posttoday

พุทธมณฑลที่ระลึกงาน 25 พุทธทศวรรษ

13 พฤษภาคม 2555

โดย...สมาน สุตโต

โดย...สมาน สุตโต

พุทธมณฑล ตั้งอยู่ที่ 25/25 หมู่ 6 ถนนอุทยาน ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อฉลองกึ่งพุทธกาลเมื่อปี พ.ศ. 2500 มีพระพุทธรูปปางลีลาประจำพุทธมณฑล เรียกว่า พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนาม

วิสาขบูชาปีนี้ พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจัดงานฉลอง 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แล้วเรียกชื่องานว่า พุทธชยันตี ทำให้ผมนึกย้อนบรรยากาศในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2500 ที่คนหนุ่มและผู้สูงอายุบวชพระถวายเป็นพุทธบูชากันมากมายนับสิบๆ คน ในวัดเล็กๆ ในชนบทที่ จ.สุพรรณบุรี ที่ผมบรรพชาเป็นสามเณร และเชื่อว่าคงเป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ

บรรยากาศในส่วนกลาง หรือที่ท้องสนามหลวงนั้น ผมไม่มีโอกาสมาเห็น นอกจากได้ฟังผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า มีงานยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งปลุกเสกเหรียญที่ระลึก 25 พุทธศตวรรษ เนื้อชิน และพระเนื้อผงเกสรจำหน่ายให้แก่ประชาชนองค์ละ 1 บาท (แต่ข้อมูลในหนังสือว่าองค์ละ 10 บาท)

เมื่ออ่านข้อมูลล่าสุดพบว่า รัฐบาลสมัยนั้นจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ที่สนามหลวง 7 วัน 7 คืน ตั้งแต่วันที่ 12-18 พ.ค. 2500

ส่วนความคิดสร้างพุทธมณฑลนั้นมีมาตั้งปี พ.ศ. 2487 สมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยท่านจอมพล ป. ดำริสร้างสองอย่างพร้อมๆ กัน คือสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ จ.เพชรบูรณ์ และพุทธบุรีมณฑลที่ จ.สระบุรี

แผนการสร้างเมืองหลวงที่ จ.เพชรบูรณ์ มาพร้อมกับสร้างฐานทัพเพื่อเตรียมสู้รบกับญี่ปุ่น แต่อ้างกับญี่ปุ่น (ที่ยึดครองเมืองไทย) ว่าเพื่อหลบภัยทางอากาศที่พันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ จนเป็นที่ที่ไม่มีความปลอดภัย

ในขณะเดียวกัน ได้เสนอสร้างพุทธบุรีมณฑลที่ จ.สระบุรี เพื่อเป็นนครศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งกลางการศึกษา เสาะค้นพระพุทธศาสนา และการปฏิบัติศาสนธรรม เป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งการบริหารพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ และเป็นนิวาสมณฑลแห่งพุทธมามกชนโดยเฉพาะ

ในการดำเนินการนั้น รัฐบาลจอมพล ป. เสนอเป็นพระราชกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอนุมัติ แต่สู้เสียงฝ่ายค้านไม่ได้ เพราะฝ่ายค้านว่าควรเสนอเป็นพระราชบัญญัติ ไม่ใช่พระราชกำหนดที่เป็นวาระเร่งด่วน

เมื่อรัฐบาลแพ้โหวต จอมพล ป. เป็นนักประชาธิปไตยเต็มตัว ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2487 ไปอยู่กระท่อมปลายนาแถวลำลูกกา จ.ปทุมธานี แต่หลังจากนั้นบุญส่งให้ จอมพล ป. กลับมามีอำนาจอีกครั้ง นับแต่ปี พ.ศ. 2491

ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระยะหลังท่านมองการณ์ไกล ในปี พ.ศ. 2495 จึงให้กระทรวงวัฒนธรรมรื้อฟื้นโครงการพุทธบุรีมณฑลเพื่อเตรียมการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ปี พ.ศ. 2500 แต่เปลี่ยนเป็นพุทธมณฑล เปลี่ยนที่จัดสร้างเป็นย่านนครปฐม หรือที่ตั้งในปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมอยู่ในท้องที่ อ.สามพราน และนครไชยศรี (ปัจจุบันเป็น อ.พุทธมณฑล)

พื้นที่ตั้งพุทธมณฑลมีทั้งสิ้น 2,500 ไร่ กว้างยาวด้านละ 2 กิโลเมตร รวมเบ็ดเสร็จ 4 ตารางกิโลเมตร

พระพรหมเมธี (จำนงค์) กรรมการมหาเถรสมาคม และเป็นกรรมการสร้างพุทธมณฑล โดยพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) เล่าว่า อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ที่ปรึกษาด้านศาสนาของจอมพล ป. และรับราชการที่กระทรวงวัฒนธรรม เคยบอกกับท่านว่า จอมพล ป. ต้องการสร้างพระพุทธรูปที่พุทธมณฑลให้สูงใหญ่ (สูงประมาณ 2,500 นิ้ว) สามารถมองเห็นได้จากท่าราชวรดิฐ ทั้งนี้ตามแผนงานนั้นจะสร้างถนนสายตรงจากพุทธมณฑลถึงพระนคร โดยสองฟากถนนจะปลูกต้นราชพฤกษ์และต้นไม้สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ แต่โครงการนี้ถูกเปลี่ยน พระพุทธรูปปางลีลาขนาดเล็กลง ถนนสายตรงก็ไม่ได้สร้าง ต้นไม้ก็ไม่ได้ปลูก

อย่างไรก็ตาม งานอื่นๆ ทุกอย่างเดินหน้าจนถึงวันที่ 29 ก.ค. 2498 รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล ณ สถานที่ซึ่งต่อมาเป็น อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

ผ่านไป 21 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 25002521 การดำเนินการพุทธมณฑลไม่มีความคืบหน้า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมนันทน์ นายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น สั่งให้เดินหน้า โดยลดขนาดพระพุทธรูปที่ออกแบบโดย ศ.ศิลป์ พีระศรี เหลือ 2,500 กระเบียด หรือ 15.875 เมตร สาโรช จารักษ์ เป็นหัวหน้าคณะประติมากร สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2525 คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี

พุทธมณฑลที่ระลึกงาน 25 พุทธทศวรรษ

 

ศาสนสถานและวัตถุ

สัญลักษณ์ ศาสนสถาน และวัตถุที่สร้างที่พุทธมณฑล ได้แก่ ธรรมจักรบริเวณส่วนสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมประยุกต์ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2524

ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ อยู่ตรงข้ามกับตำหนักสมเด็จพระสังฆราช มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ 2 ชั้น สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2526

หอประชุม อาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นสำนักงานพุทธมณฑล สร้างเสร็จปี พ.ศ. 2529

หอกลอง สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานกลองชัยขนาดใหญ่ ตัวกลองทำด้วยไม้ขนุนและหนังควายเผือก เส้นผ่าศูนย์กลางมีขนาด 1.60 เมตร ผู้จัดทำกลองคือ พระพิชัย ธรรมจาโร วัดบัลลังก์ศิลาอาสน์ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2526

สำนักงานพุทธมณฑล สร้างเสร็จปี พ.ศ. 2525 อาคารประชาสัมพันธ์ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2525

ศาลาราย สร้างตามแนวทางเท้าวงกลมรอบองค์พระประธาน มีทั้งหมด 20 หลัง ด้านข้างโปร่ง

ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน เป็นอาคารเพื่อใช้ปฏิบัติกรรมฐาน อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นรูป 6 เหลี่ยม เชื่อมติดต่อกันทั้งหมด 8 หลัง

พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา อาคารทรงไทย เป็นรูปกลมวงแหวนด้านนอก แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ส่วนที่ 2 จัดนิทรรศการและการบรรยาย ส่วนที่ 3 ส่วนบริการ สุขา ห้องน้ำ

หอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ (นามพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) ห้องอ่านหนังสือจุได้ 500 คน มีหนังสือประมาณ 5 แสนเล่ม เก็บหนังสือบนเพดานได้อีก 1 ล้านเล่ม วัดปากน้ำและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำบริจาคเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ

มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน สถาปัตยกรรมไทยรูปทรงจตุรมุข มีพระเจดีย์ 9 ยอด ประดิษฐานในท่ามกลาง และเป็นที่จารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน ขนาด 1.10x2.00 เมตร จำนวน 1,418 แผ่น มีภาพวาดพระพุทธประวัติอยู่ด้านบนโดยรอบ เริ่มสร้างปี พ.ศ. 2532 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2541

ถนนที่อยู่ในโครงการพุทธมณฑลถนนพุทธมณฑลสายต่างๆ เป็นถนนที่แยกย่อยออกไปจากถนนเพชรเกษมในทางทิศเหนือ ตัดผ่านถนนปิ่นเกล้านครชัยศรี (ขณะที่มีโครงการพุทธมณฑลยังไม่มีถนนดังกล่าว) ไปสิ้นสุดก่อนถึงทางรถไฟสายใต้

ถนนพุทธมณฑล สาย 1

ถนนพุทธมณฑล สาย 2

ถนนพุทธมณฑล สาย 3

ถนนพุทธมณฑล สาย 4

ถนนพุทธมณฑล สาย 5

ถนนพุทธมณฑล สาย 6

ถนนพุทธมณฑล สาย 7

ถนนพุทธมณฑล สาย 8

เมื่อเกิดมหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 พื้นที่พุทธมณฑล 2,500 ไร่ ถูกน้ำท่วมขังอยู่ 2 เดือน ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ต้นไม้ อาคาร ระบบสาธารณูปโภค ถนน และอื่นๆ ที่อยู่ในพุทธมณฑลได้รับความเสียหายรุนแรงเท่าเทียมกันหมด เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 สำนักงานพุทธมณฑลทำเรื่องขอตั้งกองทุนฟื้นฟูพุทธมณฑลให้มหาเถรสมาคมเห็นชอบ เพื่อเปิดรับเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป เพราะต้องใช้งบประมาณมาก แต่งบมีจำกัด

ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงบูรณปฏิสังขรณ์ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีสำนักงานถาวรที่นั่น ต้องมาอาศัยที่ทำการกระทรวงวัฒนธรรมชั่วคราว แต่ถึงกระนั้นในงานฉลอง 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พุทธมณฑลก็เป็นสถานที่หนึ่งที่จัดงานฉลอง พร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั่วประเทศไทย m