posttoday

นครแห่งความฝัน

22 มกราคม 2555

คงมีแต่เจ้าที่วัดสองพี่น้องกับวิญญาณเจ้าอ้ายเจ้ายี่เท่านั้นกระมังที่ล่วงรู้ว่า อนาคตจะเป็นเช่นไร

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

แม่น้ำน้อยนอบน้อมเหมือนชื่อ ในยามน้ำหลากไม่เคยเกรี้ยวกราดถึงขั้นเอ่อล้นทำลายเรือกสวนไร่นาจนวอดวาย ในยามน้ำแล้งไม่เคยขอดแห้งปล่อยแผ่นดินและแผ่นฟ้าระโหยระแหง ครั้นเข้าต้นฤดูหนาว ลมเย็นเบาๆ จากทิศอุดรจะโชยมาชวนต้นอ้อริมตลิ่งกับยอดกล้านาปรังเริงระบำไปพร้อมกับบทเพลงระบัดใบของป่ายางสูงใหญ่

พี่น้องสองคนบนรถเครื่อง (มอเตอร์ไซค์ตามภาษาปากชาวชนบท) ลัดเลาะไปตามถนนขนาดกว้างไม่เกินสามวา แต่ปูคอนกรีตอย่างดีเชื่อมต่อจากปลายทิศพายัพของ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี มุ่งหน้าสู่ จ.ชัยนาท บ้านเกิดของผู้เป็นแม่

นครแห่งความฝัน

น้องชายอยู่ครบพรรษาบวชเพิ่งลาสิกขา ผู้เฒ่าผู้แก่เรียกอย่างสมเกียรติว่า “ไอ้ทิด” อีกไม่นานเดือนจะได้ประดับเกียรติยศในฐานะ “บัณฑิต” หวังใจว่าจะใช้ปริญญากลบเรื่องนักเลงหัวไม้แต่ก่อนเสียที

พี่ชายคนไกลบ้าน ครานี้ได้หวนคืนรังกำเนิด นึกอะไรไปเรื่อยเปื่อย ไม่อีนังขังขอบเหมือนสายน้ำน้อยไหลเรื่อยที่สะท้อนอยู่ในครรลองสายตา หรืออาจเป็นเพราะภาพทัศน์ที่ปรากฏงดงามเกินจะเฉไฉให้กับความคิดสับสนวุ่นวาย

ใจคนคดเคี้ยวเกินคาดเดา ทั้งลึกล้ำเกินหยั่ง สายน้ำคดเคี้ยวก็จริง หากลึกไม่เกินสองลำตัวคน ไม่เคยเปลี่ยนเส้นทางมานับร้อยนับพันปี เป็นพยานผู้ไม่เคยโกหกยามแลเห็นความเกิดดับของอาณาจักรนานา ทั้งเมืองโบราณดงคอนเบื้องขวาและเมืองโบราณคูเมืองเบื้องซ้าย

แม้นดับสูญมานับพันปี แต่วันดีคืนดีเสียงมโหรีปี่พาทย์จะแว่วมาจากเมืองโบราณ ให้คนยุคใหม่ได้ขนหัวลุก กับรู้สำนึกว่า แผ่นดินนี้มิได้มีใครยุคใดยุคหนึ่งเป็นเจ้าของเพียงลำพัง

รถเครื่องกลางเก่ากลางใหม่ วิ่งไปด้วยความเร็วขนาดควายไล่ทัน แต่ไม่นานก็ถึงเมืองสรรค์ เมืองสมัยใหม่สวมใส่ไว้ในร่างของเมืองเก่า ตึกแถวไม้ยังพอมี แต่ความทันสมัยก็ไม่เคยมาถึงที่นี่ช้าเกินไป

“แวะเมืองสรรค์ก่อน เรายังพอมีเวลา” พี่ชายสั่ง

เมืองสรรค์-เบื้องทิศหัวนอนมีวัดพระแก้ว เจดีย์ยุคอโยธยา ทรวดทรงงามระหงสูงสล้าง ยกย่องกันว่างามที่สุดในอุษาคเณย์ เบื้องทิศปลายตีนมีวัดโตนดหลาย มีเจดีย์ยอดบัวตูมที่อยู่ใต้สุดจากแผ่นดินอาณาจักรสุโขทัย ที่ใจกลางมีวัดมหาธาตุ มีโบราณสถานมากมายเหลือคณานับ นับแต่ยุคลพบุรี
ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ ขนานนามเมืองนี้ไว้ในบทความคลาสสิกว่าด้วยศิลปะโบราณแห่งภาคกลางว่า “สรรคบุรีนครแห่งความฝัน”

สำหรับน้องชาย ไอ้ทิดสึกใหม่มันเหมือนฝันที่ได้มาเยือนถิ่นฐานของหลวงพ่อกวย วัดโฆษิตาราม หลวงพ่อโต วัดวิหารทอง และเกจิอาจารย์ทั้งหลายผู้ที่มือปราบและเสือร้ายภาคกลางต้องยอมสยบ ตัวน้องแต่ไรมาคบหาแต่กับเพื่อนหัวไม้ จะเข้าหาพระหาเจ้าก็มีแต่กราบขอของดีมาคุ้มตัว ไม่รู้ว่าผ่านผ้ากาสาวพัสตร์แล้วจะเป็นคนละคนหรือจะยิ่งหนักข้อ

“นึกว่าเอ็งจะไปทางนักเลงเสียแล้ว” จู่ๆ พี่ชายเปรยขึ้น หลังสักการะหลวงพ่อหมอ หรือหลวงพ่อหลักเมือง พระพุทธรูปมิ่งขวัญอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมือง “ก็รู้ว่าบ้านเราชอบคบหาคนไม่เลือกหน้า น้ำใจกว้างขวางทั้งชายทั้งหญิง พี่เองเป็นคนพลัดบ้าน ไม่ได้ดูแลน้องทั้งคู่ กลัวก็แต่เอ็งคนเดียวจะเหมือนพ่อ แต่ปัญญาไม่ถึงจะเสียคนเปล่าๆ”

“ไม่เหมือนกันหรอกน่า”

“แต่เหมือนก็ดี” น้องชายงุนงงไม่รู้พี่ชายจะมาไม้ไหน “เอ็งจบแล้วทั้งทางโลกทางธรรม ถึงเวลาเป็นผู้ใหญ่กับเขาเสียที”

บัดนี้ทั้งคู่อยู่ท่ามกลางหมู่ปรางค์เจดีย์วิหารปรักหักพังของวัดมหาธาตุ หรือวัดศีรษะเมือง ถนนที่พาดผ่านหน้าวัดเรียกถนนหน้าพระลาน เตือนให้รำลึกว่าครั้งหนึ่งอีกฟากถนนคงมีเวียงวังของเจ้าผู้ครองนครสรรคบุรี อันมีนามเดิมว่า เมืองแพรกศรีราชา เจ้าผู้ครองนครพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า เจ้ายี่พระยา 1 ในพระโอรส 3 พระองค์ ของสมเด็จพระนครินทรราชาธิราช ครั้นพระราชบิดาสวรรคต จึงรุดสู่อโยธยาหมายชิงราชสมบัติจากพระเชษฐานามเจ้าอ้ายพระยา ผู้ครองเมืองสุพรรณภูมิ จนกระทำยุทธหัตถีกับพระเชษฐาแล้วสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ นับแต่นั้นเมืองแพรกศรีราชากับสุพรรณร่วงโรยลงจนเหลือเพียงพยานจากอดีตตามวัดวาอารามทั่วเมือง

และเหลือเพียงพี่น้องคู่หนึ่ง ฝ่ายพี่ชายเหม่อมองพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟืองสีเทาหม่นในฟ้าสีครามจัด น้องชายจ้องมองซากพระมหาธาตุที่ล้มพังภินท์จนเหลือเพียงกองอิฐแดงกลางลานดินเหลือง ในใจครุ่นคิดสารพัน ทั้งชีวิตภายหน้าในแดนไกล พ่อแม่และแผ่นดินเกิด

“ไม่นานย่าคงไปสบาย” น้องชายหันขวับสายตาขุ่นเคืองที่พี่คนไกลบ้านบังอาจแช่งย่าที่เอ็นดูเขายิ่งกว่าหลานคนไหน “ที่ดินบ้านเรามีแค่กระผีกก็จริง แต่ทำนาได้ปีละสองสามครั้ง มีค่ายิ่งทอง แล้วนี่เขาแบ่งกันแล้ว มีพี่ซึ่งเป็นคนโตกับพี่คนรองของเรา ส่วนคนเล็ก ...นี่เอ็งรู้เรื่องหรือเปล่า?”

“ช่างหัวพวกญาติมัน ไปเถอะ”

น้องชายตัดบทดื้อๆ พี่ชายยิ้มบางๆ มือตบที่เบาะเป็นนัย แล้วคว้ากุญแจขับเอง รถเครื่องพาทั้งคู่ลัดเลาะไปยังโบราณสถานอีกที่หมายทั้งที่อยู่ในจุดหมาย วัดพระยาแพรก วัดพระแก้ว วัดโตนดหลาย วัดมเหยงค์ จนกระทั่งวกเข้าไปในสุมทุมป่าละเมาะกลางเมือง กลางร่มไม้ครึ้มมีพระปรางค์กับเจดีย์องค์ย่อมอยู่เยื้องกัน

“นี่เขาเรียกวัดสองพี่น้อง” พี่ชายเปรย “คนท้องถิ่นเล่าว่าเจ้าสามยุให้เจ้าอ้าย เจ้ายี่ รบชิงเมืองกัน ครั้นตายทั้งคู่ เจ้าสามไม่รู้สำนึกผิดหรืออย่างไร เลยสร้างปรางค์ใหญ่ให้เจ้าอ้าย ส่วนเจดีย์ตรงนั้นให้เจ้ายี่ จริงเท็จอย่างไรก็ยกให้เป็นตำนานแล้วกัน”

แต่น้องชายเหมือนหูทวนลม สายตาหรี่ลง ไม่รู้เพราะแสงจ้าที่ทะลุผ่านแมกไม้ส่องเข้าตา หรือว่าเบื่อหน่ายพี่ชายอวดภูมิรู้เรื่องโบราณ

“เห็นมามากแล้ว พี่น้องห้ำหั่นกันเอง อย่าว่าแต่เจ้าเมือง แม้แต่ยาจกยังไม่เว้น พวกเราพี่น้องไม่เคยคิดเรื่องนี้ เพราะยังอ่อนต่อโลกนัก ที่ทางบ้านเรามันไม่ใหญ่ไปกว่าท่าข้าว แต่ของแค่นั้นยังทำให้คนสายเลือดเดียวกันลุกขึ้นมาทำบาปเวรต่อกันไม่รู้จักกี่หนแล้ว”

“โภคตณฺหาย ทุมฺเมโธ หนฺติ อญฺเว อตฺตนํ. ผู้มีปัญญาทราม ย่อมฆ่าตนเองเหมือนฆ่าผู้อื่น เพราะอยากได้โภคทรัพย์” ทิดผู้น้องอวดบ้าง

“อย่างงั้นหรือ?” พี่ชายยิ้มเอ็นดู “เอ็งฟัง ที่ดินบ้านเราญาติเขาแบ่งเป็น 3 ส่วน แต่พี่ขอให้เขาตัดเหลือ 2 ส่วน ส่วนของพี่ผู้หญิงให้ดูแลแผ่นดินปู่ย่า ตามธรรมเนียม กับส่วนของลูกผู้ชายคนเล็กให้ไว้สืบสายเลือดครอบครัว ส่วนลูกชายคนโตโบราณเขาให้ไปสร้างเนื้อสร้างตัวกับเมีย”

“อย่างงั้นหรือ พี่ฟังบ้าง ที่ดินบ้านเรามันผืนแค่นั้น ทำไมไม่ปล่อยให้มันโตก่อน เผื่อมันจะตัดสินใจเองได้ ไม่ยังงั้นก็มาเสี่ยงทายที่วัดสองพี่น้องของพี่นี่ก็แล้วกัน”

ไม่รู้เพราะอะไรน้องชายที่ปั้นปึ่งจึงยิ้มขึ้นมาได้บ้าง แล้วจู่ๆ ก็พากันกอดคอหัวเราะกันทั้งสองคน

คงมีแต่เจ้าที่วัดสองพี่น้องกับวิญญาณเจ้าอ้ายเจ้ายี่เท่านั้นกระมังที่ล่วงรู้ว่า อนาคตจะเป็นเช่นไร

ณ อดีตอาณาจักรที่ครั้งหนึ่งพี่และน้องรักใคร่กันปานใด