posttoday

มนุษย์สายพันธุ์ใหม่ Active Citizen

28 กุมภาพันธ์ 2560

Active Citizen ไม่ใช่นิยามศัพท์ใหม่ แต่ในแถบประเทศทางยุโรป อเมริกา

โดย...มัลลิกา

Active Citizen ไม่ใช่นิยามศัพท์ใหม่ แต่ในแถบประเทศทางยุโรป อเมริกา ได้ผลักดันให้พลเมืองของเขาเติบโตมาด้วยแนวคิดและการกระทำคือ มีความรับผิดชอบต่อตัวเองไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตอาสา ช่วยเหลือหรือพึงกระทำสิ่งต่างๆ โดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน มีจิตเห็นแก่ประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก รักธรรมชาติ และมีจิตหวงแหนรักษา ซึ่งในประเทศไทยได้มีการนำประเด็นนี้ขึ้นมาถกกันอยู่เนืองๆ แต่ยังไม่เป็นรูปร่างหรือถูกร่างเป็นวาระของชาติแต่อย่างใด มีเพียงหย่อมๆ ที่ต้องการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการเติบโตขึ้นมาอย่างมีจิตสาธารณะ

สร้าง Active Citizen

ในโอกาสครบรอบ 25 ปี นานมีบุ๊คส์ ที่ผ่านมาได้ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้าง Active Citizen เชื่อมั่นว่าเป็นหนึ่งในกลไกที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้เป็นคนเก่ง คนดี ไม่เพียงรับผิดชอบต่อตัวเอง แต่ยังรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทย จึงได้จัดเสวนาเผยแพร่แนวคิดในหัวข้อ “ทำไมประเทศไทยต้องมี Active Citizen คนเก่ง คนดี รับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อสังคม?”

คิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ กล่าวว่า ต้องการส่งเสริมเรื่องการสร้าง Active Citizen ที่จำเป็นต้องมีทักษะที่สำคัญ 7 คุณสมบัติ คือ 1.เป็นพลเมืองที่ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ 2.รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดเป็นทำเป็น แก้ปัญหาได้ 3.สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4.มีภาวะผู้นำ มีอุดมการณ์ 5.รักธรรมชาติรักแผ่นดิน 6.มีทักษะวิชาชีพ และ 7.มีความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดคิดนอกกรอบ

“บริษัทเราเกิดขึ้นเพราะคุณแม่ (สุวดี จงสถิตย์วัฒนา) เชื่อว่าการศึกษาพัฒนาสังคมได้และเราจะเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อน ปัจจุบันมีหลายคนถามว่าสำนักพิมพ์ปิดตัวเยอะเราอยู่ลำบากไหม ตอบว่า เราจะไม่เป็นสำนักพิมพ์แต่เราต้องเป็นเลิร์นนิ่ง เซอร์วิส โพรไวเดอร์ เราทำค่ายอบรม หลักสูตรการเรียนรู้ เพราะเราเข้าใจว่าทุกคนไม่เหมือนกัน ถูกปลุกเร้าไม่เหมือนกัน

เชื่อว่าหากได้เรียนรู้ในแบบแอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง เชื่อมโยงกับความหมายชีวิตที่สนใจก็สามารถเป็นเครื่องมือช่วยสร้าง Active Citizen มองว่าหากประเทศของเรามี Active Citizen จะสามารถทำให้สังคมมีความหมายและน่าอยู่มากขึ้นค่ะ สิ่งที่จะพาไปสู่จุดนั้นได้ ถ้าจะทำให้สำเร็จต้องจับมือกับเครือข่ายครอบครัวและเครือข่ายโรงเรียน เพราะมีอิทธิพลในการสร้างคน”

มนุษย์สายพันธุ์ใหม่ Active Citizen คิม จงสถิตย์วัฒนา

รากฐานสำคัญแต่ใครคือผู้สร้าง

อังกฤษเป็นประเทศผู้นำในเรื่องแนวคิด Active Citizen รัฐบาลบังคับให้การศึกษาเรื่อง Citizenship แก่เด็กทุกคนจนถึงอายุ 14 ปี ปัจจุบันขยายถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงมหาวิทยาลัย และได้แพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐ อย่าง จีน ก็ฉีกกฎการสอนภาษาจีนสร้างแรงบันดาลใจ ให้ครูผู้สอนภาษาพาไปนอกห้องเรียนเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้ง สวยงาม ที่ญี่ปุ่น หลายโรงเรียนไม่มีภารโรง แต่ให้นักเรียนทุกคนช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด

จะเห็นว่านอกจากจุดเริ่มต้นหน่วยเล็ก ครอบครัว เมื่อเด็กเข้าสู่อ้อมกอดของโรงเรียน ครูคือผู้สานต่อ หากแต่แรงสนับสนุนที่ไม่ควรจะขาดไปคือภาครัฐที่ต้องหันมามอง

“จะดีเพียงใด ถ้าทุกคนไม่ต้องรอเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น” --- (แอนน์ แฟรงส์)

ยูวาล วัคส์ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต ฝ่ายการเมืองและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย ได้นำคำเขียนของ “แอนน์ แฟรงส์” มาเปิดประเด็นในการสร้าง Active Citizen ในประเทศอิสราเอล มี 4 องค์ประกอบ คือ 1.ระบบการศึกษา 2.กิจกรรมของเยาวชน 3.การเข้าเป็นทหาร 4.ครอบครัว

“อิสราเอลมีนักเรียน 2.5 ล้านคน ใช้งบประมาณสนับสนุนการศึกษา 14.5% มีโรงเรียนประชาธิปไตยใช้เวลาเรียนตามหลักสูตร 75% อีก 25% เรียนอิสระตามความชอบของตัวเอง มีกลไกมากำกับแต่ให้นักเรียนคิดตัดสินใจ รับผิดชอบต่อตัวเอง

เมื่ออายุ 18 ปี ทั้งชายหญิงต้องไปเป็นทหารทุกคน หลังจาก 2 ปีนั้น พวกเขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องเผชิญโลก ตัดสินใจในเรื่องสำคัญด้วยตัวเอง พวกเขาจะมีวิธีคิดที่ลุ่มลึกขึ้น ส่วนกระบวนการคนหนุ่มสาว เริ่มตั้งแต่ประถม 6-มัธยม 6 มีหลายกลุ่มมาก เด็กๆ จะมาร่วมตัวกันนอกห้องเรียนจะมีพี่เลี้ยง เช่น มาคุยกันถึงหนังสือที่อ่าน คุยกันถึงปัญหาสังคม ทำให้เขาซึมซับเข้าไปในชีวิตประจำวัน

มนุษย์สายพันธุ์ใหม่ Active Citizen

มีปรากฎกาณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอิสราเอล คนเรียนคณิตศาสตร์น้อยลงทุกที ประเทศเราต้องแย่แน่ ถ้าคนสนใจวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์น้อยลง รัฐบาลได้เข้าไปคุยกับมหาวิทยาลัย ทำยังไงให้นักเรียนสนใจเข้าเรียนสายนี้ มีทุนการศึกษาให้นักศึกษา มีงบให้มหาวิทยาลัย มีให้รัฐมนตรีเดินทางไปโรงเรียนต่างๆ สอนเลขให้กับเด็กๆ ด้วย”

ด้าน มาเร็น นีไมเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย เผยแพร่แนวคิดและวิธีการสร้าง Active Citizen ในประเทศเยอรมนี พร้อมแนะแนวทางสำหรับประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ

สำหรับประเทศเยอรมนีมีโรงเรียนที่ดีในการสร้าง Active Citizen โดยทางรัฐบาลจะมอบรางวัลโรงเรียนดีเด่น (German School Prize) ทั้งในมุมมองของแนวคิดบริหารจัดการโรงเรียน ครู การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนเป็นรายบุคคล โดดเด่นเรื่องการจัด STEM Education (คือการสอนแบบบูรณาการข้ามกลุ่มสาระวิชา) 

“คิดว่าการจะเกิด Active Citizen ได้ สังคมมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจ อาสาสมัครไม่มีผลตอบแทนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แนวคิดนี้ต้องมาจากภายใน ไม่ได้ถูกบังคับจากรัฐ โรงเรียน แต่เกิดจากความคิดได้เองอยากให้ตัวเองมีประโยชน์ต่อเพื่อนบ้าน สังคม เขาได้เห็นตัวอย่างที่ดี ทำแล้วสนุก เวลาจะทำอะไรมองเห็นโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง คนเยอรมันสามารถใช้โอกาสนี้พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นด้วย

มีหลายเวทีที่เป็น Active Citizen ไปช่วยสอนหนังสือเด็ก อ่านหนังสือให้ผู้สูงอายุฟัง มีสถิติว่าทำงานอาสาสมัคร 30% ของประชากร ความจริงโรงเรียนมีส่วนสำคัญมาก มีหลายโรงเรียนพักเที่ยงไปดูค่ายผู้ลี้ภัย ไปช่วยเสิร์ฟอาหาร พูดคุยกับเด็กในค่าย ให้นักเรียนมีประสบการณ์ได้เรียนรู้โดยตรง ที่เยอรมนีมีห้องสมุดเยอะมาก การที่เด็กเข้าถึงหนังสือช่วยเพิ่มกระบวนการความคิด โรงเรียนปลูกฝังตั้งแต่การรับรับผิดชอบตัวเองและผู้อื่น จะมีหัวหน้าเด็กเวียนกันเป็นหัวหน้า สร้างบรรยากาศชของการเป็นทีมเวิร์กได้ด้วย”

มนุษย์สายพันธุ์ใหม่ Active Citizen ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง

คนดี คนเก่ง

ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการของเด็ก เจ้าของโรงเรียนจิตเมตต์ ให้ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ และครู กับบทบาทในการสร้าง Active Citizen

“ในทุกประเทศเราพูดถึงการสร้าง Active Citizen ที่ตรงกันคือในระบบครอบครัว ซึ่งสำคัญมาก การที่เด็กคนหนึ่งเขาจะเป็น Active Citizen หรือไม่ เป็นคนที่มีคุณค่าต่อตัวเองและผู้อื่น ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พอเข้าโรงเรียนพ่อแม่จะโยนให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้

พ่อแม่อยากเห็นลูกเป็นคนอย่างไร แทบทั้งนั้นอยากเห็นลูกเป็นคนดี ไม่เป็นภาระต่อสังคม ช่วยเหลือสังคมได้ แต่ถึงเวลาที่เลี้ยงลูกจริงๆ ช่วงเวลาที่หล่อหลอมเขาให้เป็นคนอย่างไร เราหลงทิศหลงทางกันไปพอสมควร มีเป้าหมายระยะสั้นมากวักมือเรียก คนดีไว้ก่อนนะลูก ขอติวก่อน เดี๋ยวทำข้อสอบเข้าโรงเรียนนี้ไม่ได้ เข้าประถมหนึ่งหนึ่งว่าจบแล้ว ยังมีมัธยม มหาวิทยาลัย

เราตั้งความหมายระยะสั้นให้ลูกตลอดเวลา จนลืมระยะยาวที่ลูกมีค่าต่อสังคม ต่อตัวเอง เป็นคนดี เราลืม เราคิดแต่เก่งก่อนนะลูก มีอะไรการันตีตัวเลขในเกรดเรียน ตัวเลขเงินในบัชญีธนาคารจะรับประกันว่าลูกเราจะเป็นคนดีมีความสุข

พ่อแม่หวังดีกับลูก แต่เราต้องปักธงให้ชัด แล้วกลับมาดูเราว่าเรามีบทบาทยังไง ทบทวนให้ดี พ่อแม่คือนักจัดการเวลาแห่งการเติบโตของลูก เด็กตั้งแต่เกิดถึง 7 ขวบ เขาคุ้นชินอะไรเขาก็จะเป็นแบบนั้น พ่อแม่มีมุมมองต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยังไง เราอยากเห็นเขาเอื้อเฟื้อต่อคนอื่น แต่เราชวนลูกมาสอบแข่งขัน ลูกเราคงไม่มีโอกาสหล่อหลอมตัวเองช่วยเหลือคนอื่น เราเอาการเรียนให้เก่งไว้ก่อน เก่งคนเดียว เก่งนึกว่าจะเอาตัวรอด

เชื่อว่าในสังคมไทยพิสูจน์มาแล้ว วิธีคิดการเลี้ยงลูกแบบนี้ การศึกษาอย่างเดียวไม่ได้นำพาให้เขามีคุณค่าต่อตัวเองและคุณค่าต่อคนอื่นได้ แล้วเราจะทำยังไง เราผู้ใหญ่ที่แวดล้อมเด็ก เด็กจะเป็นอย่างไร ไม่ได้อยู่ที่เราบอกให้เขาเป็น แต่เราต้องกลับมาดูตัวเองว่าเรากำลังเป็นโมเดลอะไรให้กับเขา ทุกคนมีบทบาทเป็นนักจัดการเวลาแห่งการเติบโต เราจะใช้มันสอดคล้องกับธงที่เราปักไหม ถ้าไม่สอดคล้อง อย่าหวังว่าจะไปถึงธง อาจจะได้แค่คนเก่ง เก่งสอบ แต่ไม่สามารถเป็นคนเก่งที่จะนำพาสังคมสร้างสรรค์”

โลกปัจจุบันซับซ้อนมากขึ้นทุกที วิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการมีชีวิตที่มีความหมาย เพื่อเป็นคนเก่ง คนดีต่อสังคม ไม่เพียงรับผิดชอบตัวเองได้อย่างเดียว แต่มีหน้าที่ทำให้สังคมดีขึ้นด้วย Active Citizen ไม่ได้เกิดจากพ่อแม่ คุณครู เพียงเท่านั้นแต่เกิดจากการบ่มเพาะของทุกๆ คน ที่จะเป็นตัวอย่างให้กับเด็กๆ ให้เขาเติบโตมามีความรับผิดชอบเป็นสิ่งซึ่งฝังอยู่ในตัวเขามาตั้งแต่เด็ก

หากจะดียิ่งขึ้นถ้าทุกคนมีจิตสาธารณะของการเป็น Active Citizen ในทุกที่ ทุกวัย เพื่อย่นเวลาให้แก่เด็กๆ เติบโตมาพร้อมต้นแบบและมีจิตที่ดีงาม