รู้จัก Karen Design กิจการที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเผาป่า-ชุมชนขาดรายได้
Karen Design กิจการเพื่อสังคมที่ใช้ “กะเหรี่ยงคราฟต์” วิถีชีวิตและภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยง แก้ปัญหาการเผาป่า - ชุมชนขาดรายได้
ชุมชนแม่โถน้อย บนยอดดอยสูงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ “ชาวกะเหรี่ยง” ที่พึ่งพาการปลูกข้าวโพดเป็นรายได้หลัก กำลังเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการทำไร่ข้าวโพดแบบดั้งเดิมไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับชุมชน และการเผาพื้นที่เพาะปลูกทุกปี ยังก่อให้เกิดมลพิษ PM 2.5 อีกด้วย
ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงได้กลายเป็นแรงบันดาลใจใหม่ในการสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวของสองพี่น้องผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม “Karen Design” (คาเรน ดีไซน์) อย่างนางสาวจีรพันธ์ และนายชุณวัณ บุญมา ที่นำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงมาผสานเข้ากับดีไซน์ที่ทันสมัย จนกลายเป็นงานคราฟต์ 2 สไตล์ได้อย่างลง
แฟชั่นผ้าทอสไตล์กะเหรี่ยง ได้ถูกปรับโฉมให้ร่วมสมัย ใส่ได้ทุกวันแบบไม่เคอะเขิน และ “โคมไฟจากเปลือกข้าวโพด” ที่นำวัสดุเหลือทิ้งมาสร้างเป็นงานคราฟต์ที่มีเอกลักษณ์ โดยหลังการเข้าร่วมโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (Banpu Champions for Change: BC4C) ปีที่ 13 กับ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน ChangeFusion สองพี่น้องสามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้จนสามารถสร้างรายได้ถึงหลักแสนและเพิ่มการกระจายรายได้ให้ชุมชนในเวลาไม่ถึง 1 ปี
สร้างทางเลือกอาชีพใหม่ด้วย “กะเหรี่ยงคราฟต์”
นางสาวจีรพันธ์-นายชุณวัณ บุญมา สองพี่น้องผู้ก่อตั้ง Karen Design กล่าวว่า Karen Design เกิดจากปัญหาปากท้องของคนในชุมชนแม่โถน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีทางเลือกในการทำมาหากินไม่มากไปกว่าการปลูกข้าวโพดและธัญพืชอื่นๆ บนดอย มีความลำบากในการเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐาน เช่น การไม่มีไฟฟ้าใช้เวลาฝนตก สัญญาณโทรศัพท์ติดขัด การเดินทางที่ยากลำบากเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ความอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในบ้านของเรา ทำให้ต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ จึงนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกมองข้ามอย่างการทอผ้ากะเหรี่ยง มาต่อยอดให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ทำให้สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวันไม่เชย และ ไม่จำเป็นต้องใส่เฉพาะพิธีสำคัญอย่าง ‘การแต่งงาน’ เท่านั้น
เมื่อมองเห็นลู่ทางนี้ จึงขยายเครือข่ายรวมกลุ่มแม่บ้าน และดัดแปลงสินค้าให้มีหลายหลาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ ชุดเดรส ย่าม และอื่นๆ รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เปลือกข้าวโพด วัสดุเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวในภาคการเกษตรให้เป็นโคมไฟตกแต่งที่ทันสมัย สไตล์มินิมอล ตอบโจทย์คนชอบแต่งบ้านด้วยวัสดุธรรมชาติ”
สร้างรายได้หลักแสน
จากองค์ความรู้-ทุนสนับสนุน ในโครงการ Banpu Champions for Change ทำให้ได้รับโอกาสและแรงบันดาลใจ จากเพื่อนๆ และรุ่นพี่ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม รวมถึงคณะกรรมการและพี่เลี้ยงซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ทำให้เราสามารถตั้งหลักด้านความคิด และกำหนดเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เราเริ่มต้นด้วยการคำนวณต้นทุนและตั้งราคาขายโดยการกำหนดกำไรที่เหมาะสม พร้อมศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าอย่างละเอียด โดยโครงการฯ ให้ทุน 80,000 บาท
ในช่วงทดลองตลาด 3 เดือน จึงเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะการโปรโมทบน TikTok ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้สามารถสร้างยอดขายสินค้าทั้ง 2 แบบ ได้เกือบ 250,000 บาท แบ่งเป็น
- ออเดอร์ผ้าทอกะเหรี่ยงกว่า 200 ตัว สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน 2,000 – 5,000 บาทต่อเดือน
- ออเดอร์โคมไฟจากเปลือกข้าวโพด จำนวนกว่า80 ตัว สร้างรายได้ต่อคนประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน
เปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเป็นไม้ผล-พืชเศรษฐกิจอื่น
Karen Design มุ่งเน้นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยชวนชาวบ้านลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดและหันมาเพาะปลูกไม้ผล ไม้เศรษฐกิจและไม้ดั้งเดิมทดแทนปัจจุบันสามารถลดจำนวนข้าวโพดได้มากกว่า 50% หรือประมาณ 195 จาก 390 ไร่ ช่วยลดการเผาป่าและเพิ่มความหลากหลายทางการเกษตรให้กับพื้นที่ในอนาคต และยังวางแผนขยายฐานการผลิตไปยังชุมชนอื่นๆ เพื่อรองรับออเดอร์ที่เพิ่มขึ้น
ที่สำคัญ Karen Design ได้นำทุนสนับสนุนจากการเป็นหนึ่งในสามผู้ชนะในโครงการ BC4C จำนวน 250,000 บาท มาใช้ในการพัฒนาระบบการผลิตให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้ที่ต่อเนื่องให้กับคนในชุมชน
บ้านปู ดันศักยภาพ SE รุ่นใหม่
ด้านนายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการ BC4C ว่า บ้านปูรู้สึกชื่นชมแพสชันอันแรงกล้าของ SE ที่มีใจรักสิ่งแวดล้อมและกล้าที่จะนำพาชุมชนของตนเองสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ‘Karen Design’ มีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค สามารถนำความรู้ที่ได้จากโครงการฯ ไปต่อยอดโมเดลธุรกิจและสร้างอิมแพคต่อชุมชน โดยมีการวัดผลที่ชัดเจน
“หวังว่า Karen Design จะเป็นแรงบันดาลใจให้ SE คนรุ่นใหม่ โดยบ้านปูจะยังคงร่วมสร้างระบบนิเวศกิจการเพื่อสังคม (SE Ecosystem) ของไทยให้ขยายอย่างแข็งแกร่งร่วมกับภาคีเครือข่าย สำหรับในปี 2568 ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมท่านใดสนใจเข้าร่วมโครงการ BC4C ปีที่ 14 กำลังจะเปิดรับสมัครเร็วๆ นี้ สามารถติดตามจากเพจ Banpu Champions for Change”