จัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ บทเรียนจากไทยสู่อาเซียน
เราชาวโลกต่างก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า สิ่งมีชีวิตและสิ่งไร้ชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ ต่างกำลังดำเนินไปบนพรมแดนของความรู้
โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ /ภาพ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
เราชาวโลกต่างก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า สิ่งมีชีวิตและสิ่งไร้ชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ ต่างกำลังดำเนินไปบนพรมแดนของความรู้ ความไม่รู้ และความบ้าระห่ำของอุณหภูมิเหนือผิวน้ำทะเล ที่นับวันส่งอิทธิพลขึ้นเรื่อยๆ เราและโลกจะอยู่รอดต่อไปอีกนานแค่ไหน คำตอบคืออะไรใครจะกล้าบอกว่า “รู้” หากที่รู้แน่ๆ คือ ความพยายามในอันที่จะร่วมมือกันเยียวยายับยั้งหรือทำอะไรก็ตาม เพื่อวงจรสิ่งมีชีวิตและสิ่งไร้ชีวิตบนโลกจะอยู่รอด หนึ่งในนั้นคือการควานหาต้นแบบของความยั่งยืน ใครเลยจะนึกว่า ไทยนี่แหละที่ได้ชื่อว่าหนึ่งในต้นแบบดีๆ ของการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ที่หลายประเทศมองเป็นแบบอย่างนะเนี่ย
ใครรู้จักกลุ่มประเทศในจีเอ็มเอส (GMS) บ้าง ยกมือขึ้น ... ปัจจุบันอาเซียนและ GMS หรือ กลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นับเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่สำคัญและใกล้ชิดของไทย ยิ่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า (2558) ก็จะยิ่งทำให้กลุ่มประเทศ GMS กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกมากขึ้น การพัฒนาอย่างเร่งรีบนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมหาศาล และอาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ ซึ่งก่อตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2541 มีภารกิจหลักในการสนับสนุนนโยบายรัฐในการสร้างความเข้าใจ ความไว้วางใจ และความร่วมมือทุกระดับในรูปแบบการทูตภาคประชาชน ผ่านเครือข่ายทางวิชาการและการเรียนรู้ร่วมกัน จากการเล็งเห็นความสำคัญของพลังงานและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดได้ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ จัดตั้งโครงการพัฒนาทุนมนุษย์ภาคพลังงานและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม ประเทศจีน (มณฑลกว่างซีจ้วงและยูนนาน) และไทย
โครงการพัฒนาทุนมนุษย์ภาคพลังงานและสิ่งแวดล้อมฯ ดังกล่าว เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี (2553-2555) เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจอย่างเข้มข้นในโครงการตามแนวพระราชดำริ โดยผู้แทนของกลุ่มประเทศ GMS ได้ลงพื้นที่ดูโครงการตามแนวพระราชดำริในหลากหลายรูปแบบและในหลากหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้รับฟังการบรรยายเรื่อง กรณีศึกษาสถานการณ์น้ำในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อ GMS และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ
“ผู้แทนประเทศต่างๆ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวทางพระราชดำริเป็นประโยชน์อย่างมาก โครงการต่างๆ ล้วนผ่านกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตรวจสอบด้วยภาคประชาชน ประเทศไทยในฐานะที่เป็นต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง สมควรที่จะได้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวทางพระราชดำริ ประสานความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือในระดับภูมิภาค” ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ กล่าว
ศ.คาร์โล รับเบีย (Carlo Rubbia)อดีตประธานกรรมการแห่งอิตาเลียน เนชันแนล เอเจนซี ฟอร์ นิว เทคโนโลยี เอนเนอร์จี แอนด์ เอนไวรอนเมนต์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1984 (Formal Chairman of Italian National Agency for New Technologies,Energy and Environment, Awarder of the Nobel Prize for Physics in 1984)กล่าวในการบรรยายเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ฯ จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาว่า โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน และโครงการบริหารจัดการพลังงานทดแทนตามแนวพระราชดำริ มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการนำไปปรับใช้ในกลุ่มภูมิภาค ซึ่งมีภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน ทุกโครงการผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Learning by Doing)และสามารถเริ่มได้จากภาคประชาชน
อนึ่ง ศ.รับเบีย ได้ยกตัวอย่างโครงการพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับกลุ่มประเทศ GMS ว่า คือ โครงการพลังน้ำ(Hydropower)ในลาว และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์(Solar Power Generation Diagram)ในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย ซึ่งเริ่มลงทุนไปมากแล้วและมีความเป็นไปได้สูงสุด เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด และไทยมีทรัพยากรแสงแดดมากมาย
ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้อำนวยการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในการบรรยายเกี่ยวกับกรณีศึกษาเรื่องการจัดการน้ำ ผลกระทบจากอุทกภัยในกลุ่มประเทศ GMS ว่า ไทยและกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบจากโลกร้อนใกล้เคียงกัน คือ ร้อน แล้ง ฝนฟ้าอากาศไม่เป็นไปตามฤดูกาล (Rainfall pattern)
โลกร้อนสร้างปัญหาคล้ายกัน ขณะที่แนวทางและการบริหารจัดการแตกต่างกันไปตามสภาพ ดร.รอยล วิเคราะห์เปรียบเทียบสถานการณ์ของไทยกับประเทศในภูมิภาคว่า น้ำท่วมเหมือนกันแต่ก็ไม่เหมือนกัน กรณีฝนตกน้ำท่วมในเวียดนามจะไม่เหมือนไทย เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นและน้ำท่วมจากแม่น้ำโขงเหมือนทางตอนใต้ของเวียดนาม ขณะที่ในประเทศจีน ก็มีวิธีกักเก็บน้ำที่ต่างออกไปจากไทยมาก
“วิธีบริหารน้ำของจีนต่างจากเรา เพราะจีนมีหิมะบนยอดภูเขาทำหน้าที่เสมือนเขื่อน แต่พอถึงฤดูฝน หิมะจะละลายลงมาทำให้มีน้ำท่วมมากขึ้น นอกจากนี้จีนยังมีปัญหาการขยายตัวของเมือง ปัญหาคือเมืองที่ซับซ้อนขึ้น การบริหารจัดการน้ำทำได้ยากขึ้น” ดร.รอยัล กล่าว
สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริในไทย จะใช้การบริหารจัดการน้ำและป่า เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่อิงกับธรรมชาติของพื้นที่เป็นหลัก ใช้งบประมาณพอเหมาะ ไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนรับไม้ต่อไปบริหารจัดการกันเองได้ หากการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริสามารถนำมาถอดบทเรียนเป็นกรณีศึกษาได้ ก็ถือว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากวิกฤตที่เกิดขึ้น
“การบริหารจัดการน้ำให้ได้ดี ต้องรู้จักบริหารความเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์สุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า น้ำมาก ถ้าจัดการดีก็มีประโยชน์ พระราชทานกำลังใจว่า อย่ากลัวน้ำ น้ำท่วมหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บริหารจัดการได้”
ศ.ดร.จีระ กล่าวส่งท้ายว่า การน้อมนำแนวทางการบริหารจัดการพลังงานและการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ มาเป็นกรณีศึกษาและถอดแบบเป็นบทเรียนแก่หุ้นส่วนในภูมิภาค GMS เป็นหลักสูตรที่ใช้ได้จริง โดยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร้รูปแบบ ตอนนี้เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาค ปัญหาคือยังไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลระหว่างกันและกันอย่างเพียงพอ
“การถ่ายทอดความรู้ด้วยกรณีศึกษาให้แก่กัน จะช่วยย่นระยะเวลาการเรียนรู้ ข้อมูลทางเทคนิคต่างๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะกรณีศึกษาเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านพลังงานสะอาดของไทย จะเป็นตัวอย่างให้เกิดโครงการด้านพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน ลดผลกระทบต่อชุมชนระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคได้”