ทิเบตที่เป็น-ไป
เพียงได้อ่านปกหลังก็อยากอ่านทั้งเล่มแล้ว ด้วยคำโปรยเกี่ยวกับประเทศทิเบตหลังหนังสือ “ทิเบตที่เป็นไป” ของวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
โดย...คุณพายุ
เพียงได้อ่านปกหลังก็อยากอ่านทั้งเล่มแล้ว ด้วยคำโปรยเกี่ยวกับประเทศทิเบตหลังหนังสือ “ทิเบตที่เป็น-ไป” ของวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนและผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี สรุปถึงประวัติศาสตร์ระหว่างทิเบตและจีน และสภาพภูมิศาสตร์อันน่าสนใจ ซึ่งเป็นการเกริ่นนำความเป็นไปของประเทศทิเบตได้สมกับชื่อเรื่องที่สุด
และเรื่องราวของประเทศนี้ก็น่าฉงนสนเท่ห์มากขึ้น เมื่อเปิดอ่านคำนำสำนักพิมพ์และคำนำนักเขียน ทั้งสองคำพยายามหยิบยกความพิเศษที่ปกติ สำหรับชาวทิเบตมาเรียกร้องความสนใจ ยกตัวอย่าง ทิเบตเป็นที่ราบสูงที่กว้างและสูงสุดในโลก จึงได้รับสมญานามหลังคาโลก ชาวทิเบตไม่นิยมกินปลา เพราะเชื่อว่าปลาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวทิเบตไม่ชอบถ่ายรูปเพราะเชื่อว่าทำให้อายุสั้นลง ศพชาวทิเบตจะสับเป็นชิ้นๆ แล้วโยนให้แร้งกิน ซึ่งถือเป็นการทำทานขั้นสูง ชาวทิเบตโบราณอาบน้ำแค่สามครั้งในชีวิต คือ เกิด แต่งงาน และตาย และชาวทิเบตนับถือศาสนาพุทธต่างนิกายจากคนไทย ซึ่งครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปแสวงบุญที่กรุงลาซา โดยการเดินทอดตัวกราบราบไปกับพื้นในทุกสามก้าวที่เดิน
ความพิเศษทั้งหลายคือสิ่งที่วีระศักดิ์เรียกว่า ดินแดนมหัศจรรย์ เขาได้เขียนบทความเรื่อง “ทิเบต สรวงสวรรค์บนพื้นพิภพ” ลงในนิตยสารขวัญเรือน ซึ่งได้นำมารวมเล่มไว้ในหนังสือเล่มนี้ และเขาได้เพิ่มภาค “ธรรมศาลา ทิเบตใหม่ในแดนอินเดีย” เพื่อความครบรสและทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่หนังสือรวมเล่มทั่วไป
ทั้งสองภาคแบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆ ไปตามเส้นทางที่ผู้เขียนก้าวเดิน เช่น ก้าวแรกบนแผ่นดินจีน-ที่ลี่เจียง เต๋อชิน-คาเกอโป ภูเขาสูงหรือคนต่ำต้อย ทรกปะ ผู้พเนจรแห่งท้องทุ่ง เดียวดายในลาซา โปตาลาและองค์ทะไลลามะ สู่ธรรมศาลา และสิ้นสุดเรื่องราวกับเรื่องปลายทาง
ทิเบตที่เป็น-ไป คือ สารคดีกึ่งบันทึกการเดินทางของนักเขียน ที่ให้ทั้งความรู้และให้ชีวิต ชีวิตที่ทำให้ผู้อ่านเห็นทั้งสองด้าน ทั้งชีวิตการเดินทางของนักเขียน และชีวิตของชาวทิเบตที่เขาพบเจอ และเมื่ออ่านจบแล้วผู้อ่านอาจพบชีวิตที่สามที่หนังสือไม่ได้บันทึกไว้ นั่นคือชีวิตใหม่ของผู้อ่านเอง