หนังในหนัง จากเรื่องสั้นกลายเป็นเรื่องยาว
ข่าวว่า “อาหลอง” ฉลอง ภักดีวิจิตร จะกลับมาทำหนังอีกครั้งหลังร้างมือไปนาน
โดย...โจ เกียรติอาจิณ
ข่าวว่า “อาหลอง” ฉลอง ภักดีวิจิตร จะกลับมาทำหนังอีกครั้งหลังร้างมือไปนาน
“อาหลอง” มองไว้จะหยิบ “อังกอร์” ที่เคยฮิตในวิก 7 สี มาปัดฝุ่นทำใหม่
คำถามคือ “อาหลอง” จะต้องทำเป็นตอนๆ มั้ย (อ่ะ) เพราะเรื่องมันยาววววว จะจบทันเหรอ 2 ชั่วโมง
ยืนยันจากปากผู้กำกับรุ่นเดอะที่เปิดอกให้สัมภาษณ์ จะทำหนังยาว เรื่องเดียวจบ ไม่ซอยเป็นหนังสั้น แล้วนำมายำรวมเป็นหนังยาว เช่นที่หลายๆ เจ้าเขานิยมทำกัน
แนวทาง “อาหลอง” ชัดเจน แต่ผู้กำกับและค่ายหนังบางค่ายก็ยังนิยมชมชอบที่จะทำ “หนังสั้นในหนังยาว” อยู่ดี
ล่าสุดผู้บริหารค่าย 5 ดาว ไฟว์สตาร์ ไฟเขียวสั่งลุยโปรเจกต์หนังผี 3D (อีกแล้วเหรอ) ชื่อ “ตีสาม” เป็นหนังผีสั้นๆ 3 เรื่อง มารวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเอาใจคนชอบสยอง ด้วยเรื่องราวหลอนๆ ชวนขนหัวลุก โดยหนังวางโปรแกรมฉายปลายปีนี้
เข้าฉายไปล่วงหน้า กวาดรายได้ไปไม่น้อย “รัก 7 ปี ดี 7 หน” โปรเจกต์ฉลอง 7 ปี ค่ายจีทีเอช ก็เล่นซื่อๆ ง่ายๆ ปั้นหนังสั้น 3 เรื่อง โดย 3 ผู้กำกับดังของค่าย แล้วนำมาต่อกันเป็นเรื่องเดียว
ผลลัพธ์ก็ถูกใจคนรักหนังฟีลกู๊ด ดูไปยิ้มไป ได้แรงบันดาลใจดีๆ ไปต่อยอดในการใช้ชีวิต ยิ่งเฉพาะการวิ่งมาราธอน ฮิตระเบิดเชียวแหละ
เพิ่งจะเข้าฉายหยกๆ คือ หนังผี “บอก-เล่า-9-ศพ” อัดแน่นด้วย 9 เรื่องสยองขนาดสั้น กระแสก็มีคนพูดถึงทั้งชอบและไม่ชอบ
นักวิจารณ์หนังรุ่นใหม่ “อภินันท์ บุญเรืองพะเนา” ให้ความเห็นว่า แม้ “บอก-เล่า-9-ศพ” จะเจริญรอยตามวัฒนธรรม “รวมหนังสั้น” มาติดๆ แต่ก็ยังมีจุดแปลกที่แตกต่างไปจากการนำหนังสั้นมารวมเป็นหนังยาวเรื่องก่อนๆ
“เปรียบไปก็เหมือนนิยายหนึ่งเรื่อง หนังสั้น 9 เรื่อง ก็เหมือนตอนแต่ละตอนของนิยาย ซึ่งเป็นการเล่าผ่านมุมมองของตัวละครที่แตกต่างทั้ง 9 คน แต่ละคนจะมีความข้องเกี่ยวกับหญิงสาวผู้ตายในทางใดทางหนึ่ง แตกต่างกันไป ผมถือว่านี่คือไอเดียที่ดีนะครับ”
ที่ผ่านมาก็ยังมีหนังไทยหลายเรื่องที่ “ใช้สูตร” รวมหนังสั้นเป็นหนังยาว จับทางคนดูด้วยความหลากหลายในรสชาติความเป็นหนังในหนึ่งเรื่อง บางเรื่อง “ประสบความสำเร็จ” บางเรื่องก็ “ไปไม่ถึง” รายได้หด แถมโดนด่ายับ
เหล่านี้คือตัวอย่างที่เดินตามรอย “หนังสั้นในหนังยาว”
“ฝัน-หวาน-อาย-จูบ” รวมเรื่องรัก 4 มุมมอง ที่มีดาราดังนำแสดงถึง 21 คน
“Before Valentine ก่อนรักหมุนรอบตัวเรา” 4 คู่รักที่มาแบ่งปันความสัมพันธ์และความรักให้โลกรู้
“เลิฟจุลินทรีย์ รักมันใหญ่มาก” ความคนึงหาภาพอดีตของ 8 วัยรุ่นที่กำลังวุ่นรัก
ถ้าพูดถึงต้นตำรับความสำเร็จของหนังแนวนี้ ก็ต้องยกให้ “สี่แพร่ง” ที่กวาดรายได้ถล่มทลาย ทั้งๆ ที่ก็เป็นแค่หนังขายความสยองขวัญ ดังขนาดที่ค่ายจีทีเอชไม่ลังเลที่จะทำภาคแฟรนไชส์ออกมา “ห้าแพร่ง” ซึ่งก็ไปโลดเหมือนรุ่นพี่ ที่สำคัญแจ้งเกิดดาราตัวประกอบเพียบ
ไม่มีเพียงหนังค่ายใหญ่เท่านั้น ที่จับทางประโยชน์จากหนังสั้นสู่หนังยาว หนังอิสระก็มี “บุญส่ง นาคภู่” ที่หยิบเรื่องสั้นของนักเขียนแถวหน้าไทย (มาลา คำจันทร์ วัฒน์ วรรลยางกูร ลาว คำหอม ไพฑรูย์ ธัญญา) มาดัดแปลงทำเป็นหนังสั้น แล้วร้อยเรียงกันจนกลายเป็นหนังยาว “สถานีสี่ภาค”
แม้จะถูกเมินใส่จากคนดู แต่ผู้กำกับอินดี้ก็ภูมิใจที่สามารถใช้วิธีการที่เขาเรียกว่า Here and Now ได้สำเร็จ นั่นคือ ตัดต่อน้อยที่สุด ปล่อยทุกอย่างให้ลื่นไหลไปตามธรรมชาติ ไม่มีการกำหนดอะไรทั้งสิ้น
ขณะที่ “ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ก็ผันมาจับงานดรามาซึ้งๆ ที่ทำหลายคนน้ำตาซึม ซึ่งเล่าเรื่องเชียงใหม่และผู้คนล้านนา อันเป็นบ้านเกิดของเขา ผ่าน 3 กลุ่มตัวละคร ในหนังสั้น 3 เรื่อง ที่เกี่ยวกระหวัดร้อยรัดกันจนเป็นหนังยาว “Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ”
ไม่หมดเท่านี้แน่ๆ “หนังสั้นในหนังยาว” น่าจะมีออกมาเรื่อยๆ ตราบใดที่คนดูยังให้การต้อนรับ ตลาดยังต้องการ ส่วนว่าจะเปรี้ยงถูกใจ หรือแป้กกำไรหาย ต้องรอดูกันต่อ ซึ่งนักวิจารณ์หนังอย่างอภินันท์ก็มองว่า เหตุเป็นเช่นนั้น เพราะการจะทำหนังแนวนี้ให้ดีน่ะทำยาก
“ผมคิดว่าปัญหาของหนังยาวแบ่งเป็นตอนสั้นๆ มันอยู่ที่ทำให้ดีได้ยาก การรวมเรื่องสั้นๆ ไว้ในหนังยาวเรื่องเดียวกัน คุณภาพก็ไม่ควรจะดีหรือด้อยต่างกันมาก ไม่ใช่ว่าเรื่องหนึ่งดี น่าพอใจ แต่อีกเรื่องใช้ไม่ได้เลย จะว่าไปก็เหมือนวรรณกรรมนิยายกับเรื่องสั้น เรื่องสั้นนั้นเขียนยากกว่า เพราะต้องว่าให้จบครบถ้วนกระบวนความและได้อรรถรสภายใต้ข้อจำกัดด้านพื้นที่และความยาว ส่วนนิยายนั้นไหลเรื่อยได้ไม่จำกัด ตราบเท่าที่ยังสามารถคุมโครงสร้างเรื่องราวไว้ได้อยู่”