บ๊ายบาย...บิ๊กแบ็ก
การแก้ปัญหาครั้งนี้ รัฐบาลทำให้เกิดภาพสองมาตรฐาน เอาใจกลุ่มทุนมากกว่าสนใจประชาชน แรงงานคนเล็กๆ ในสังคม
การแก้ปัญหาครั้งนี้ รัฐบาลทำให้เกิดภาพสองมาตรฐาน เอาใจกลุ่มทุนมากกว่าสนใจประชาชน แรงงานคนเล็กๆ ในสังคม...
โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม
วิกฤตอุทกภัยสร้างความเดือดร้อนประชาชนมหาศาล จนเกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่ชาวบ้านรวมตัวฟ้องร้องภาครัฐโทษฐานบริหารจัดการผิดพลาด
ชาวบ้านหลายชุมนุมฝั่งเหนือกรุงเทพมหานคร หมดที่พึ่ง ไร้ความหวังว่าน้ำจะลดเมื่อไร ต้องระเบิดอารมณ์ด้วยการรื้อบิ๊กแบ็ก ปิดโทลล์เวย์ หลังยื่นข้อเรียกต่อ ศปภ.ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับ เช่นเดียวกับคนเมืองนนท์ที่สุดทนประท้วงขอให้เปิดประตูระบายน้ำเพราะต้องระทมทุกข์นับเดือน บางแห่งปิดถนนขีดเส้นให้ ศปภ.ตอบให้ชัด เมื่อไรน้ำจะลด บางชุมชนทะเลาะกันเอง เป็นความขัดแย้งแตกแยกในสังคมกับสถานการณ์น้ำท่วม
หากภาครัฐเข้าไปเยียวยา ชี้แจงผู้ประสบภัยเหนือแนวคันกั้นน้ำให้จริงจังมากกว่านี้ ก็เชื่อว่าจะลดความไม่พอใจของชาวบ้านลงได้บ้าง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลรอให้เกิดม็อบก่อนแล้วค่อยตามแก้ทีละจุด ปล่อยให้ข้าราชการท้องถิ่นที่ไม่มีอำนาจรับหน้าแทน ส่วนรัฐมนตรีลอยตัวไม่เข้าไปแก้ปัญหาความเดือดร้อน แต่ไปสร้างภาพบวก แจกอีเอ็มบอล ปล่อยคาราวานนักโทษ ขุดลอกคูคลอง ผัดกับข้าวแจกชาวบ้าน กระทั่ง ตัดริบบิ้นสร้างความหวังว่า “น้ำลดแน่”
ชาวบ้านที่เดือดร้อนรอแล้วรอเล่าจากคำสัญญาของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าต้นเดือน พ.ย. สถานการณ์จะดีขึ้นแน่ ผ่านไป 1 เดือน รัฐบาลก็เลื่อนไปอีกว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเร็ววัน จนเชื่อว่ากว่าน้ำจะลดก็หลังปีใหม่ แต่ลดโดยธรรมชาติมากกว่าแก้บริหารจัดการของรัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลทำคือ “บริหารความหวังด้วยคำพูด”
จนวันนี้คนไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดเอแบคโพลล์สำรวจผู้ประสบภัยและผู้ไม่ประสบภัย พบว่า บุคคลที่ประชาชนมีความพึงพอใจน้อยที่สุด 3 ลำดับแรกคือ 1.นายกรัฐมนตรี 67% 2.ศปภ. 64% สส.และนักการเมืองท้องถิ่น 51% โดยชื่นชมทหารในการทำหน้าที่กอบกู้ชาติ สูงถึง 98%
น่าแปลกพรรคเพื่อไทยมีความชำนาญในการทำงานมวลชนสูง มีแกนนำม็อบเสื้อแดงอยู่ในพรรคเต็มไปหมด น่าจะรับรู้ถึงกระแส อารมณ์ ความโกรธแค้นของมวลชน หากได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศเสมอว่า เกลียดสองมาตรฐานและจะขจัดให้หมด
หลายเรื่องเป็นการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้เวลาเป็นตัวแก้ปัญหา ทั้งที่รัฐบาลนี้มีบุคลากรมากมาย มีรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีเกือบร้อยคน จาก ทีม 111 ไทยรักไทย ทีม 109 พลังประชาชน โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่พรรคเพื่อไทยยกย่องในความสามารถและออกเมกะโปรเจกต์ช่วงหาเสียง “ลาก่อนน้ำท่วมกรุงเทพฯ”
แต่การแก้ปัญหาครั้งนี้ รัฐบาลทำให้เกิดภาพสองมาตรฐาน เอาใจกลุ่มทุนมากกว่าสนใจประชาชน แรงงานคนเล็กๆ ในสังคม
ผู้ประสบภัยทวงถามความชัดเจนเมื่อไรน้ำจะแห้ง เมื่อไรทางการจะลงมาบอก เมื่อไรจะมีมาตรการเยียวยาที่เป็นจริงมากกว่าบอกว่าให้ 5,000 กับ 3 หมื่นบาทแล้วทุกอย่างจบกัน แต่คนรัฐบาล วีรพงษ์ รางมางกูร ประธานยุทธศาสตร์ฟื้นฟูสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ทำงานรวดเร็ว บุกไปอังกฤษพบผู้บริหารบริษัทประกันภัยชั้นนำ สร้างภาพกับชาวโลกว่า ไทยมีแผนป้องกันน้ำดีเยี่ยมและจะไม่เกิดปัญหานี้อีก ทั้งยังมีคิวเดินทางไปญี่ปุ่น สร้างความมั่นใจกับนักลงทุนแดนซามูไรว่า “ไทยแลนด์โนพร็อบเบล็ม“
ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญปัญหาน้ำท่วมอย่างจริงจัง ใส่ใจที่จะส่งรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มมาพบกับผู้เดือดร้อนเหนือคันกั้นน้ำ ที่ต้องรับบทเป็น “ผู้เสียสละ” เหมือนที่เร่งเดินสายสร้างความมั่นใจกับต่างชาติ และเร่งแก้ปัญหาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็น่าจะช่วยเยียวยาความรู้สึกประชาชนได้ อย่างน้อยก็ได้เห็นอนาคตว่า เมื่อไรจะได้กลับบ้าน แต่กลับปล่อยให้ชาวบ้านอยู่อย่างสิ้นหวัง รอนับวันเวลาให้ผ่านไปเพื่อน้ำจะได้ลด
ความเดือดร้อนหนนี้คงไม่ใช่ปัญหาทางการเมือง ที่ “โฆษกเสด็จพี่” มักอ้างว่าเป็นแผนดิสเครดิต โจมตีรัฐบาลเป็นร่ำไป มิฉะนั้น “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตมือขวา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คงอยู่เบื้องหลังวางแผนดิสเครดิตครั้งนี้ด้วย แต่เจ้าตัวคงสุดๆ จริงๆ จนต้องออกมาเป็นแกนนำ ทำหนังสือถึง ศปภ.ให้เร่งรื้อบิ๊กแบ็กบริเวณดอนเมือง บรรเทาน้ำท่วมขังในหมู่บ้านสีวลี ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ที่ท่วมเป็นเดือน
ปรากฏการณ์ม็อบที่ลุกเป็นไฟลามทุ่ง การฟ้องร้องของหลายกลุ่มองค์กร การรื้อบิ๊กแบ็กด้วยความคับแค้นใจ เป็นความโกลาหลปลายทางเพราะ “ต้นทาง” มาจากการบริหารผิดพลาดที่คนในรัฐบาลยอมรับไม่ใช่เรื่องภัยธรรมชาติอย่างเดียว แต่สาเหตุมาจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนช้า ต้องเก็บน้ำไว้ทำนา การให้ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอยู่เหนือการแก้ปัญหาน้ำ ไม่ยอมให้ผันน้ำไปทางตะวันตกที่สุพรรณบุรี มวลน้ำจึงทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล
หลังเกิดวิกฤตอยู่นาน “บิ๊กแบ็ก” กลายเป็นสิ่งอัศจรรย์ ที่ช่วยให้รัฐบาลถอนหายใจโล่ง กั้นไม่ให้น้ำไหลเข้ากรุงเทพฯ ชั้นในสำเร็จ “บิ๊กแบ็ก” ยังทำหน้าที่ทางการเมืองเป็นคันกั้นอารมณ์ ลดความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลลง พร้อมกับที่รัฐบาลปรับรูปแบบการชี้แจงของ ศปภ.เพื่อกู้ความเชื่อมั่น โดยให้ข้าราชการ 3 ประสาน อย่าง ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ดร.ธงทอง จันทรางศุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ทำหน้าที่เสมือน “บิ๊กแบ็ก” ป้องกันไม่ให้กระทบรัฐบาล นอกจากชี้แจงแล้วยังต้องลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาความขัดแย้งของมวลชนแทนรัฐมนตรีด้วย
ภาพประชาชนกรีดบิ๊กแบ็กด้วยอารมณ์คับแค้น อัดอั้นตันใจ สถานะที่มันเคยเป็น “พระเอก” ให้กับรัฐบาลและกับสถานการณ์ขณะนั้น วันนี้ “บิ๊กแบ็ก” กลาย “ผู้ร้าย” เพราะรัฐบาลโดดเดี่ยวให้มันทำหน้าที่ตามลำพัง ทิ้งผู้เดือดร้อนเหนือแนวบิ๊กแบ็กชวนให้คิดว่า พนังกั้นรัฐบาลกับความพอใจของประชาชนกำลังถูกทุบทลายลงพร้อมกับบิ๊กแบ็กเหล่านี้
ไม่ว่า “บิ๊กแบ็กรัฐบาล” จะลงพื้นที่รับปาก ก็ไม่มีใครเชื่อ จากวาทกรรมภัยธรรมชาติกำลังจบลงที่ความแคลงใจ สะสมจนสุกงอมเป็นการยื่นฟ้องเอาผิดภาครัฐด้วยความแค้นเต็มพิกัด