posttoday

กระดาษสาจากมูลช้างใช้ได้สารพัดประโยชน์

30 ธันวาคม 2554

ช้างถือว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองคนไทยมานานหลายร้อยปี เมื่อหลายปีก่อนจะเห็นช้างเดินร่อนเร่อยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.)

โดย...อณุศรา ทองอุไร

ช้างถือว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองคนไทยมานานหลายร้อยปี เมื่อหลายปีก่อนจะเห็นช้างเดินร่อนเร่อยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นจำนวนมาก จนมีกฎหมายห้ามนำช้างออกมาเดินเร่ร่อนเป็นอันตราย ช้างจึงได้ถูกจัดให้อยู่เป็นที่เป็นทางในที่ที่ควรจะอยู่กันมากขึ้น และเมื่อช้างมารวมตัวกันมากนับเป็นหลายร้อยเชือกนั้น ก็จะมีมูลช้างออกมามากในแต่ละวัน และเพื่อเป็นการกำจัดมูลช้างอย่างครบวงจรเพื่อเป็นการลดของเสียสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้พอให้มีเงินหมุนกลับไปใช้จ่ายให้กับผู้ดูแลช้าง

กระดาษสาจากมูลช้างใช้ได้สารพัดประโยชน์

โครงการคชอาณาจักรที่ จ.สุรินทร์ จึงได้ทำการอบรมให้ความรู้เพื่อจัดการกับมูลช้าง โดยนำไปรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ แปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างรายได้

เนื่องจากมูลสัตว์ที่ถ่ายออกมาแต่ละวัน เช่น ช้างกินอาหารวันละ 200-300 กิโลกรัมต่อเชือก ฟาร์มเลี้ยงม้า เลี้ยงแพะ ที่สัตว์ขับถ่ายมูลออกมามากมายในแต่ละวันจนต้องคิดเอามูลสัตว์มาทำให้เกิดประโยชน์ ด้วยแนวคิดว่ากระดาษทำมาจากเยื่อไม้ ฉะนั้นหากนำมูลสัตว์ซึ่งเป็นมูลที่ย่อยสลายจากพืชต่างๆ หรือแม้แต่พืชจำพวกอ้อย ใบไผ่ กล้วย หญ้า มาผ่านขั้นตอนกระบวนการผลิตด้วยมือเหมือนกระดาษสาทุกประการ แทนที่จะเอามูลช้างไปทิ้งขว้างไม่ได้ประโยชน์ ก็หมุนเวียนแปรรูปกลับมาใช้ใหม่

กระดาษสาจากมูลช้างใช้ได้สารพัดประโยชน์

โครงการคชอาณาจักร จ.สุรินทร์ จึงได้จัดฝึกอบรมการผลิตและแปรรูปกระดาษมูลช้างให้แก่ ชาวบ้าน นักเรียน และเยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้กระบวนการผลิตกระดาษมูลช้างและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าของที่ระลึก วัสดุใช้สอย เครื่องใช้ในสำนักงาน เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนรวมทั้งเจ้าของช้างและควาญช้างในท้องถิ่น ที่ได้เข้ามาร่วมดำเนินโครงการนำช้างคืนถิ่นเพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิด โดยมีเป้าหมายรับช้างเร่ร่อนกว่า 200 เชือก เข้ามาอยู่ภายในศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งจะทำให้มีมูลช้างเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและจะเป็นปัญหาตามมาในอนาคต ถ้ารู้จักจัดการจะสามารถลดของเสียสู่สิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

วันชัย ตันวัฒนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา ในฐานะผู้จัดการโครงการคชอาณาจักร จ.สุรินทร์ และดูแลโครงการฝึกอบรมแปรรูปกระดาษมูลช้างดังกล่าว เปิดเผยว่าการส่งเสริมการทำกระดาษจากมูลช้างเคยดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2548 แต่ขาดการเชื่อมต่อ ไม่มีการส่งเสริมด้านการแปรรูปกระดาษมูลช้างและส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ดังนั้นในการอบรมครั้งนี้จะเน้นตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงการผลิตเป็นกระดาษจากมูลช้างและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกเพื่อจำหน่าย ซึ่งนอกจากการผลิตกระดาษจากมูลช้างแล้ว ชาวบ้านที่เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้ถึงการนำมูลช้างไปผลิตเป็นก๊าชชีวภาพพลังงานทดแทนที่มีค่ามหาศาลอีกด้วย

วิธีการ

เริ่มแรกเก็บมูลช้างมาจากปางช้างแล้วนำมาล้างน้ำ 2-3 น้ำ เอาหินทรายกรวดออก นำไปตากแดด 1 วัน บางครั้งจะนำเปลือกของต้นสา ต้นสับปะรด ต้นกล้วย นำมาต้มแยกแล้วนำมาผสมกับมูลช้าง นำไปต้ม (หลังจากตากแดด 1 วัน)

กระดาษสาจากมูลช้างใช้ได้สารพัดประโยชน์

1.นำไปต้ม ใส่โซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) ใส่เพื่อให้ไฟเบอร์นุ่มและอ่อนตัวจนเปื่อย กำจัดกลิ่นเหม็น ฆ่าเชื้อโรค ต้มประมาณ 6 ชั่วโมง

2.ล้างน้ำ 2-3 น้ำ

3.นำไปต้มฟอกใส่ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ โซเดียมซิลิเกตกาวา ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง จะเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีม่วงสดใสขึ้น (เปลี่ยนสีเพราะนำไปย้อมสี)

4.นำไปล้างน้ำ 2-3 น้ำ

5.นำไปบดประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เป็นชิ้นเล็กๆ ถ้าต้องการเพิ่มสี ให้ใส่สีเลย ถ้าไม่ให้สีต้องนำไปต้มใส่เกลือ

6.นำไปอบเอาน้ำออก แล้วนำไปชั่งเพื่อที่จะนำไปใส่แผ่นเฟรม

แผ่นบางใช้ 200-250 กรัม

กระดาษสาจากมูลช้างใช้ได้สารพัดประโยชน์

แผ่นหนาใช้ 300-400 กรัม

แผ่นเฟรมกว้าง 50 ซม.ยาว 80 ซม.

7.หากตกแต่ง ให้ใส่กลีบดอกไม้ เศษหญ้า ใส่แผ่นเฟรมแผ่นแรกให้ติดเฟรม 15 นาที แล้วนำไปตากแดด 3-4 ชั่วโมง

วันชัย กล่าวว่า คุณภาพของกระดาษสาที่ได้จากมูลช้างนั้นมีคุณภาพที่ดีไม่ต่างจากกระดาษสาที่ได้จากพืชอื่นๆ เลย และสามารถนำไปแปรรูปได้สารพัดชนิด ทั้งกระดาษสาเป็นแผ่นๆ เพื่อห่อของขวัญทั่วไป กล่อง ร่ม พัด ดอกไม้ประดิษฐ์ สมุด ที่คั่นหนังสือ แล้วแต่ผู้ใช้จะนำไปสร้างสรรค์แบบไหนขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นขยะหรือสิ่งของรอบๆ ตัวเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขยะให้โลกใบนี้ก็สามารถมีของใหม่นำกลับมาหมุนเวียนใช้ได้