posttoday

การเจริญอินทรีย์

18 มีนาคม 2555

ในทางพระพุทธศาสนานั้น “อินทรีย์” หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในกิจของตน

โดย...คุณสลิต

ในทางพระพุทธศาสนานั้น “อินทรีย์” หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในกิจของตน อินทรีย์ในทางพระพุทธศาสนามีหลายนัย แต่ที่สำคัญในการทำความดีนั้น จะต้องประกอบด้วย อินทรีย์ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นธรรมหมวดหนึ่งใน โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมอันเป็นไปในฝ่ายแห่งความตรัสรู้

การเจริญอินทรีย์

 

ศรัทธา คือ สัทธินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการน้อมใจเชื่อ

วิริยะ คือ วิริยินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการประกอบความเพียร

สติ คือ สตินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการระลึก

สมาธิ คือ สมาธินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการตั้งมั่นไม่ฟุ้งซ่าน

ปัญญา คือ ปัญญินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการรู้ตามความเป็นจริง

การกระทำความดี โดยเฉพาะที่จะเป็นไปในทั้งทางสมถะและวิปัสสนา ต้องมีอินทรีย์ 5 ที่เจริญดีแล้ว และต้องมีความสมดุลกัน อินทรีย์ 4 ประการ (ยกเว้น สตินทรีย์) หากมากไปหรือน้อยไปก็ไม่ดี มีเพียงสติเท่านั้นที่ยิ่งมากยิ่งดี โดยความสมดุลนั้นต้องจัดเป็นคู่ คือ ศรัทธากับปัญญา ต้องเหมาะสมกัน และปรับ วิริยะกับสมาธิ ให้เหมาะสมกัน หากศรัทธามากเกินไป แต่อ่อนปัญญา ก็มีแต่ความเชื่อขาดการรู้เห็นพิจารณา หากปัญญามากไปก็จะเกิดแต่ความสงสัย และหากความเพียรมากกว่าสมาธิก็จะฟุ้งซ่าน หากสงบเป็นสมาธิมากกว่าความเพียร ก็จะหลับได้ ส่วนสตินั้นเป็นไปยิ่งมากยิ่งดี มีแต่ส่งเสริมให้คุณความดีงอกงาม ดังนั้นจึงต้องรู้จักปรับอินทรีย์ 5 ให้สม่ำเสมอกัน การเจริญสมาธิและวิปัสสนาจึงจะก้าวหน้าไปได้เร็ว

อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติบางครั้ง อินทรีย์บาง ประการในอินทรีย์ 5 นั้น อาจเกิดความย่อหย่อน เช่น เกิดความเพียรย่อหย่อน จะทำอย่างไรที่จะปรับเพิ่มอินทรีย์ที่อ่อนนั้นๆ ในอรรถกถาราหุโลวาทสูตร ได้แสดงวิธีการไว้ ดังนี้

อินทรีย์ คือ ศรัทธา ความเชื่อ ย่อมหมดจด ด้วยอาการ 3 อย่าง คือ

เว้นบุคคลผู้ไม่มีความเชื่อ

เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้ บุคคลผู้มีความเชื่อ

พิจารณาพระสูตรที่เป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใส

อินทรีย์ คือ วิริยะ ความเพียร ย่อมหมดจด ด้วยอาการ 3 อย่าง คือ

-เว้นบุคคลเกียจคร้าน

-เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้บุคคลผู้ปรารภความเพียร

-พิจารณาถึงความเพียรชอบ

อินทรีย์ คือ สติ ความระลึก ย่อมหมดจด ด้วยอาการ 3 อย่าง คือ

-เว้นบุคคลผู้หลงลืมสติ

-เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้บุคคลผู้ตั้งสติมั่น

-พิจารณาหลักการเจริญสติ (สติปัฏฐาน)

อินทรีย์ คือ สมาธิความตั้งใจมั่น ย่อมหมดจดด้วยอาการ 3 อย่าง คือ

-เว้นบุคคลผู้ไม่ตั้งใจมั่น

-เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้บุคคลผู้ตั้งใจมั่น

-พิจารณาฌานและวิโมกข์

อินทรีย์ คือ ปัญญาความรู้ชัด ย่อมหมดจดด้วยอาการ 3 อย่าง คือ

-เว้นบุคคลผู้มีปัญญาทราม

-เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้บุคคลผู้มีปัญญา

-พิจารณาญาณจริยาที่ลึกซึ้ง

นอกจากการพิจารณาถึงสิ่งที่ทำให้อินทรีย์แต่ละข้อเจริญดังที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการเว้นผู้มีอินทรีย์ไม่แก่กล้า การคบกัลยาณมิตรผู้มีอินทรีย์เจริญดีแล้ว ย่อมทำให้อินทรีย์ของเราเจริญด้วย