posttoday

โรคกระดูกพรุน การเตรียมพร้อมและป้องกัน

27 มกราคม 2561

ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

 โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล        [email protected]

 ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประชากรกลุ่มนี้ที่จะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

 โรคกระดูกพรุนเกิดจากมีมวลกระดูกลดต่ำลง จนเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุของกระดูกหักได้สูง เป็นโรคพบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง เป็นโรคของผู้ใหญ่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้หญิงพบเกิดได้บ่อยกว่าผู้ชาย ปัจจุบันจัดเป็นอีกโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขรวมทั้งในประเทศไทยด้วย

 โรคกระดูกพรุน หมายถึง โรคที่มวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามวลกระดูกมาตรฐาน ซึ่งเรียกว่า ค่าทีสกอร์ (ค่า T- score ในคนปกติคือ ไม่ต่ำกว่า 1) ตั้งแต่ ลบ 2.5 ของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ค่าเอสดี หรือ SD, Standard deviation) ขึ้นไป หรือทางแพทย์ใช้เขียนเป็นตัวเลขตั้งแต่ ลบ 2.5 เอสดีขึ้นไป

 เมื่อพยาธิสรีระมีการเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ควรต้องระมัดระวังให้มากที่สุดในผู้สูงอายุ ผศ.นพ.สมบัติ โรจน์วิโรจน์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่ากระดูกพรุนมีสาเหตุเกิดจากการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกบางลง

 “หากนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงเปลือกไข่เปราะๆ บางๆ แตกหักง่าย ทำให้บางคนตัวเตี้ยลง เนื่องจากกระดูกโปร่งบางและยุบตัวช้าๆ ที่น่าเป็นห่วง คือผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเกิดกระดูกแตกหักง่ายกว่าคนทั่วไป”

 จะทราบได้อย่างไรว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุน โดยทั่วไปกระดูกที่พรุนหรือมวลกระดูกบางลงจะไม่มีอาการแสดงออก ผศ.นพ.สมบัติ เรียกว่าเป็นภัยเงียบที่ซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งมีวิธีการตรวจ คือการสกรีนด้วยอัตราซาวด์ที่ข้อมือ และข้อเท้า เพื่อเป็นการตรวจคัดกรอง

 “หากพบความผิดปกติก็จะต้องตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องตรวจวัดมวลกระดูก ซึ่งผู้สูงอายุเวลามีกระดูกพรุนจะไม่ได้พรุนเฉพาะจุด จึงต้องตรวจวัดที่สะโพกและกระดูกสันหลัง เพราะเป็นจุดที่เห็นชัดที่สุดที่ถือเป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก”

โรคกระดูกพรุน การเตรียมพร้อมและป้องกัน

 สำหรับค่าการวัดที่ได้จะเปรียบเทียบกับคนปกติทั่วไปวัย 35  ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่มวลกระดูกหนาแน่นที่สุด ผศ.นพ.สมบัติ  บอกว่าถ้าใครผลออกมาเป็นผลบวก จนถึง ลบ 1 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าต่ำกว่า ลบ 1 ถึง ลบ 2.5  แสดงว่ากระดูกบางลง เนื่องจากมวลกระดูกลดลง แต่ถ้าใครตรวจแล้วพบว่าต่ำว่า ลบ 2.5 จะถูกวินิจฉัยว่า กระดูกพรุนต้องได้รับการรักษา

 “หากเกิดเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิด นั่นคือผู้สูงอายุหกล้มกระดูกหัก โดยอวัยวะที่หักพบบ่อยใน 3 ส่วน คือ ข้อมือ สะโพก และกระดูกสันหลัง จากการข้อมูลทั่วไปพบว่า หากข้อมือหัก หรือกระดูกสันหลังทรุด กระดูกจะมีรูปร่างบิดเบี้ยวไป หลังก็ค่อมลงๆ แต่มักจะไม่ถึงขั้นเสียชีวิต ยกเว้นกรณีที่ทรุดไปมากหรือมีการกดทับเส้นประสาทก็ต้องรับการรักษาเฉพาะทาง

 แต่ถ้ากระดูกสะโพกหัก ปัญหาคือความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ไม่สามารถลุกยืนเดินได้ ต้องนอนติดเตียงเสี่ยงกับโรคแทรกซ้อนต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเกินกว่า 95% ต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วน แต่ที่สำคัญคือการรักษาแบบองค์รวมของหลากหลายสาขาอย่างมีระบบจะช่วยให้เกิดความรวดเร็ว ปลอดภัย”

 ในส่วนวิธีการผ่าตัดในผู้ป่วยแต่ละคนนั้น ผศ.นพ.สมบัติ ชี้ว่าแพทย์ต้องเลือกว่าเหมาะกับการรักษาวิธีใด เพราะมีรูปแบบการรักษาต่างๆ เช่น ผ่าตัดใส่แท่งโลหะยาวๆ มีสกรูยึด หรือมีเรื่องของการใช้ซีเมนต์เสริม

 “บางรายอาจใช้ข้อสะโพกเทียม หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ววันที่ 2-5 ผู้ป่วยต้องเริ่มทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพ พยายามให้ลุกออกจากเตียง ฝึกการนั่ง ยืน เดิน และการทรงตัว ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักส่วนใหญ่ที่นอนติดเตียง อาจส่งผลร้ายตามมา”

 มีข้อมูลที่มีการอ้างอิงออกมาว่า เมื่อกระดูกสะโพกหักแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย 20% มักเสียชีวิต ภายใน 1 ปี 30% พิการถาวร 40% ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงในการเดิน ที่สำคัญคือไม่สามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนปกติก่อนกระดูกหัก ฉะนั้น ผศ.นพ.สมบัติ จึงเน้นย้ำเสมอว่าอย่าให้มีกระดูกหักครั้งแรก เพราะก็อาจจะมีครั้งต่อๆ ไปตามมา จนเข้าสู่วงจรเศร้าสลด

 “หมายความว่าผู้สูงวัยเมื่อไหร่ที่เริ่มล้ม ก็มีโอกาสที่จะล้มซ้ำได้อีก เมื่อล้มแล้วล้มอีกก็ต้องทนทุกข์ทรมานผ่าตัดซ้ำๆ อยู่แบบนี้ สุดท้ายก็ต้องเสียชีวิตจากโรคอื่นที่แทรกซ้อนและรุมเร้าเข้ามา ดังนั้นจึงต้องป้องกันไม่ให้ล้มซ้ำ การป้องกันการล้มซึ่งมีหลากหลายวิธี ได้แก่ การฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเพื่อมาประคองกระดูกไว้ การฝึกการทรงตัวและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ส่วนออกกำลังกายชนิดที่มีการลงน้ำหนัก ได้แก่ วิ่งเหยาะๆ เดินเร็ว ก็มีส่วนช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น”

 สำหรับการรักษากระดูกพรุน ผศ.นพ.สมบัติ บอกว่ามีหลักการคือ การให้ร่างกายเสริมสร้างโครงกระดูกด้วยการสะสมแคลเซียม เช่น การเสริมอาหารหรือการเสริมแคลเซียมในปริมาณที่พอเหมาะ

 ทั้งนี้ อาจจะต้องใช้ยาช่วยยับยั้งการสลายแคลเซียมจากกระดูก หรือยาฮอร์โมนบางประเภทร่วมด้วย ยาฉีดที่เป็นฮอร์โมน เรียกว่า พาราไทรอยด์ฮอร์โมน ที่ช่วยกระตุ้นในการสร้างกระดูกและช่วยรักษาให้การดูดซึมของแคลเซียมออกจากกระดูกน้อยลง และต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการหัก

 “สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเอง และทำให้มวลกระดูกของเรามีความหนาแน่นเหมือนกับตอนอายุ 35 เพราะเมื่อสูงวัยขึ้นมวลกระดูกก็จะลดลงอย่างช้าๆ สิ่งสำคัญคือการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคกระดูกพรุนให้มากขึ้น ถึงสาเหตุหรือองค์ประกอบที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน ไม่ว่าจะพันธุกรรมหรือปัจจัยเสี่ยง รวมถึงพฤติกรรมการบริโภค และการออกกำลังกายซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

 การป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำอีกคือต้องดูแลในเรื่องคุณภาพกระดูกให้แข็งแรงใกล้เคียงกระดูกปกติ ได้แก่ เรื่องยาพื้นบ้าน คือแคลเซียม ปริมาณพอเหมาะอยู่ที่ 800-1,000 มิลลิกรัม/วัน หากรับประทานเกินไปถึง 2,000-3,000 มิลลิกรัม ก็จะดูดซึมได้ไม่หมด อาจเกิดท้องผูกและผลเสียด้านอื่นได้ และทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

 อีกตัวหนึ่งคือวิตามินดี ซึ่งผิวหนังร่างกายคนเราสามารถสร้างได้จากการโดนแสงแดด จึงควรตากแดดประมาณ 30 นาที แนะนำให้ใส่กางเกงขาสั้น เสื้อแขนสั้นไม่ต้องทาครีมกันแดด ในช่วงเวลา 8-9 โมงเช้า แต่ถ้าใครไม่อยากตากแดดก็มีอีกวิธีหนึ่งคือนำเห็ดสดๆ ไปตากแดดในช่วงแดดจัดๆ ประมาณ 1 ชม. เห็ดสดจะสร้างวิตามินดีเก็บไว้ เมื่อนำเห็ดนั้นมาปรุงอาหารรับประทาน ก็จะทำให้ได้รับวิตามินดีได้แบบเต็มๆ”

 ผศ.นพ.สมบัติ ทิ้งท้ายว่า การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมมากๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น คะน้า บร็อคโคลี่ นม และผลิตภัณฑ์ของนม ปลาตัวเล็กตัวน้อย เต้าหู งาดำ ก็ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุนยามเมื่อกลายเป็นผู้สูงวัยในอนาคต