posttoday

การจัดการความโลภ : วิธีบริหารจัดการความโลภ (ตอน 1)

25 ธันวาคม 2554

ในเมื่อความโลภไร้ขีดจำกัด ทรัพยากรจำกัด และวันเวลาในชีวิตของเราก็แสนสั้น ถ้าบริหารจัดการไม่

โดย...ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

ในเมื่อความโลภไร้ขีดจำกัด ทรัพยากรจำกัด และวันเวลาในชีวิตของเราก็แสนสั้น ถ้าบริหารจัดการไม่ดี เราจะเอาเวลาที่แสนสั้นไปวิ่งตามกิเลสที่แสนยาว เราจะตายก่อนที่กิเลสจะเต็ม จะยอมเป็นแบบนี้หรือไม่ เราต้องรู้ให้เท่าทันธรรมชาติของกิเลส แล้วจากนั้นจะบริหารจัดการอย่างไรต่อไป ก็เป็นเรื่องของภาคปฏิบัติ ซึ่งมีอยู่ 3 วิธีคือ

1.รู้เท่าทันธรรมชาติของความโลภ

ธรรมชาติของความโลภหรือตัณหา มีลักษณะ “ไม่มีที่สิ้นสุด” ตามพุทธพจน์ที่ว่า “อิจฺฉา หิ อนนฺตโคจรา” (ความอยากไม่มีที่สิ้นสุด) หรือ “เติมอย่างไรก็ไม่เต็ม” ตามพุทธพจน์ที่ว่า “นตฺถิ ตณฺหาสมา นที” (แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา ไม่มี) การรู้ทันธรรมชาติของความโลภ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีจุดจบ แต่ชีวิตของเรานั้นมีจุดจบ จะทำให้เราไม่เอาเวลาอันมีอยู่อย่างจำกัดของชีวิตไปอุทิศให้กับการวิ่งไล่ตามความอยากอย่างสุดโต่ง แต่จะทำให้เรารู้จัก “อยากแต่พอดี” หรือสะกดคำว่า “พอดี” ให้ตัวเองได้ในเวลาอันสมควร ไม่หมกมุ่นวุ่ยวายอยู่กับการตกเป็นเบี้ยล่างของความอยากอย่างหน้ามืดตามัว แต่จะรู้จักอยากรู้จักต้องการ รู้จักแสวงหาปัจจัยพื้นฐานแห่งชีวิตเท่าที่จำเป็น เน้นที่แก่นสาร เรื่องไหนที่เป็นเปลือกสลัดทิ้งไป แล้วนำวันเวลา พลังงาน พลังความคิด สติปัญญา มาพัฒนาตน พัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามในด้านอื่นๆ ต่อไป

การรู้ทันธรรมชาติของความโลภว่าไร้ขีดจำกัด (Unlimited Wants) และการวางท่าทีต่อความโลภนี้ เป็นจุดต่างที่มีนัยสำคัญระหว่างเศรษศาสตร์กระแสหลักหลักกับพุทธเศรษศาสตร์ด้วย เพราะในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั้นพอรู้ว่ามนุษย์มีความต้องการก็ทำได้อย่างดีแค่กระตุ้นให้มนุษย์อยากต่อไปเพื่อจะได้บริโภคสินค้าและบริการได้มากๆ อันส่งผลดีต่อระบบตลาดและธุรกิจ หรืออย่างดีกว่านั้นก็แค่ให้มนุษย์รู้จักเลือกบริโภคอย่างมีคุณภาพ

การจัดการความโลภ : วิธีบริหารจัดการความโลภ (ตอน 1)

 

แต่พุทธเศรษฐศาสตร์พอรู้ว่า ธรรมชาติของความโลภไร้ขีดจำกัด ก็สอนให้มนุษย์

(1) รู้ทันตามความเป็นจริง ไม่ปล่อยมนุษย์ไว้กับสัญชาตญาณ

(2) แนะนำให้มนุษย์พัฒนาความต้องการทางปัญญาขึ้นมาแทนตัณหา

(3) เสนอทางเลือกด้วยการสอนให้มนุษย์ผลิตและบริโภคอย่างมีสติ

(4) เสนอทางสายใหม่ว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะเป็นอิสระจากความอยาก และสภาวะนี้ทุกคนสามารถทำได้ถ้ามีการศึกษาอย่างถูกต้อง

พุทธเศรษฐศาสตร์มองมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ได้มองมนุษย์ในฐานะที่เป็นปัจจัยทางการลงทุน (เพียงอย่างเดียว) เพราะมนุษย์มีศักยภาพมากกว่านั้น และควรพัฒนาไปให้ไกลกว่าการมีชีวิตอยู่เพื่อสนองสัญชาตญาณการกินอยู่ที่คนส่วนใหญ่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิต นอกจากนี้แล้วพุทธเศรษฐศาสตร์ยังเสนอว่ามนุษย์ยังต้องบริโภคอาหารทางวิญญาณ (มโนสัญเจตนาหาร) อีกด้วย ไม่ใช่แค่บริโภคเพื่อความอยู่รอดทางกายเท่านั้น แต่ต้องเป็นการบริโภคเพื่อความอยู่ดีและช่วยให้คนอื่นมีชีวิตที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป

2.พัฒนาความต้องการ

ความอยากในชีวิตของคนเรานั้นมี 2 อย่าง อย่างที่หนึ่งเป็นความอยากเชิงลบที่เราเรียกกันว่า “ความโลภ” หรือ “ตัณหา” อีกอย่างหนึ่งเป็นความอยากเชิงบวกที่เรียกว่า “ฉันทะ” คนทั่วไปมักยอมตนให้ตกเป็นทาสของโลภะหรือตัณหา พอได้สนองตัณหาก็มีความสุข แต่ทางพุทธศาสนาท่านเสนอว่า นอกจากการได้สนองตัณหาจะมีความสุขแล้ว การได้สนองความต้องการด้านปัญญา ด้านการทำคุณงามความดี ด้านการช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น หรือการทำงานอดิเรกก็เป็นความสุขเหมือนกัน หรือยิ่งไปกว่านั้นคือการไม่มีตัณหาให้สนอง ก็นับว่าเป็นความสุขขั้นสูงสุด ซึ่งทัศนะอย่างนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวตะวันตก ซึ่งมีวิธีคิดแบบเสรีนิยมที่เชื่อมั่นกันว่า มนุษย์มีเสรีที่จะใช้ชีวิตตามแต่จิตปรารถนา อันเป็นต้นตอของลัทธิปัจเจกชนนิยมสุดโต่ง การปล่อยตัววิ่งตามตัณหา ก็จึงเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งที่พวกเขาเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในโลกตะวันออกของเรา ซึ่งมีพุทธศาสนาเป็นแกนของอารยธรรมนั้น กลับสอนต่อไปว่า การสนองตัณหา ทำให้มีความสุขก็จริง แต่เป็นความสุขที่ไม่จีรัง ไม่เที่ยงแท้ ไม่ประเสริฐ เป็นความสุขที่มาพร้อมกับความเป็นทาส คือ เราจะตกเป็นทาสของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ได้รับการปรนเปรออย่างขาดสติตลอดไปไม่จบสิ้น สุขแท้ตามแนวของพุทธศาสนา คือ ความสุขที่ไม่เกิดจากการสนองตัณหา แต่เป็นความสุขจากการเป็นอิสระจากตัณหา หรือจากการหมดตัณหา (ตณฺหกฺขโย) ไปเลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับปุถุชนทั่วไป จู่ๆ จะให้เป็นอิสระจากตัณหาหรือความโลภย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ในเบื้องต้นจึงขอแนะนำให้รู้จักพัฒนาตัณหา หรือพัฒนาความต้องการไปพลางๆ ก่อน เมื่อสติปัญญาแก่กล้าแล้วค่อยยกระดับขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง คือการปฏิบัติเพื่อเป็นอิสระจากตัณหาโดยตรงด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

&<2288;

&<2288;

&<2288;