posttoday

การจัดการความริษยา

25 กันยายน 2554

ความริษยาสะท้อนภาวะของใจที่ยังไม่ตื่น ไม่เต็ม ไม่โต เพราะใจที่ตื่น

โดย...ว.วชิรเมธี

ความริษยาสะท้อนภาวะของใจที่ยังไม่ตื่น ไม่เต็ม ไม่โต เพราะใจที่ตื่น เต็ม โต แล้วนั้น เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีความสุข จะพลอยมีความสุขด้วย

ใจที่ตื่นแล้วนั้น เห็นใครได้ดี ก็มีความสดชื่นรื่นเริง เหมือนวิหกนกกาที่พอเห็นแสงแรกของวันอุทัยขึ้นมาก็พลันเริงร้องซ้องเสียงขับขาน เหมือนดวงดอกไม้ที่พอได้รับน้ำฝนหยาดชโลมก็พร้อมชูช่อ เหมือนบัวตูมที่ไม่เคยริษยาแสงตะวัน จึงคลี่บานรับแสงอรุณแต่เช้าตรู่

เห็นคนอื่นได้ดีแล้วมีความสุข คือดัชนีชี้วัดคุณภาพของจิตใจอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากเห็นคนอื่นได้ดีแล้วมีทุกข์ ทนไม่ได้

นั่นคือคุณภาพของจิตใจที่ยังไม่ตื่น

ริษยาเขา หมายเผาให้เร่าร้อน หารู้ไม่ว่าริษยาเขา ก็เหมือนจุดไฟเผาตัวเอง เพราะคนที่ร้อนเป็นคนแรก ก็คือ ตัวผู้ก่อความริษยาขึ้นมานั่นเอง

ความริษยา ในภาษาบาลีท่านใช้คำว่า “อิสสา” แปลว่า “ริษยา” แต่คนไทยมักเรียกความอิสสานี้ว่า “อิจฉา” (อิจฉา ความหมายตามตัวอักษร แปลว่า ความอยาก ความต้องการ) ในละครไทยเราจึงมักเรียกตัวนางร้ายว่า “ตัวอิจฉา” แต่ถ้าจะเรียกให้ถูกควรเรียกว่า “ตัวริษยา” มากกว่า ความหมายของคำคำนี้ก็คือ “เห็นคนอื่นได้ดีแล้วทนอยู่ไม่ได้” หรือ “ทนเห็นคนอื่นได้ดีไม่ได้” หรือ “ไม่อยากเห็นใครได้ดี”

ความริษยานั้นคือไฟสุมขอนที่มีเชื้ออยู่ในใจของเราทุกคน มันแค่รอเวลาให้มีลมรำเพยพัดเท่านั้น ก็พร้อมจะคุโชนขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย ในสังคมที่คนใช้เหตุผลกันน้อย ใช้ความเชื่อกันสูง เชื่อข่าวลือ มากกว่าเชื่อความรู้ ศรัทธาในขุนขลังขมังเวทหมอดูมากกว่าศรัทธาในวิทยาการ ความริษยาจะมีอานุภาพสูง

การจัดการความริษยา

ความริษยาเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จะทำร้ายคนที่ริษยาก่อนเป็นคนแรก จำง่ายๆ ว่า “ริษยาเขา คือ จุดไฟเผาตัวเอง”

คนที่ริษยาคนอื่น จึงเป็นคนที่ไม่สู้ฉลาดเอาเสียเลย เพราะเขากำลังก่อกองไฟขึ้นมากองหนึ่งด้วยมันสมองสองมือของตัวเองแท้ๆ ที่น่าเศร้าก็คือ ขณะที่เขากำลังคิดว่า ไฟกองนี้มันจะเผาคนอื่น

แต่แท้ที่จริงนั้น มันถูกก่อขึ้นมาเพื่อเผาผู้ก่อมันขึ้นมานั่นเอง ถ้าความเข้มข้นของความริษยามีความรุนแรง ไฟก็จะกองใหญ่ ถ้าไม่รุนแรง ก็จะเป็นไฟกองเล็กๆ แต่ขึ้นชื่อว่าไฟ จะกองใหญ่กองเล็ก ก็ร้อนและอันตรายทั้งนั้น

กิเลสร้ายทำลายชีวิต...

ในทางพระพุทธศาสนา ความริษยาที่ว่านี้เปรียบเสมือน “โรคร้าย” ที่คอยทำลายชีวิต ใครก็ตามที่ปล่อยให้ความริษยาครอบงำ ก็เท่ากับว่าเขาเริ่มป่วยด้วยโรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อชีวิตเข้าแล้ว ส่วนใครจะป่วยหนักหรือป่วยน้อย ก็ขึ้นกับระดับความรุนแรงของความริษยา ถ้าเป็นความริษยาระดับสูง ก็มั่นใจได้ว่า ความรุนแรงอาจถึงขั้นวิบัติจากคุณงามความดี และความสุขในชีวิตอย่างรวดเร็ว อาตมาขอยกตัวอย่างความเลวร้ายอันเกิดจากแรงริษยาด้วยนิทานธรรมเรื่องหนึ่ง

พระมหากษัตริย์แห่งดินแดนอาหรับองค์หนึ่ง มีพระโอรสสองพระองค์ พระองค์โตนั้นเป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดาเป็นอย่างมาก เพราะมีพระอุปนิสัยอ่อนน้อมถ่อมองค์ เฉลียวฉลาด พระทัยกว้าง ส่วนพระโอรสองค์เล็กนั้น พระราชบิดาไม่สู้โปรดนัก ด้วยพระองค์มีพระนิสัยริษยาและใจแคบเป็นเจ้าเรือน

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชบิดาทรงเรียกโอรสองค์เล็กมาเฝ้า แล้วมีรับสั่งว่า

“พ่อจะให้พรเจ้า นั่นคือ เจ้าอยากได้สิ่งใดก็ขอจากพ่อได้ พ่อยินดีหาให้เจ้าได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทองหนักเท่าตัวเจ้า ม้าอาหรับฝีเท้าดี หรืออยากมีฮาเร็มสักหลังหนึ่ง พ่อก็ยินดีจัดให้”

“เยี่ยมมากเลยเสด็จพ่อ ขอเวลาหม่อมฉันคิดสักวันหนึ่งก่อนได้ไหม”

“ได้สิลูก แต่ลูกจงจำไว้อย่างหนึ่งนะว่า พ่อไม่ได้มีลูกชายคนเดียว ดังนั้นสิ่งใดที่พ่อให้เจ้า พ่อจะมอบสิ่งนั้นให้พี่ของเจ้าเป็นสองเท่าเลยทีเดียว”

โอรสองค์เล็กได้ฟังเช่นนั้นแล้วทรงกริ้วจัดขึ้นมาทันที มีพระดำริในพระทัยว่า “เมื่อโลกให้ฉันเกิดมาแล้ว ทำไมต้องให้พี่ชายมาเกิดด้วย”

คืนนั้นทั้งคืนพระโอรสองค์เล็กบรรทมไม่สนิท เพราะทรงครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้พี่ชายได้อะไรดีไปกว่าตนเอง ยิ่งคิดก็ยิ่งฟุ้งซ่าน เพราะหากตนขอสิ่งใด พี่ชายก็จะได้สิ่งนั้นเป็นสองเท่า ไฟริษยาคุกรุ่นอยู่เต็มพระทัย ในที่สุดเจ้าชายน้อยก็ตัดสินพระทัยได้ว่าจะทรงขอพรอะไรที่มีผลให้พี่ชายได้รับเป็นสองเท่า แต่สิ่งที่พี่ชายได้รับนั้นต้องเป็นความทุกข์หนักหนาสาหัสเป็นทวีตรีคูณ เพราะเหตุที่ทรงคิดด้วยความริษยา เจ้าชายน้อยจึงมองไม่เห็นว่า สิ่งที่พระองค์จะทรงขอนั้นหาได้มีผลเสียต่อพี่ชายเท่านั้น ทว่ายังมีผลเสียต่อตนเองด้วย แต่เพราะทรงถูกม่านหมอกแห่งความริษยาครอบงำ จึงทรงมองไม่เห็นข้อเสียของพรที่พระองค์จะขอ วันรุ่งขึ้นเมื่อพระราชบิดาโปรดให้เข้าเฝ้าและตรัสถามว่า จะทรงขอพรอะไร โอรสองค์เล็กจึงทูลตอบว่า

“ลูกรู้แล้วว่าจะขอพรอะไร”

“ขอมาได้เลยลูกพ่อ”

“ลูกขอให้เสด็จพ่อควักลูกนัยน์ตาของหม่อมฉันเสียข้างหนึ่งเถิด!”

พระราชบิดาได้ฟังแล้วทรงสลดสังเวชในพระทัยอย่างถึงที่สุด ทรงรำพึงว่า “ดูเอาเถิด อานุภาพของความริษยามันครอบงำลูกชายของข้าถึงขนาดยอมเสียดวงตาข้างหนึ่งเพื่อให้พี่ชายของตนเองเสียดวงตาทั้งสองข้าง ทุกข์ถึงเพียงนี้ ลูกชายโง่ๆ ของเราก็ยังยอมทำได้ ความริษยาเอย โชคยังดีที่เจ้าแสดงพิษสงให้เรารู้ทันเสียก่อน มิเช่นนั้นแล้ววันหนึ่งข้างหน้าราชบัลลังก์ของเราจะต้องวอดวายเพราะการแก่งแย่งระหว่างพี่น้องเป็นแน่”

จากนิทานธรรมเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า ความริษยาคือเมล็ดพันธุ์ของความรุนแรง ซึ่งแฝงฝังอยู่แล้วในจิตใจของเราทุกคน อาการของความริษยา คือ เห็นคนอื่นได้ดีแล้วทนอยู่ไม่ได้ หรือรับไม่ได้หากเห็นใครก็ตามที่อยู่ตรงข้ามกับเรา “ได้ดีมีสุข” ความริษยาเปรียบเสมือนเปลวไฟที่เผาผลาญตนพร้อมๆ กับที่เผาผลาญคนอื่น ความริษยาสิงสู่อยู่ในหัวใจของผู้ใดแล้ว ชีวิตของผู้นั้นก็จะห่างไกลจากความสงบสุข

ในขณะที่คนซึ่งตกเป็นทาสของความริษยากำลังคิดหาวิธีเพื่อจะทำร้ายคนอื่นอย่างสาหัสสากรรจ์ที่สุดนั้น แท้ที่จริงแล้วเขากำลังทำลายตัวเองไปด้วยพร้อมๆ กัน