posttoday

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งอิสรภาพ

24 มิถุนายน 2555

โดย...ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

โดย...ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือการบรรลุถึงพระนิพพาน ดังพระพุทธวจนะที่ตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ตอนหนึ่งว่า “นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา” แปลว่า “พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า “พระนิพพานเป็นบรมธรรม”

หรือในอริยสัจ 4 อันประกอบด้วย

1.ทุกข์ (ปัญหา=ควรรู้)

2.สมุทัย (สาเหตุ=ควรกำจัด)

3.นิโรธ (เป้าหมาย=ควรบรรลุ)

4.มรรค (วิธีการดับทุกข์=ควรปฏิบัติ)

ก็ระบุฐานะของพระนิพพานเอาไว้ชัดว่า เป็นเป้าหมายที่ชาวพุทธทุกคนควรบรรลุถึงหรือควรตั้งไว้เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตนี้

คำว่า นิพพาน แปลได้หลายนัย แต่นัยหนึ่งแปลว่า “การเป็นอิสระจากกิเลสที่รัดรึง” คำไวพจน์ของพระนิพพานที่มีความหมายตรงกับคำว่า “อิสรภาพ” ก็คือ “วิมุตติ” (ภาวะที่จิตหลุดพ้นเป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลสอย่างสิ้นเชิง) ดังนั้น เมื่อกล่าวด้วยภาษาร่วมสมัยอิสรภาพจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ในคัมภีร์พระไตรปิฎกท่านกล่าวยืนยันความข้อนี้ไว้ดังต่อไปนี้

“ภิกษุทั้งหลาย โดยนัยดังนี้แล พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีลาภสักการะและคำสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความเพียบพร้อมด้วยศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความเพียบพร้อมด้วยสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์, หากแต่พรหมจรรย์นี้มีอกุปปาเจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นที่ไม่เสื่อม ไม่กลับกลาย) เป็นที่หมาย เป็นแก่น เป็นที่จบสิ้นบริบูรณ์”

ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต (24/58/113) สรุปสาระสำคัญของกระบวนธรรมในพุทธศาสนาไว้ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเมื่อถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบชี้แจงแก่เหล่าอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า แน่ะ ท่านผู้มีอายุ

1.ธรรมทั้งปวง มีฉันทะเป็นมูล (ฉนฺทมูลกา)

2.ธรรมทั้งปวง มีมนสิการเป็นที่ก่อตัว (มนสิการสมฺภวา)

3.ธรรมทั้งปวง มีผัสสะเป็นแหล่งเกิด (ผสฺสสมุทยา)

4.ธรรมทั้งปวง มีเวทนาเป็นที่ชุมนุม (เวทนาสโมสรณา)

5.ธรรมทั้งปวง มีสมาธิเป็นประมุข (สมาธิปมุขา)

6.ธรรมทั้งปวง มีสติเป็นเจ้าใหญ่ (สตาธิปฺปเตยฺยา)

7.ธรรมทั้งปวง มีปัญญาเป็นยอดยิ่ง (ปญฺญุตฺตรา)

8.ธรรมทั้งปวง .......มีวิมุตติเป็นแก่น (วิมุตฺติสารา)

9.ธรรมทั้งปวง มีอมตะเป็นที่หยั่งลง (อมโตคธา)

10.ธรรมทั้งปวง มีนิพพานเป็นสุดท้าย (นิพฺพานปริโยสานา)

ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (21/245/329) พระพุทธองค์ตรัสถึงวิมุตติหรืออิสรภาพว่าเป็นแก่นของพรหมจรรย์หรือพุทธศาสน์ดังนี้

“ชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) มีวิมุตติเป็นแก่นเป็นอย่างไร? คือ ธรรมทั้งหลายเราแสดงแล้วแก่เหล่าสาวกในธรรมวินัยนี้ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบด้วยประการทั้งปวง, ธรรมทั้งหลาย เราแสดงแล้วโดยประการใดๆ ธรรมเหล่านั้น ย่อมเป็นสิ่งที่สาวกสัมผัสได้โดยประการนั้นๆ ด้วยวิมุตติ, ชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) มีวิมุตติเป็นแก่น เป็นอย่างนี้แล”

หลักการของพระพุทธศาสนานับแต่คำสอนพื้นฐานไปจนถึงคำสอนระดับปรมัตถธรรมกล่าวอย่างสั้นที่สุดก็ล้วนแต่มุ่งหมายให้เกิดอิสรภาพแก่ผู้ปฏิบัติตามทั้งสิ้น คำว่า “อิสรภาพ” นี้ ในภาษาไทยเราจะได้ยินบ่อยมาก นั่นก็คือคำว่า “จงอย่ายึดติดถือมั่น” นั่นเอง ท่านพุทธทาสภิกขุ นำหัวใจของพระพุทธศาสนาส่วนนี้มาเน้นย้ำผ่านหลักธรรมสำคัญที่ว่า “สพฺเพ ธมฺมานาลํ อภินิเวสาย” แปลว่า “ธรรมทั้งปวงทั้งหลาย อันบุคคลจงอย่าหมายไปยึดมั่น” ความไม่ยึดติดถือมั่น ก็คือ อาการของคนที่มีอิสรภาพภายในอย่างสมบูรณ์ พุทธศาสนามีอยู่ก็เพื่อสิ่งนี้ การปฏิบัติธรรมดำเนินไปก็เพื่อสิ่งนี้ หลักการหรือปฏิบัติการใดก็ตามที่ไม่สอดคล้องกับการปลดปล่อยคนให้พบอิสรภาพจึงถือว่าไม่ใช่พุทธศาสนา