดาวพฤหัสบดี เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้กาลิเลโอแน่ใจว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล

ปีหน้าเราจะมีโอกาสเห็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้กัน 2 ช่วง ช่วงแรกเกิดขึ้นในเวลาหัวค่ำของกลางเดือน มี.ค. 2555 อีกช่วงหนึ่งเกิดขึ้นในเวลาเช้ามืดของต้นเดือน ก.ค. 2555 แต่ทั้งสองช่วง ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีจะอยู่ไกลกันด้วยระยะเชิงมุม 3 และ 5 องศา ตามลำดับ ซึ่งไกลกว่าคราวนี้หลายเท่า จากนั้นค่ำวันที่ 28 พ.ค. 2556 ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีจะใกล้กันราว 1 องศา โดยมีดาวอังคารอยู่ห่างออกไปเพียง 3 องศา แต่ปรากฏการณ์นี้อาจสังเกตได้ยากสักหน่อย เพราะอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มากนัก

สัปดาห์นี้ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (8–15 พ.ค.)

ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำมีดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่สามารถสังเกตเห็นได้อยู่ดวงเดียว ดาวเสาร์เริ่มปรากฏทางทิศตะวันออกที่มุมเงยประมาณ 50 องศา จากนั้นมันจะเคลื่อนสูงขึ้นไปอยู่สูงสุดทางทิศใต้ในเวลาก่อน 4 ทุ่มเล็กน้อย แล้วเคลื่อนต่ำลงจนตกลับขอบฟ้าราวตี 4

ราว 45 นาที ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หรือประมาณตี 5 มีโอกาสเห็นดาวเคราะห์ 4 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี ปรากฏใกล้กันเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก นอกจากท้องฟ้าต้องเปิด ไม่มีเมฆหมอกบดบังแล้ว ยังต้องอาศัยขอบฟ้าที่เปิดโล่ง เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสี่อยู่ค่อนข้างต่ำ

ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดีสว่างพอที่จะสังเกตได้ง่าย ดาวอังคารอยู่ต่ำที่สุดและสว่างน้อยที่สุด อาจสังเกตได้ยากที่สุดใน 4 ดวงนี้ เช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 12 พ.ค. เป็นวันที่ดาวเคราะห์ 4 ดวงนี้เข้าใกล้กันที่สุด สามารถสังเกตเห็นได้พร้อมกันในมุมมองของกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายต่ำ

สัปดาห์นี้เป็นข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำของทุกวัน วันอาทิตย์ที่ 8 พ.ค. ดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 5 ทุ่ม หลังจากนั้นดวงจันทร์จะตกช้าลงทุกวัน วันละประมาณ 50 นาที วันพุธที่ 11 พ.ค. ดวงจันทร์ทำมุมฉากกับดวงอาทิตย์ จะเห็นดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงอยู่เหนือศีรษะหลังจากดวงอาทิตย์ตก และเป็นคืนที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวหัวใจสิงห์ ดาวสว่างในกลุ่มดาวสิงโต ดาวสว่างที่เห็นอยู่ทางซ้ายมือของดวงจันทร์ในช่วงหัวค่ำวันเสาร์ที่ 14 พ.ค. คือดาวเสาร์ ขณะนั้นอยู่ห่างกันเป็นระยะเชิงมุม 8 องศา

ค่ำวันอังคารที่ 10 พ.ค. สถานีอวกาศนานาชาติจะโคจรผ่านเหนือท้องฟ้าประเทศไทย เห็นเป็นดาวสว่างข้ามท้องฟ้าในช่วงเวลาประมาณ 19.37 19.40 น. (อาจคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย) กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงจะเห็นสถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศเหนือ จากนั้นเคลื่อนสูงไปทางขวามือ ทำมุมเงยสูงสุดราว 40 องศา แล้วหายเข้าไปในเงามืดของโลกในจังหวะนั้น

ค่ำวันพุธที่ 11 พ.ค. สถานีอวกาศนานาชาติปรากฏในช่วงเวลาประมาณ 20.00–20.03 น. (อาจคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย) แต่จางกว่าและอยู่ต่ำกว่าครั้งที่ผ่านมา กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงจะเห็นสถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จากนั้นเคลื่อนไปทางซ้ายมือ ทำมุมเงยสูงสุดราว 25 องศา พร้อมกับหายเข้าไปในเงามืดของโลกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ องค์การนาซามีกำหนดส่งกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ขึ้นสู่อวกาศในวันอังคาร หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ค่ำวันพุธนี้อาจเห็นกระสวยอวกาศโคจรอยู่ไม่ไกลจากสถานีอวกาศมากนัก