posttoday

คำคมสอนใจจากแดนอีสาน

11 เมษายน 2555

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

คำคมสอนใจจากแดนอีสาน

ในแถบถิ่นแดนดินอีสาน มีสุภาษิตคำพังเพยโบราณที่สืบทอดต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพชน เรียกว่า ผญา (อ่านว่า ผะหยา) เป็นคำคมบาดลึกกินใจ ไพเราะสละสลวย แฝงไว้ด้วยปริศนาที่ปู่ย่า ตายายนิยมไว้ใช้สั่งสอนลูกหลานให้ประพฤติตนอยู่ในจารีตประเพณีทำนองคลองธรรม

จากความประทับใจนี่เอง แปรเปลี่ยนเป็นพลังให้ ประสิทธิ์ วิชายะ ประติมากรหนุ่มชาวขอนแก่น ลงมือลงแรงปลุกปั้นผลงานศิลปะร่วมสมัยอันโอ่อ่าตระการตา หวังบอกเล่าเรื่องราวให้สังคมซึมซับสัมผัสความงดงามแห่งมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมอีสาน

“หลังเดินทางไกล มาร่ำมาเรียน มาทำงาน มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุง รู้สึกว่าตัวเองหลงลืมอะไรบางอย่างไป หลงลืมมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมอีสาน หรือผญา ที่เคยได้ยิน ได้ฟังจากรุ่นปู่ย่า ตายายเมื่อตอนเป็นเด็ก ไม่เคยใส่ใจ สนใจ ถึงขั้นดูถูกดูแคลนว่าเชย ตกยุคตกสมัย

คำคมสอนใจจากแดนอีสาน

 

“วันเวลาผ่านไป หลังพบเจอเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมากมาย เจอผู้คน เจอปัญหานานาสารพัด อกหัก ท้อแท้สิ้นหวัง พอได้กลับมาฟังผญา นั่งอ่านบทกลอนเก่าๆ อีกครั้ง แล้วรู้สึกดี มันอิ่มเอิบใจ หวนให้คิดถึงตอนเป็นเด็กที่ผู้หลักผู้ใหญ่พร่ำสั่งสอน มันไพเราะ มีคุณค่าความหมายงดงาม ฟังแล้วเพลิดเพลิน แถมกระตุ้นเตือนใจเราให้ฉุกคิดได้” ศิลปินหนุ่มเผยความในใจ

นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยชื่อ “เรื่องเล่าจากดินแดนที่ราบสูง” (Tales from the land of the plateau) นำเสนอผลงานประติมากรรม 8 ชิ้น บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสุภาษิตคำพังเพยในท้องถิ่นอีสานบวกกับประสบการณ์ความรักส่วนตัว ผสมผสานระหว่างวัสดุดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณกับวัสดุสมัยใหม่ ผ่านเทคนิคการสร้างสรรค์ด้วยกรรมวิธีแบบพื้นบ้าน เต็มไปด้วยชั้นเชิงแพรวพราว ขรึมขลัง ลึกซึ้งคมคาย

นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงงานครั้งแรกในชีวิตของศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงคนนี้ด้วย ยกตัวอย่างผลงาน “ได้กินย้อนผี ได้สี้ย้อนฝัน” ผสมผสานระหว่างวัสดุยุคเก่าและใหม่ ด้วยหุ่นครึ่งตัวปั้นจากดินเผากับเรซินใสรูปทรงคล้ายน้ำเต้า พูดถึงคำสั่งสอนไม่ให้เพ้อเจ้อ หลงเชื่อในเรื่องงมงายที่เป็นไปไม่ได้ “ผู้ดีบ้านนอก บ่ท่อกอกซอกในเมือง” บอกเล่าการปีนป่ายไต่เต้าของคนบ้านนอกที่เข้าไปหากินในเมือง ว่าอย่างไรก็สู้คนเมืองไม่ได้ เหนือกว่าเรายังมีเขา สอนให้จงเจียมเนื้อเจียมตัว จำลองบันไดยาวแบบที่เห็นได้ตามใต้ถุนบ้านชนบทอีสาน มีคนสองคนตามลำดับขั้นที่สูงต่ำต่างกัน

“แนวควมฮักหอมนี้ คือสายมิ่งสายแนน แม่นแลนลื้อยู่ไส กะบ่ไลลืมต้าว” แปลกสะดุดตาด้วยการนำวงเหล็กคล้ายวงแหวนที่ถอดมาจากกงล้อรัดเกวียน เพิ่มกระดิ่งทองเหลือ สายลวดทองแดง และรูปปั้นมือ สื่อถึงสายแนนสายสัมพันธ์บางๆ ตามความเชื่อท้องถิ่น พูดถึงบุพเพสันนิวาส หญิงชายแม้จะไกลห่างสักเพียงไร แต่ยังไงก็ถูกร้อยรัดดึงกลับมาให้พบเจอกันจนได้ และ “แหวนดีอยู่ที่หัว ผัวดีอยู่ที่เมีย” ตู้กับข้าวเก่าแก่คร่ำครึ วางตั้งด้วยรูปปั้นใบหน้าหญิงวัยกลางคน ศิลปินตั้งใจบูชาเพศแม่ในชนบทอีสาน เป็นทั้งแม่บ้าน แม่ศรีเรือน ฯลฯ

“ผมใช้เทคนิคกรรมวิธีพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการงมลงไปขุดดินเผาจากบึงน้ำลึก มาก่อไฟเผาด้วยฟางข้าวจนได้พื้นผิวที่เกรียมไหม้สวยงาม การนำวัสดุสมัยเก่า เช่น บันไดไม้ใต้ถุนเรือน กระสวยปั่นด้าย กระดิ่งทองเหลือง วงเหล็กจากกงล้อรักเกวียน และขี้วัว ภูมิปัญญาเหล่านี้ถือเป็นขุมทรัพย์ของบรรพบุรุษที่ลูกหลานสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เมื่อมาผสมผสานกับวัสดุสมัยใหม่อย่างเรซิน เข็มหมุดที่มีสีสันแพรวพราว จึงออกมาเป็นผลงานประติมากรรมที่ไม่เหมือนใคร”

ประสิทธิ์ บอกว่า ภาคภูมิใจมากที่ได้นำเอาภูมิปัญญาโบราณจากบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคงานพื้นบ้าน งานช่าง มาพัฒนาต่อยอดให้เป็นงานร่วมสมัย จนกลายเป็นผลงานศิลปะอันโดดเด่นอลังการดังที่เห็น

ไม่ว่าจะเป็นสุภาษิตคำพังเพยโบราณอย่างผญา หรือกรรมวิธีเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับอิทธิผลมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งสำคัญที่สุดที่ตัวศิลปินหนุ่มคาดหวังตั้งใจ คือการเผยแพร่วัฒนธรรมอีสาน ส่งต่อไปยังสังคมให้ทุกคนได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างหลากหลาย เพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างพี่น้องชาวไทยทุกคน