posttoday

เฝ้าระวัง แต่ไม่ระแวง ‘ภาวะหัวใจล้มเหลว’ เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยแม้ร่างกายแข็งแรง

29 กันยายน 2564

สัมภาษณ์พิเศษ แพทย์หญิงธนิตา บุณยพิพัฒน์ กรรมการและเลขานุการร่วม คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) สาขาโรคหัวใจ (อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลลำปาง) เฝ้าระวัง “ภาวะหัวใจล้มเหลว” พร้อมเผยภาระของโรคที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งตัวผู้ป่วย ผู้ดูแล ตลอดจนการสาธารณสุขของไทย

รู้จัก "ภาวะหัวใจล้มเหลว" อุบัติการณ์ของโรคในประเทศไทย ตลอดจนลักษณะอาการของโรค

ภาวะหัวใจล้มเหลว คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามที่ต้องการ ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดการขาดออกซิเจน หรือเกิดจากโครงสร้างกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ จนทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอในที่สุด ซึ่งภาวะนี้ถือได้ว่าเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่คร่าชีวิตคนสูงอายุเป็นอย่างมาก

โดยอุบัติการณ์ในประเทศไทย แม้ว่าข้อมูลเรื่องความชุกของภาวะหัวใจล้มเหลวในประเทศจะยังไม่ชัดเจน แต่ข้อมูลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สูงถึงร้อยละ 5 - 7 ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ที่ร้อยละ 10 ต่อปี และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 5 ปีภายหลังการวินิจฉัย  และจากการศึกษาของ Thai ADHERE ได้ชี้ให้เห็นว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยไทยอยู่ที่ 64 ปี และหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยมีอายุเกิน 75 ปี และพบผู้ป่วยได้ทั้งเพศหญิงและชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน

เฝ้าระวัง แต่ไม่ระแวง ‘ภาวะหัวใจล้มเหลว’ เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยแม้ร่างกายแข็งแรง

อาการเบื้องต้น และจุดสังเกตของความผิดปกติที่อาจนำไปสู่ "ภาวะหัวใจล้มเหลว"

แม้ข้อมูลจะพบผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่แต่แท้จริงแล้วยังสามารถเกิดได้ในช่วงวัยอื่น ๆ ด้วยเช่นกันโดยอาการเบื้องต้นที่สามารถสังเกตได้ด้วยตนเองว่าเข้าข่ายการเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวได้คือ

  • เหนื่อยง่ายหายใจลำบากเมื่อออกแรงทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ
  • ไม่สามารถนอนราบได้ ต้องใช้หมอนหนุนหลายใบเพื่อให้ศีรษะยกตัวสูง
  • อ่อนเพลีย อ่อนแรง น้ำหนักลดลงและเบื่ออาหาร
  • ขาหรือข้อเท้าบวม
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  • เกิดน้ำคั่งในในอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น น้ำคั่งในถุงลมของปอด หรือปอดบวมน้ำ ทำให้เกิดอาการเหนื่อย

แม้กลุ่มผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะเป็นผู้สูงอายุ แต่ในความเป็นจริงภาวะนี้เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัยโดยปัจจัยเสี่ยงและโรคร่วมมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น ดังนั้น ควรปฏิบัติและพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่  การดื่มสุรา การรับประทานอาหารเค็มหรือมันจัดจนเกินไป และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถช่วยให้ห่างไกลจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้

เฝ้าระวัง แต่ไม่ระแวง ‘ภาวะหัวใจล้มเหลว’ เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยแม้ร่างกายแข็งแรง

วิธีการรักษาและเป้าหมายของภาครัฐในการรักษา "ภาวะหัวใจล้มเหลว" ในประเทศไทย

ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงรักษาแบบปรับให้ร่างกายคืนสู่สมดุล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยในการรักษาโดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำรงชีวิต เช่น การดูแลเรื่องอาหาร และการใช้ยารักษาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยนั้นดีขึ้น อีกทั้งยังต้องมีการติดตามการรักษาจากระบบการแพทย์ที่เหมาะสม

ส่วนเป้าหมายของภาครัฐในการรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น มีเป้าหมายหลักคือการลดอัตราการนอนโรงพยาบาลซ้ำและการตาย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดระบบการดูแลผู้ป่วยในลักษณะของสหสาขาวิชาชีพ และการถ่ายทอดความรู้ในการดูแลและรักษาผู้ป่วยเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการดูแลรักษาทางการแพทย์ที่เหมาะสมได้อย่างทั่วถึง อันจะช่วยลดภาระของระบบสาธารณสุข  และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยผู้ดูแลได้ในระยะยาว

เฝ้าระวัง แต่ไม่ระแวง ‘ภาวะหัวใจล้มเหลว’ เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยแม้ร่างกายแข็งแรง

ภาระของโรคที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งแก่ตัวผู้ป่วย ผู้ดูแล ตลอดจนการสาธารณสุขของไทย อาทิ

  • การเข้ารับการรักษาด่วน

การเข้ารับการรักษาด่วนมักเกิดในผู้ป่วยรายที่ประสบกับภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เบื้องต้นเมื่อถึงมือแพทย์ หากผู้ป่วยมีภาวะการหายใจล้มเหลวอาจต้องให้ใส่เครื่องช่วยหายใจ ทั้งนี้โดยมากเราจะไม่สามารถคาดการณ์การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้  ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองและเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาการได้

  • การกลับเข้ารับการตัวซ้ำในโรงพยาบาล

ในอดีต ก่อนจะมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยในรูปแบบองค์รวมเช่นปัจจุบัน ผู้ป่วยหนึ่งในห้าคนจะกลับเข้ารับการรักษาซ้ำภายใน  30  วัน ปัจจุบันจากการเก็บรวมรวมข้อมูล พบว่ามีผู้ป่วยร้อยละ 11.04 ของผู้ป่วย หรือ 1 ใน 9 คน ต้องกลับมานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลซ้ำจากภาวะหัวใจล้มเหลวในระยะเวลา 30 วัน

  • งบประมาณของภาครัฐและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาของผู้ป่วย

จากข้อมูลล่าสุดในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ 2562 ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีถึง 245,035 คน และจำนวนการนอนโรงพยาบาลทั้งสิ้น 301,648 ครั้ง (คิดเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 150,824 ครั้ง) คำนวณเป็นค่าใช้จ่ายที่ประเทศใช้ประมาณ 21,000 บาทต่อผู้ป่วยหนึ่งรายโดยเฉลี่ย หรือมากกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวคือการที่ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้เหมาะสม ภายใต้การทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพ  ดังนั้นการดำเนินการของโครงการจึงเริ่มต้นจากการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อให้มีความรู้ความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยโดยใช้งบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี  2560  ถึง  2561  ใช้งบประมาณทั้งสิ้น  3,250,000  บาท ส่วนการดำเนินงานในคลินิกนั้นสามารถใช้บุคลากร วัสดุและครุภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมได้ 

ผลการดำเนินงานและการประเมินผลการจัดตั้งคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว

ปัจจุบัน มีคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวในโรงพยาบาล ในเครือกระทรวงสาธารณสุขทีเปิดทำการแล้ว 75 แห่งทั่วประเทศ จากเป้าหมายที่วางไว้ 76 แห่ง ทั้งในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย โดยปรากฏผลในเรื่องอัตราการกลับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลซ้ำจากภาวะหัวใจล้มเหลวของผู้ป่วยที่ร้อยละ 3.51 ต่อปี และอัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือร้อยละ 2.3 ต่อปี  ซึ่งในปีต่อไป ได้วางแผนที่จะเก็บตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพของกระบวนการดูแลผู้ป่วยได้แก่ จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือพิเศษ  ร้อยละการได้รับยาตามมาตรฐานเพิ่มขึ้น

เฝ้าระวัง แต่ไม่ระแวง ‘ภาวะหัวใจล้มเหลว’ เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยแม้ร่างกายแข็งแรง

การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการแพทย์ทางไกลมาช่วยเสริมการบริการสำหรับคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว

การรักษาเรามุ่งหวังที่จะกระจายการเข้าถึงการรักษาหรือบริการของคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ เราจึงได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาเสริมประสิทธิภาพในการให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยในแบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ผ่านโทรศัพท์ และแอปพลิเคชัน LINE รวมไปถึงการจัดตั้งคลินิกในเขตพื้นที่ห่างไกลในโรงพยาบาลกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ 

นอกจากนี้ เพื่อให้คลินิกเครือข่าย และบุคลากรที่ปฏิบัติงานสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเพื่อเป็นแนวทางและมาตรฐานเดียวกันในการให้บริการและดูแลรักษาผู้ป่วย โครงการการพัฒนาคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวนี้จึงได้พัฒนาสื่อความรู้ อย่างเช่น การผลิตสื่อโปสเตอร์สรุปแนวทางการวินิจฉัยโรค และแนวทางในการดูแลผู้ป่วยทั้งแบบเรื้อรังหรือภาวะกำเริบ รวมทั้งข้อมูลสรุปการใช้ยาและปรับยาให้ผู้ป่วยที่รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก มอบให้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

แผนงานในอนาคตสำหรับคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวในประเทศไทย

แผนงานในอนาคต เรายังคงเดินหน้าพัฒนาและขยายการเข้าถึงการรักษาด้วยการจัดตั้งคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งการผนวกเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสื่อสารที่ทันสมัยมาช่วยให้การรักษาให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น เพื่อรองรับกับจำนวนของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น  และยังช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลซ้ำหรือเสียชีวิตของคนไข้ได้อีกทางหนึ่งด้วย  โดยมีการวางเป้าหมายที่จะจัดตั้งคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวให้ได้ครบใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลซ้ำร้อยละ 25 จาก baseline (โดยอ้างอิงข้อมูลจากผลลัพธ์ลด HF readmission ได้ประมาณ 1 ใน 4 จากการดูแลผู้ป่วยด้วย disease management program