posttoday

ไหว้พระพุทธฉายและชมพระปรมาภิไธยย่อ

18 มีนาคม 2555

สิ่งมหัศจรรย์ทางพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งในประเทศไทย

โดย...สมาน สุดโต

สิ่งมหัศจรรย์ทางพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่ไม่มีในประเทศอื่น สิ่งนั้นคือ พระพุทธฉายาลักษณ์ ที่รู้จักกันในนามพระพุทธฉาย หรือเงาของพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ถาวรที่เงื้อมเขาพุทธฉาย ต.หนองปลาไหล สระบุรี เมื่อขึ้นไปไหว้ถือว่าได้ตามรอยพระบาทพระเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ เช่น รัชกาลที่ 5 ที่ทรงให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร ไว้ที่ผนัง พระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

กรมศิลปากรพาทัวร์

สืบเนื่องมาจากกรมศิลปากรได้จัดโครงการเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ครั้งที่ 1 ณ จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2555 ซึ่งผมรายงานพระราชวังสีทาและพระพุทธบาทไปแล้ว วันนี้จึงรายงานเรื่องพระพุทธฉาย และถ้ำพระโพธิสัตว์ อันเป็นตอนสุดท้าย

สำหรับพระพุทธฉาย ซึ่งเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานติดอยู่ ณ เงื้อมเขาพุทธฉาย อยู่ภายในมณฑปสองยอด บนไหล่ภูเขาวัดพระพุทธฉาย หมู่ที่ 1 ต.หนองปลาไหล อ.เมืองสระบุรี

ไหว้พระพุทธฉายและชมพระปรมาภิไธยย่อ

 

การเดินทางเข้าวัดพระพุทธฉาย กรมศิลปากร แนะนำว่ามีถนนแยกจากถนนพหลโยธิน ตรงกิโลเมตรที่ 102 (หมู่บ้านโคกหินแร่ ต.หนองยาว) เข้าไป 5 กิโลเมตร ระยะทางตามถนนจากตัวเมืองสระบุรี ลงทางใต้ 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไป 5 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ประดิษฐานพระพุทธฉายได้โดยสะดวกสบาย

คณะของพวกเราไปถึงใกล้ค่ำ ต้องเร่งเวลาบูชาและชมพระปรมาภิไธยย่อ เพราะในเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่จะต้องปิดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ ไม่ว่าที่พระพุทธฉาย หรือที่ตั้งพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขา (สำหรับคนศรัทธาที่แข็งแรง) ที่ต้องขึ้นบันไดไปอีก 270 ขั้น

สำหรับที่ประดิษฐานพระพุทธฉายนั้นไม่สูง ขึ้นบันไดเพียง 72 ขั้นก็ถึงแล้ว ที่นั่นจะได้บูชาพระพุทธฉาย ซึ่งค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 21632171) แต่ต้องใช้เวลาเพ่งพินิจจึงจะเห็นเงาพระพุทธฉายที่เลือนราง สูงประมาณ 5 เมตร ทาบอยู่กับหน้าผา ด้านพระบาทมีทองคำเปลวปิดอยู่หนาแน่น

การปิดทองเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง แต่สำหรับพระพุทธฉายคิดว่าไม่สมควร เพราะเป็นการทำให้พระพุทธฉายเสียหาย จึงไม่ทราบว่ากรมศิลปากรละเลยเรื่องพวกนี้ได้อย่างไร

ใกล้กับพระพุทธฉายเป็นพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ยาว 15 วาเศษ ความแตกต่างพระพุทธไสยาสน์องค์นี้กับองค์อื่นๆ (ในที่อื่นๆ) คือพระบาทซ้ายไขว้ทับพระบาทขวา เหลื่อมกันเห็นชัดเจน ใครศรัทธาจะห่มผ้าพระพุทธไสยาสน์ก็ทำได้ เพราะมีผ้าจีวรให้เช่า เจ้าหน้าที่จะทำการห่มให้ตามปรารถนาและศรัทธา

ติดๆ กับพระพุทธฉายที่พวกเราต้องใช้เวลาชื่นชมคือ รอยจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระราชวงศ์

เอกสารกรมศิลปากรที่แจกจ่ายแก่ผู้เดินทางเล่าถึงความเป็นมาของพระพุทธฉายดังนี้

ไหว้พระพุทธฉายและชมพระปรมาภิไธยย่อ

 

การค้นพบพระพุทธฉาย

สันนิษฐานว่า ได้ค้นพบในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 21632171) ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ต่อมาสร้างมณฑปครอบพระฉายาลักษณ์ไว้ สถานที่นี้เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน ตลอดจนพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มา และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เป็นต้น

จากพงศาวดารปรากฏชัดว่า “สมเด็จพระเจ้าเสือ พร้อมด้วยเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธบาท เป็นต้น จนถึงกษัตริย์พระองค์สุดท้ายสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธฉาย ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม หน้า 484) ได้กล่าวไว้ในบท “สมโภชพระพุทธบาท” เกี่ยวกับพระพุทธฉายว่า ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ว่า “ครั้นเดือนอ้ายเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธฉาย แรมอยู่ 3 วัน ฯลฯ แล้วเสด็จกลับมาสมโภชพระพุทธบาท 7”

การบูรณะ

จากประวัติและพระราชพงศาวดารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า พระพุทธฉายมีความเจริญสมัยหนึ่ง ที่มีหลักฐานปรากฏจนถึงปัจจุบันนี้คือ มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทบนยอดเขาลม แต่เนื่องจากภัยทางสงคราม บ้านเมืองไม่สงบสุข มีการรบทัพจับศึก เกิดการระส่ำระสายเปลี่ยนแปลงแผ่นดิน บ้านเมืองเดือดร้อนดังปรากฏในประวัติศาสตร์ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ พระพุทธฉายจึงถูกทอดทิ้ง ชำรุดทรุดโทรมลง มณฑปซึ่งสร้างไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและศาสนสถานถาวรวัตถุต่างๆ เสียหายไปมาก

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีการบูรณะฟื้นฟูพระพุทธฉายอีกครั้งหนึ่ง ตามหลักฐานที่ค้นพบระบุว่า “พระพุทธศาสนาล่วงมาได้ 2374 ปีมะโรง นักษัตรจัตวาศก มีพระคุณเจ้าสมภาร 4 วัด คือ พระปลัด วัดปากเพรียว 1 สมภารวัดบางระกำ 1 สมภารดวงวัดเกาะเลิ่ง 1 และสมภารวัดบางเดื่อ 1 สมภารทั้งสี่พร้อมทั้งญาติโยมได้มีอุตสาหะพากันมาบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธฉายเป็นเวลาถึง 7 ปี และในปีที่ 8 จึงพระมหายิ้มได้มาร่วมกับสมภารทั้งสี่พร้อมด้วยญาติโยมได้บูรณปริสังขรณ์พระพุทธปฏิมากร ระเบียงมณฑป ลงลักปิดทอง บ้างจำลองลายสุวรรณอันบวรปฏิสังขรณ์พระสถูปเจดีย์ สร้างหอระฆัง สร้างศาลา เป็นต้น

ด้านบนยอดเขาได้บูรณะพระมณฑปและลานพระโมคคัลลานะ ขุดบ่อน้ำ บูรณะพระอุโบสถ และตบแต่งสถานที่เป็นเวลาอีก 3 ปี จนถึงปีฉลูจึงเสร็จตามความประสงค์ ได้จัดมหกรรมฉลององค์พระพุทธฉายเมื่อปีเถาะเบญจศก”

ไหว้พระพุทธฉายและชมพระปรมาภิไธยย่อ

 

ร.5 เสด็จฯ

ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จมาฟื้นฟูบูรณะพระพุทธฉาย ทรงสร้างมณฑปขึ้นใหม่เป็นมณฑปสองยอดแทนมณฑปเดิม และทรงบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่นๆ มีเสนาสนะสงฆ์ เช่น ศาลา พระอุโบสถบนยอดเขาลม ปฏิสังขรณ์มณฑปยอดเดี่ยวบนยอดภูเขาด้านตะวันออก ซึ่งยังเหลือเป็นอนุสรณ์อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

หลังจากนั้นพระองค์พร้อมด้วยพระราชวงศ์และข้าราชบริพารยังได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธฉายอีกหลายครั้ง ดังปรากฏในประวัติ ศาสตร์ การประพาสต้นและจดหมายเหตุ การบำเพ็ญพระราชกุศลนับเนื่องเกี่ยวกับพระพุทธฉาย เกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์รัน และพระอธิการรูปอื่นๆ อีกมาก ให้ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ จปร ติดอยู่ ณ เงื้อมผาด้านทิศตะวันตกของมณฑปพระพุทธฉาย พร้อมด้วยนามาภิไธยพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งปรากฏชัดเจนจนถึงปัจจุบันนี้

ในรัชกาลต่อๆ มาก็ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จมาพระพุทธฉายเป็นประจำ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่เสด็จฯ มาทรงทอดผ้าพระกฐินเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2516

นอกจากนั้นก็มีพระนาม สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประดิษฐานอยู่ด้วย

พระพุทธฉายจึงเป็นสถานที่ที่ชาวพุทธควรไปบูชา เพราะเป็นที่แห่งเดียวที่มีลักษณะเป็นฉายาลักษณ์ หรือเงา ที่เสถียรถึงปัจจุบัน

ถ้ำพระโพธิสัตว์

ส่วนถ้ำพระโพธิสัตว์นั้น ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำพุ หมู่ที่ 10 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย เส้นทางที่กรมศิลปากรแนะนำคือ ไปตามถนนมิตรภาพผ่าน อ.แก่งคอย ถึงหลักกิโลเมตรที่ 129 มีทางแยกขวาข้างสำนักงานพัฒนาชุมชนเขต 1 เข้าสู่นิคมสร้างตนเองทับกวางไปตามถนนลาดยางอีก 2 กิโลเมตร ให้แยกซ้ายผ่านหมู่บ้านเกษตรกรอยู่ระหว่างหุบเขาระยะทาง 9 กิโลเมตร ถึงวัดพระโพธิสัตว์ ที่ตั้งอยู่เชิงเขา ที่วัดนี้มีพระเจดีย์สูงใหญ่สวยงาม แต่ไม่ใช่เจดีย์ที่เราเห็นทั่วไป เพราะฐานเจดีย์คือศาลาอเนกประสงค์ ในบริเวณวัดที่ร่มรื่น สะอาด มีพระเณรคอยกวาดใบไม้ทำความสะอาดตลอด มีห้องน้ำสะอาด เพื่อบริการผู้แสวงบุญหลายห้องด้วยกัน สิ่งที่พึงระวังในวัดคือฝูงลิงป่าที่คอยหาโอกาสแย่งอาหาร หากใครถือหรือเดินกิน เหมือนคอยสั่งสอนว่าอย่าเดินกิน

ส่วนการขึ้นไปถ้ำพระโพธิสัตว์ ต้องไต่บันได 257 ขั้น ตามเส้นทางแคบๆ วกไปวนมา จนกระทั่งถึงถ้ำพระโพธิสัตว์ ภายในถ้ำจะเห็นพระเจดีย์ที่สร้างใหม่อยู่กลางถ้ำ ส่วนไฮไลต์ของถ้ำคือ ภาพสลักนูนต่ำเป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 1314) และรูปเทพอื่น รวม 6 รูป ถูกสลักที่ผนังสูงจากพื้นถ้ำประมาณ 3.27 เมตร ถึง 5.35 เมตร ขอบเขตของภาพ 3.30X2.08 เมตร ดูด้วยสายตาสามัญอย่างพวกเราก็บอกได้ว่าอัศจรรย์และงามนัก

แต่เหนืออื่นใดรู้สึกอัศจรรย์ใจถึงศรัทธาชาวพุทธในสมัยโบราณที่สรรหาทำเลสร้างพระพุทธรูปในผนังถ้ำให้ปลอดจากอันตรายใดๆ รวมทั้งภัยจากมนุษย์และธรรมชาติ สามารถประดิษฐานถาวรเพื่อรองรับศรัทธาจากชาวพุทธเป็นนิรันดร์ ดังนั้นท่านไม่ควรทิ้งโอกาสอันงาม ตราบใดที่ร่างกายยังแข็งแรง