posttoday

วานรก็มีหัวใจ(นะจ๊ะ)

18 สิงหาคม 2554

สร้างมาแล้ว 5 ภาค

โดย...วิชช์ญะ ยุติ

สร้างมาแล้ว 5 ภาค (ผู้กำกับก็มี แฟรงคลิน เจ แชฟเนอร์, เท็ด โพสต์, ดอน เทย์เลอร์, เจ ลี ทอมป์สัน ควบคนเดียว 2 ภาคหลัง) บวกภาครีเมกอีกหนึ่ง (ทิม เบอร์ตัน กำกับ ซึ่งโดนจวกเละถึงความ โคตร น่าเบื่อสุดๆ) ไม่แปลกถ้าหลายคนจะเริ่มทำหน้าปูเลี่ยนใส่หนังวานรยึดโลกเรื่องนี้

Rise of the Planet of the Apes กลับมาแบบไม่เกี่ยวข้องอะไรกับภาคก่อนๆ เลย พล็อตค่อนข้างมีความทะเยอทะยานพอสมควร ทั้งในการนำเสนอที่ดูใส่ใจเรื่องการเมกอัพเป็นพิเศษ ยิ่งเฉพาะฝูงวานรที่ช่างละม้ายของจริงมากๆ รวมถึงวิชวลเอฟเฟกต์ที่ล้ำๆ และเทคนิคโมชันแคปเจอร์ ขณะที่เนื้อหาก็เข้มข้นเร้าใจให้อารมณ์ดรามาซึ้งๆ จนน้ำตาซึมได้ไม่ยาก แถมยังสมเหตุสมผลดี

วานรก็มีหัวใจ(นะจ๊ะ)

น้ำหนักความเป็นดรามาถูกสอดแทรกไว้อย่างเท่าเทียมกับฉากฝูงวานรถล่มเมืองด้วยอาการคั่งแค้น สะท้อนผ่านชีวิตตาแก่ที่ป่วยเพราะโรคอัลไซเมอร์ เขารอความหวังเดียวคือ ยารักษาที่ลูกชายกำลังคิดค้น โดยใช้วานรมาเป็นสัตว์ทดลอง อีกด้านหนึ่ง วานรน้อยที่ชายหนุ่มเก็บมาเลี้ยงก็เริ่มเติบใหญ่และกลายเป็นส่วนสำคัญให้ครอบครัวผูกพันแนบแน่น

วานรก็มีหัวใจ(นะจ๊ะ)

แต่แล้วจุดพลิกผันก็เกิดขึ้น เมื่อสมองของวานรได้รับการพัฒนาอย่างรุดหน้า สติปัญญาก้าวไกลเกินวานรธรรมดา นั่นจึงนำมาซึ่งการลุกฮือของวานรในสถานกักกันสัตว์ อันมีวานรจอมฉลาด “ซีซาร์” ที่อุปโลกน์ตัวเองเป็นจ่าฝูง เพื่อเป้าหมายหลักคือปลดแอกวานร

วานรก็มีหัวใจ(นะจ๊ะ)

การปลดแอกของพวกมันกลายเป็นสงครามย่อมๆ ที่ทำลายความเชื่อผิดๆ ของมนุษย์ผู้คิดเสมอว่าตัวเองเท่านั้นที่มีหัวใจ วานรทดลองยา หรือกระทั่งสัตว์ประเภทอื่น ก็เป็นเพียงพวกไร้วิญญาณ ไร้ความรู้สึก และไร้หัวใจโดยไม่มีข้องกังขา

วานรก็มีหัวใจ(นะจ๊ะ)

แท้จริงในหนังก็พบว่า ไม่ว่าวานร หรือจะเป็นสัตว์ประเภทไหน ล้วนต่างมีหัวใจทั้งสิ้น และบางทีพวกมันอาจมีดวงใจที่พิสุทธิ์กว่ามนุษย์หลายเท่า ปราศจากการปรุงแต่งด้วยจริตอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความขุ่นมัวและความร้ายกาจ

วานรก็มีหัวใจ(นะจ๊ะ)

มิหนำซ้ำ สัตว์หน้าขนอย่างวานรก็อาจจงรักภักดีและกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ตรงข้ามกับมนุษย์หน้าใสบางรายที่อาจ (ยัง) ไม่เข้าใจและเข้าถึงเรื่องนี้ดีพอ

คำที่เจ้าซีซาร์ตะโกนลั่น “ไม่” หลังไม่ยอมทำตามเจ้าหน้าที่กักกัน ฟังแล้วก็ชวนขนลุกซู่ เป็นคำที่มีความหมายมากกว่าปฏิกิริยาต่อต้าน หรืออาการขัดขืนที่มันแสดงออกมา ในเชิงสัญลักษณ์คำนี้นั้นเปรียบเสมือน “การประกาศอิสรภาพ” ในเบื้องต้นของซีซาร์และเหล่าวานร ว่านับจากนี้ไปจะไม่มีการก้มหัวให้แก่มนุษย์

แน่นอน วานรอย่างพวกมันก็ไม่ได้ไร้หัวใจเช่นที่มนุษย์ว่าไว้ (สักหน่อย)