โครงการพัฒนาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ‘3 ทศวรรษ เด็กนักเรียนไทยอิ่มท้อง’
โดย...ชุติมา สุวรรณเพิ่ม
โดย...ชุติมา สุวรรณเพิ่ม
เมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริและทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จ.สงขลา ยะลา และนราธิวาส
จากนั้นในปลายเดือนเดียวกัน พระราชกิจในเจ้าหญิงของปวงไทยไม่เคยได้ทรงหยุดพักผ่อนแต่อย่างใด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริและทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ จ.น่าน ลำปาง และแพร่ หลายพระราชกิจเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ด้อยโอกาส
พสกนิกรไทยจึงคุ้นชินตากับการรับชมข่าวในพระราชสำนักกับข่าวพระราชกิจที่ต้องประทับรถยนต์พระที่นั่ง ต่อด้วยประทับเฮลิคอปเตอร์ ระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร
ในวันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังคงเสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในชนบทห่างไกลและทุรกันดารทั่วไทย ท่ามกลางแสงแดดแรงร้อนจัดในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ไม่ใช่อุปสรรคกั้นขวางพระราชหฤทัยมุ่งมั่นได้เลย
000 เด็กนักเรียนไทยไม่อดข้าวกลางวัน
“...ที่จริงสถานการณ์ต่างๆ ก็เปลี่ยนไป แต่ว่าเท่าที่พยายามทำก็ยังย้ำเน้นในการทำงานในเขตทุรกันดาร เพื่อให้บุคคลที่อยู่ในเขตทุรกันดารเข้าถึงยากนั้น ได้รับบริการที่เหมาะสม ทั้งความรู้ สุขภาพอนามัย ความมีโอกาสในการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองอย่างมีเกียรติ แล้วก็สามารถที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น...”
พระราชดำรัส พระราชทานเมื่อวันพุธที่ 26 เม.ย. 2549
จากจุดเริ่มต้นที่ได้ทอดพระเนตรสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ในโอกาสที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศไทยมาตั้งแต่ยังเยาว์พระชันษา
สิ่งที่ทรงสังเกตเห็นก็คือ ความยากจน เด็กๆ เจ็บป่วย ขาดอาหาร ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เมื่อทอดพระเนตรสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ทรงทราบปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความขาดแคลนอาหารและปัจจัยต่างๆ การขาดบริการสาธารณสุขก็เป็นเรื่องใหญ่
ดังนั้น เมื่อทรงสำเร็จการศึกษา จึงทรงเริ่มงานพัฒนา “โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา โดยทรงทดลองทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 3 โรง เพื่อพัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร โครงการแรกเริ่มขึ้นในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหาร พัฒนาภาวะโภชนาการ และสุขภาพของเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร รวมทั้งความเป็นอยู่ของเด็กให้ดีขึ้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและใช้การศึกษาเป็นหลักในการทำงานพัฒนา ซึ่งหลังจากทรงทดลองทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันแล้ว จึงมีพระราชดำริในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนโครงการต่างๆ อาทิ โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ
ข้าราชบริพารที่มีโอกาสโดยเสด็จถวายงาน ว่าที่ ร.ต.กิตติ ขันธมิตร กรมวังผู้ใหญ่ สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้สัมภาษณ์กับโพสต์ทูเดย์
ท่านกรมวังผู้ใหญ่ ว่าที่ ร.ต.กิตติ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการตามพระราชดำริครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 6 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้านงานนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ และทุนพระราชทานเพื่อการศึกษา ด้านการพัฒนาอาชีพ ด้านการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการ ด้านการพระราชทานความช่วยเหลือ และด้านความร่วมมือระดับนานาชาติ
“โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ที่ทรงริเริ่มเมื่อปี 2523 เพราะทรงเห็นว่าเด็กๆ ไม่มีอาหารกลางวันกิน หรือบางคนอาหารเช้าไม่มีให้กินด้วยซ้ำ เด็กๆ ส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนครับ แต่ก่อนเรียกว่าโรงเรียนชาวเขาและห่างไกลคมนาคม ซึ่งคำว่าห่างไกล คืออยู่ตามป่าตามเขา ตามชายแดน จึงทรงช่วยราษฎรกลุ่มนี้ ตั้งแต่เรื่องสุขภาพอนามัย อาชีพ การศึกษา
การช่วยเหลือไม่ใช่นำอาหารไปยื่นให้ตรงๆ แต่สอนให้เด็กปลูกพืชปลูกผัก มีรับสั่งว่าให้เด็กๆ มีความรู้เรื่องเกษตรกรรมติดตัวไป แล้วยังนำมาบูรณาการกับการเรียนได้อีกด้วย โดยเริ่มทดลองทำ 1 ปี ซึ่งได้ผลดีมาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามผลการดำเนินด้วยพระองค์เองมาโดยตลอดครับ
ผักบุ้ง ผักคะน้า ที่เด็กๆ ปลูกกันแล้ว ทรงส่งเสริมให้เด็กรับประทานผักพื้นบ้าน ผักกูด ผักหวาน แล้วเมื่อมีปัญหาอะไร มีพระราชดำริให้แก้ไขปัญหานั้นทันทีครับ
ยกตัวอย่างเรื่องการเลี้ยงปลาดุก คุณครูโรงเรียนบนภูเขาที่ จ.น่าน ได้เฝ้าฯ รับเสด็จกราบทูลว่า เลี้ยงปลาไม่โต เมื่อเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ เจออธิบดีกรมประมงก็ทรงไม่ลืมสอบถามว่าทำไมปลาไม่โต คำตอบที่ทรงได้คือ ถ้าอากาศหนาว ปลาก็จะไม่กินอาหาร การแก้ไขก็ทำได้หลายอย่าง เช่น หาพันธุ์ปลาที่เหมาะกับอากาศหนาวเย็น หรือใช้พลาสติกคลุมบ่อเลี้ยงให้น้ำอุ่นขึ้น หรือบางครั้งเด็กนักเรียน แม้เพียงคนเดียวกราบทูลปัญหาก็ยังทรงจำเด็กคนนั้นได้ ทรงจำชื่อของเขาได้ ทรงมีความจำเป็นเลิศครับ เด็กป่วยคนไหน ใครเป็นอะไร ทรงจดจำได้ไม่ว่าสถานที่ หลายๆ เหตุการณ์ และไม่ทอดทิ้ง มีพระราชดำริให้ติดตามและแก้ไขปัญหาทุกครั้ง” ท่านกรมวังผู้ใหญ่ ว่าที่ ร.ต.กิตติ กล่าว
การดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการต่างๆ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินที่องค์การและเอกชนทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสต่างๆ
เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2534 คณะผู้ร่วมดำเนินโครงการทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.)” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย
รวมถึงการพระราชทานความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งมีพระราชประสงค์ที่จะส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชีย ให้มีสุขภาพดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย
000 โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ
ภาพข่าวราชสำนักที่คุ้นตากันอีกภาพหนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางพระองค์เรียบง่ายทุกๆ ครั้ง ตรัสกับคุณครูนักเรียนที่มาตั้งแถวเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างไม่ถือพระองค์
พระราชกิจพระบรมวงศ์ชั้นสูงสุด เจ้าหญิงของพสกนิกรชาวไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ทรงเยี่ยมราษฎร ทอดพระเนตรห้องพยาบาล โรงอาหารห้องครัว ห้องสมุด การสาธิตการเรียนการสอน โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน กิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ห้องเรียนชั้นอนุบาล และโครงการฝึกอาชีพ
ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ รวมทั้งหน่วยแพทย์พระราชทาน และทรงรับผู้ป่วยไว้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ พร้อมกันนี้ได้พระราชทานเงินให้แก่โรงพยาบาลที่มาร่วมออกหน่วย เพื่อสมทบกองทุนสงเคราะห์คนไข้ยากจนในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทรงติดตามการดำเนินงานโครงการจัดการและส่งต่อผู้ป่วยในพระราชานุเคราะห์ฯ ที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนไข้ให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ท่านกรมวังผู้ใหญ่ ว่าที่ ร.ต.กิตติ กล่าวว่า จากเรื่องโภชนาการ ทรงขยายโครงการพระราชดำริไปในเรื่องการศึกษา นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการ คือพัฒนาหลายๆ ด้านตามสภาพปัญหาของพื้นที่ ทั้งด้านเกษตร โภชนาการ สุขภาพอนามัย การศึกษา การส่งเสริมอาชีพ การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่เฉพาะตามจังหวัดต่างๆ ทั่วทั้ง 4 ภาคของประเทศ
“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระเมตตามาก ปัญหาต่างๆ ที่ราษฎร เด็กนักเรียน กราบบังคมทูล แม้ปัญหาเล็กน้อยท่านไม่ทรงทิ้งประเด็นเลย ทรงหาหนทางแก้ไข และติดตามผลว่าปัญหานั้นแก้ละล่วงแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญหาใหญ่เรื่องการศึกษาทรงไม่ทอดทิ้งแน่นอนครับ
เวลาพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปพัฒนาที่ไหน จะทรงเริ่มที่สถานศึกษา ถ้ามีโรงเรียนก็เริ่มที่นั่นเลย แต่ถ้าไม่มีโรงเรียนก็จะเริ่มสร้างอาคารเรียนขึ้นมา และมีพระราชกระแสว่า ครูคือเครือข่ายนำการพัฒนาลงไปในพื้นที่และสะท้อนปัญหาต่างๆ ขึ้นมา ถ้าที่ไหนขาดครูก็ทรงจัดหาครูให้ด้วย โรงเรียนที่ทรงสร้างมีทั้งตั้งชื่อตามหมู่บ้าน หรือพระราชทานชื่อตามชื่อบุคคลที่ถวายเงิน และเมื่อครั้งรัฐบาลอินเดียถวายรางวัลอินทิรา คานธี ซึ่งถวายเงินมาด้วยก็ทรงนำเงินรางวัลก้อนนั้นมาสร้างโรงเรียน ชื่อโรงเรียนรางวัลอินทิรา คานธี” ท่านกรมวังผู้ใหญ่ ว่าที่ ร.ต.กิตติ กล่าว
ในปีการศึกษา 2554 มีสถานศึกษาที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวนทั้งสิ้น 776 แห่ง
ประกอบด้วย โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 178 แห่ง โรงเรียนและห้องเรียนสาขา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 193 แห่ง
ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยมอแกนอุทยานแห่งชาติ ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 277 แห่ง
โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและสถาบันปอเนาะและโรงเรียนในการกุศลของวัด