posttoday

พระพุทธศาสนากับการไม่ใช้ความรุนแรง ตอน 4

10 มิถุนายน 2555

การมีขันติธรรมไม่ตอบโต้ผู้กระทำด้วยความรุนแรง

โดย...ว.วชิรเมธี

การมีขันติธรรมไม่ตอบโต้ผู้กระทำด้วยความรุนแรง

พระพุทธองค์ทรงมีพระนามอย่างหนึ่งว่า “ขันติวาที” แปลว่า “ผู้สอนเรื่องขันติ” หรือ “ผู้สอนเรื่องความอดทนอดกลั้น” ความอดทนอดกลั้น การไม่นิยมใช้ความรุนแรง เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา ในหลักธรรมที่ชื่อ “โอวาทปาฏิโมกข์” ซึ่งทรงแสดงเอาไว้ในยุคต้นของพระพุทธศาสนา ทรงระบุลงไปว่า ความอดทนอดกลั้นต่อกิเลสที่มากระตุ้นเร้าในรูปแบบต่างๆ เป็นตบะในนามของพุทธศาสนา และระบุต่อไปว่า สมณะในพระพุทธศาสนาต้องไม่ทำร้ายใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ว่าร้ายใคร ไม่ทำอันตรายใคร ในคัมภีร์พระธรรมบท ทรงสอนให้พุทธสาวกรู้จักเอาชนะความรุนแรงด้วยสันติวิธี ดังกวีนิพนธ์ที่ว่า

“จงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ

จงเอาชนะความชั่ว ด้วยความดี

จงเอาชนะความตระหนี่ ด้วยการให้

จงเอาชนะความเท็จ ด้วยความสัตย์”

ในกกจูปมสูตร ทรงสอนให้พุทธสาวกรู้จักอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับตนอย่างถึงที่สุด แม้เขาจะมุ่งร้ายต่อตนถึงขั้นปลงชีวิต ก็ทรงสอนให้มั่นคงอยู่ในขันติธรรม ต้องไม่ยอมปล่อยใจให้โกรธตอบเป็นอันขาด ทรงยกตัวอย่างว่า หากภิกษุถูกพวกโจรใจบาปหยาบช้าประทุษร้าย จับมัดมือมัดเท้า แล้วนำเลื่อยมาหั่นตรงกลางลำตัว แม้สถานการณ์จะเลวร้ายถึงเพียงนี้ ก็ทรงสอนว่า จะต้องไม่โกรธตอบ ภิกษุรูปใดโกรธตอบ ทรงถือว่าไม่ใช่ผู้ทำตามคำสอนของพระองค์ ไม่นับเป็นพุทธสาวก

พระพุทธศาสนากับการไม่ใช้ความรุนแรง ตอน 4

ในประวัติของพระสาวกชื่อพระปุณณะ มีตัวอย่างของการมีขันติธรรมของพระพุทธสาวกชั้นนำที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องปรากฏอยู่ดังต่อไปนี้

“พระผู้มีพระภาคเจ้าประทานพระโอวาทแสดงวิธีปฏิบัติต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ โดยอาการที่จะมิให้ทุกข์เกิดขึ้น แล้วตรัสถามท่านว่า จะไปอยู่ในถิ่นใด

ท่านทูลตอบว่า จะไปอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะ

ตรัสถามว่า ชาวสุนาปรันตะเป็นคนดุร้าย ถ้าเขาด่าว่า ท่านจะวางใจต่อคนเหล่านั้นอย่างไร

ทูลตอบว่า จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ตบตี

ตรัสถามว่า ถ้าเขาตบตีจะวางใจอย่างไร

ทูลตอบว่า จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ขว้างปาด้วยก้อนดิน

ตรัสถามว่า ถ้าเขาขว้างด้วยก้อนดิน จะวางใจอย่างไร

ทูลตอบว่า จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ทุบตีด้วยท่อนไม้

ตรัสถามว่า ถ้าเขาทุบตีด้วยท่อนไม้ จะวางใจอย่างไร

ทูลตอบว่า จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่ฟันแทงด้วยศัสตรา

ตรัสถามว่า ถ้าเขาฟันแทงด้วยศัสตรา จะวางใจอย่างไร

ทูลตอบว่า จะคิดว่ายังดีนักหนาที่เขาไม่เอาศัสตราอันคมฆ่าเสีย

ตรัสถามว่า ถ้าเขาเอาศัสตราอันคมปลิดชีพเสีย จะวางใจอย่างไร

ทูลตอบว่า จะคิดว่า มีสาวกบางท่านเบื่อหน่ายร่างกายและชีวิตต้องเที่ยวหาศัสตรามาสังหารตนเอง แต่เราไม่ต้องเที่ยวหาเลย ก็ได้ศัสตราแล้ว

พระผู้มีพระภาคประทานสาธุการ และตรัสว่า ท่านมีทมะ (อดทน) และอุปสมะ (ความสงบ) อย่างนี้ สามารถไปอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะได้”

แนวคิดของพระปุณณะ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ที่ได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธองค์ดังกล่าวมานี้ คือตัวอย่างอันดีที่ชี้ให้เห็นว่า “ขันติธรรม” ในพุทธศาสนานั้น มีความหมายลึกซึ้งแค่ไหน และเป็นอุทาหรณ์ที่ดีพอที่เราจะกล่าวว่า พุทธศาสนาคือศาสนาแห่งความอดทนอดกลั้น คือ ศาสนาแห่งอหิงสาการไม่ใช้ความรุนแรง คือ ศาสนาแห่งสันติภาพที่ใช้ทั้งสันติธรรมและสันติวิธีในทุกขั้นตอน

การมีใจกว้าง ไม่ผูกขาดสัจธรรม ยอมฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างให้เกียรติ

ความใจแคบ ไม่ยอมรับฟังข้อคิด ความเห็น หรือไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้ลัทธินิยม อุดมการณ์ที่แตกต่างออกไปจากระบบความคิดระบบความเชื่อที่ตนเชื่อถือหรือสังกัดอยู่ เป็นสาเหตุอันหนึ่งของความรุนแรง หรือในบางกรณีเป็นสาเหตุของสงครามที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน แต่ในสารบบคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่พบท่าทีหรือคำสอนเช่นนี้เลย

พระพุทธองค์ทรงสอนให้ชาวพุทธเป็นคนใจกว้าง สามารถรับฟังเสียงหรือความคิดความเชื่อลัทธินิยมอุดมการณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างสงบและด้วยการให้เกียรติอย่างดียิ่ง ท่าทีอย่างนี้มีปรากฏชัดในพุทธจริยาของพระองค์ที่ทรงนิยมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเจ้าลัทธินิกายต่างๆ อยู่เสมอ บ่อยครั้งทรงนั่งฟัง นั่งสนทนา นั่งแลกเปลี่ยนกับคนที่มาชี้แจงแถลงข้อคิดความเห็นของตนให้พระองค์ฟังเป็นเวลานานอย่างสงบ และด้วยท่าทีที่ให้เกียรติต่อเขาเหล่านั้นอย่างเต็มที่

ในบางกรณีเมื่อแลกเปลี่ยนระบบความคิดความเชื่อกันแล้ว เขายอมรับว่า คำสอนของพระองค์ดีกว่า เหนือกว่า แทนที่พระองค์จะทรงดีพระทัย รีบรับเขาเป็นสาวก แต่เปล่าเลย พระองค์กลับทรงแนะนำให้เขายังคงปฏิบัติต่อลัทธินิกายที่ตนเคยศรัทธามาแต่ก่อนด้วยความเคารพและให้เกียรติเหมือนเดิม

พระพุทธองค์ไม่ทรงกระหายสาวก และสาวกของพระองค์ก็มีปฏิปทาเช่นเดียวกัน คือไม่กระหายศาสนิก

ด้วยเหตุนี้ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงเป็นไปอย่างสันติ เพราะมีเจตนาดีต่อการเผยแผ่ คือปรารถนาแต่จะให้ชาวโลกได้พบแต่สิ่งที่ดีที่สุดต่อตัวเขา ไม่ได้ปรารถนาจะมุ่งนำเขามาเพิ่มปริมาณให้กับศาสนาของตนเอง ท่าทีที่เปี่ยมด้วยความใจกว้างอย่างนี้ นอกจากจะเป็นพุทธจริยาและเป็นปฏิปทาของชาวพุทธแล้ว ในแง่คำสอน ก็มีหลักการที่เรียกว่า “สัจจานุรักษ์” ไว้ให้พุทธิกชนถือปฏิบัติเพื่อที่จะสามารถรับฟังเสียงที่ต่างออกไปได้อย่างสันติอีกด้วย