posttoday

โควิดดันยอดสั่งอาหารออนไลน์เพิ่ม ห่วงสุขภาพคนไทยป่วยโรคกลุ่ม NCDs พุ่ง

10 สิงหาคม 2563

สสส.– นักวิชาการ ค้นงานวิจัยพบวัยรุ่นกินอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ ช่วงโควิดดันยอดสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มสูง หวั่นคนไทยป่วย NCDs เพิ่มมากขึ้น

โควิดดันยอดสั่งอาหารออนไลน์เพิ่ม ห่วงสุขภาพคนไทยป่วยโรคกลุ่ม NCDs พุ่ง

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า รายงานสุขภาพคนไทย 2563 โดย สสส. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ พบสถิติสำคัญว่าวัยรุ่นและเยาวชน อายุ 10-24 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร บริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดจากประเทศตะวันตก อย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ มากถึง 69.2% รองลงมาคือภาคกลาง 54.6% ภาคใต้ 48.7% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 41.9% และภาคเหนือ 38.7% ตามลำดับ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560)

ซึ่งล่าสุดในช่วงโควิด-19 คนไทยอาจมีแนวโน้มบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น จากการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน Food Delivery โดย Kantar Worldpanel ได้สำรวจผู้บริโภคคนไทย 1,638 ราย อายุระหว่าง 15-49 ปี ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2563 พบว่าผู้บริโภคสั่งอาหารผ่าน Food Delivery มากขึ้น 38% เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน

“ข้อดีของการสั่งอาหารออนไลน์ ช่วยลดการรวมตัวของคนในที่สาธารณะ ลดโอกาสแพร่กระจายโควิด-19 แต่อาหารที่ได้รับความนิยมสั่งมักเป็นอาหารจานด่วน สสส. จึงเกิดความกังวลเป็นห่วงสุขภาพคนไทย เพราะอาหารฟาสต์ฟู้ดมีคลอเรสเตอรอลสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ฯลฯ เราจึงขอแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานอาหารแบบ 2:1:1 ผัก 2 ส่วน ข้าวหรือแป้ง 1 ส่วน และเนื้อสัตว์ 1 ส่วน

ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ควบคู่ไปกับการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับขอความร่วมมือผู้บริโภคและผู้ประกอบการลดใช้พลาสติก เนื่องจากอาหารพร้อมทานส่วนใหญ่มักใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหลายชิ้น อาทิ กล่องโฟม ช้อนส้อมพลาสติก หลอดพลาสติก ซองน้ำจิ้ม ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าปริมาณขยะพลาสติกของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ตัน/วัน โดยขยะประเภทนี้ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง” 

โควิดดันยอดสั่งอาหารออนไลน์เพิ่ม ห่วงสุขภาพคนไทยป่วยโรคกลุ่ม NCDs พุ่ง

ทางด้าน ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า เทคโนโลยีทุกวันนี้มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ของวัยรุ่นและเยาวชนไทยมากขึ้น ทั้งเพจรีวิวอาหาร ฟู้ดบล๊อกเกอร์ และล่าสุดคือแอปพลิเคชันสั่งซื้ออาหาร มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเทรนด์อาหาร และการเข้าถึงร้านอาหารอย่างง่ายดายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สอดคล้องกับผลการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สำรวจพฤติกรรมทางออนไลน์ เรื่อง “การใช้บริการ Online Food Delivery ของคนไทย” ระหว่างวันที่ 5-15 มีนาคม 2563 พบว่า

กลุ่มผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์มากที่สุด คือ

  • Gen Y (อายุ 19-38 ปี) จำนวน 51.09%
  • กลุ่ม Gen X (อายุ 39-54 ปี)
  • กลุ่ม Baby Boomer (อายุ 55-73 ปี)
  • กลุ่ม Gen Z (อายุต่ำกว่า 19 ปี) (ตามลำดับ)

นอกจากนี้ การสำรวจยังพบด้วยว่า อาหารยอดนิยมที่ทุก Gen สั่งมากกว่า 61.06% คืออาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ด อาทิ ไก่ทอด เบอร์เกอร์ และพิซซ่า แต่มีข้อมูลอื่นว่าคนไทยกินผักและผลไม้สดเป็นประจำน้อย อย่างไรก็ตาม หากผู้ผลิตแอปฯ สั่งอาหาร หันมาให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโปรโมทอาหารเพื่อสุขภาพ อาจช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้นก็เป็นได้

.

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข / สสส