Behind the Zoo ตอน ชีวิตคู่ในสวนสัตว์
คนเรานั้นพอพูดถึงเรื่องชีวิตคู่ก็มักจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป บางคนก็สามารถแสวงหาจนเจอคู่ชีวิตและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
โดย...ภิมุข สิมะโรจน์
คนเรานั้นพอพูดถึงเรื่องชีวิตคู่ก็มักจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป บางคนก็สามารถแสวงหาจนเจอคู่ชีวิตและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข บางคู่อยู่ด้วยกันก็อาจมีความทุกข์ บ้างก็มีทั้งสุขทั้งทุกข์ปะปนกันไป ขณะเดียวกันบางคนอาจไม่อยากแสวงหาคู่เพราะชอบใช้ชีวิตเดี่ยวซึ่งมีความมีอิสระมากกว่า หรือบางคนพยายามหาแล้วแต่หาไม่เจอ ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าเกิดจากชะตาชีวิตหรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ยังไงก็ต้องมีมนุษย์ที่มีคู่อยู่จำนวนหนึ่ง เพื่อคู่นั้นๆ จะได้ช่วยทำหน้าที่เพิ่มจำนวนประชากรทดแทนที่ขาดหายไปในแต่ละช่วงเวลาได้ แต่ท่านทราบไหมว่าสัตว์ในสวนสัตว์ก็เหมือนคนเรานี่แหละ แต่เขาไม่มีสิทธิแสวงหาหรือเลือกคู่ครองแต่อย่างใดเพราะชีวิตทั้งชีวิตอยู่แต่ในกรง คู่ชีวิตจึงอยู่ที่ว่าสวนสัตว์จะจัดหามาให้อย่างไร ซ้ำร้ายบางทีสวนสัตว์ก็ติดปัญหาไม่สามารถหาคู่ให้เขาได้หรือหาให้ได้แล้วไม่ถูกใจกันก็มี อย่างเช่น เจ้าโหย สิงโตหนุ่มใหญ่ที่สวนสัตว์ดุสิตแม้ว่าเรามีประชากรสิงโตตัวเมียตามสวนสัตว์ต่างๆ อยู่พอสมควร แต่หาคู่ให้เท่าไหร่ก็ไม่เคยชอบ ไล่กัดตัวเมียทุกตัวที่หามาให้ สุดท้ายเจ้าโหยเลยต้องใช้ชีวิตเดี่ยวที่เจ้าตัวเลือกเอง จริงๆ แล้วธรรมชาติของสิงโตนั้นใช้เวลาในเรื่องอย่างว่าเพียง 5-10 วินาทีเท่านั้นเองไม่ได้ลำบากอะไรเลย แต่อย่างว่าเมื่อไม่ถูกใจจะทำอย่างไรได้ละครับ
ยังมีเจ้าจ้อน ลิงชิมแปนซีขี้หงุดหงิดที่สวนสัตว์สงขลา ชอบปาสิ่งของใส่ผู้ชมจนต้องคอยระวังเป็นพิเศษและยังชอบดมรองเท้าบู๊ตคู่ใหม่ๆ มาก ไม่สนใจตัวเมียเลย ถึงแม้ตัวเมียพยายามเอารองเท้าไปซ่อนเพื่อให้จ้อนสนใจ แต่จ้อนก็หารองเท้าจนเจอและกลับมาทำร้ายซะงั้น พี่เลี้ยงต้องหาวิธีปรับพฤติกรรมกันยกใหญ่ นอกจากนี้จ้อนยังสนใจนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้หญิงสาวๆ สวยๆ หากเข้าไปชมใกล้ๆ เจ้าจ้อนจะเกิดอาการแปลกๆ ทันที
ผมจำได้ว่าผมได้เคยให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง พิธีกรได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่าสัตว์ป่ามีปัญหาในการผสมพันธุ์ มีเป็นตุ๊ด เป็นเกย์บ้างหรือไม่ จริงๆ แล้วในสัตว์ป่าก็เหมือนคนเราที่มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปกติบ้าง แต่เราทราบได้ยากกว่าเพราะสื่อสารกันไม่ได้ ต้องสังเกตและศึกษาพฤติกรรมของสัตว์แต่ละตัวให้เข้าใจ จะว่าไปแล้วเรื่องคู่ของสัตว์นั้นในทางวิชาการมีความสำคัญมาก เพราะภารกิจหลักของสวนสัตว์นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังต้องพยายามที่จะศึกษาวิจัยและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงเมื่อสัตว์ในสวนสัตว์อยู่ในที่ปิดเป็นเวลานาน การเพิ่มจำนวนประชากรก็จะมีปัญหาเพราะสภาพแวดล้อมไม่เป็นไปตามธรรมชาติที่เขาเคยอาศัยอยู่ อีกทั้งการผสมพันธุ์กันโดยไม่มีต้นพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมก็จะเกิดปัญหาเลือดชิด (การสืบพันธุ์กับสายเลือดเดียวกัน) และหากเราปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่ควบคุม ลูกของสัตว์เหล่านั้นที่เกิดมาจะมีพันธุกรรมที่อ่อนแอหรืออาจถึงขั้นพิกลพิการได้
เรื่องดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับคณะสัตวแพทย์และทีมพี่เลี้ยงเป็นอย่างมากตัวอย่างเช่น ละมั่งพันธุ์ไทย ซึ่งปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติแล้ว มีอยู่เฉพาะที่สวนสัตว์ดุสิตและที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า บางละมุง จ.ชลบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเท่านั้น ที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะประสานงานกันเพื่อแลกเปลี่ยนหรือหยิบยืมต้นพันธุ์กันซึ่งก็ใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นจึงถือว่าประชากรของละมั่งพันธุ์ไทยอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วง หากเราไม่สามารถจัดหาคู่ที่เหมาะสมให้เขาได้ทันเวลา ประชากรละมั่งพันธุ์ไทยจะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างสมบูรณ์และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในที่สุด ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างองค์กรที่จะทำงานประสาน แลกเปลี่ยนสัตว์กันบนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า
การวางแผนในเรื่องประชากรสัตว์ในสวนสัตว์เป็นเรื่องที่สำคัญและยุ่งยากพอสมควร เนื่องจากสัตว์มีจำนวนมากมายหลายชนิด หากจำนวนประชากรมีมากพอเราก็สามารถให้เขาเลือกคู่ตามต้องการได้ โดยการนำมาเลี้ยงข้างๆ กันเรียกว่าการเทียบคู่กันก่อน เพราะหากปล่อยเขาเข้าหากันเลยอาจทำร้ายกันได้ ซึ่งเกิดขึ้นประจำกับเสือลายเมฆ แต่หากประชากรไม่มากพอ ทีนี้ก็จะพบกับข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณและความยุ่งยากในการจัดหา ดังนั้นบางครั้งสวนสัตว์ก็ต้องใช้วิธีคลุมถุงชน จัดหาคู่ให้และบังคับให้เขาอยู่ด้วยกันสองต่อสองในบรรยากาศที่เหมาะสม (และเป็นใจ) โดยหวังว่าเขาจะรักกันในที่สุดและสามารถนำไปสู่การขยายพันธุ์ได้ ที่ใช้วิธีนี้กันมากก็คงเป็นสัตว์ประเภทสัตว์ปีกหรือนกเพราะมีประชากรจำนวนมาก
กว่าจะดูกันว่าใครชอบใครพี่เลี้ยงคงปวดหัวกันพอสมควร นกบางชนิด เช่น นกเงือก ก็ดีตรงว่า รักคู่ชีวิต มีคู่เดียว ดังนั้นเมื่อเขาจับคู่กันแล้วเราก็สังเกตง่ายและสามารถแยกออกไปได้ แต่นกอื่นๆ หรือสัตว์บางชนิดก็ไม่สามารถระบุเพศได้จากภายนอก เคยมีกรณีการจับคู่นกกระเรียนที่สวนสัตว์นครราชสีมา (โคราช) ที่ทีมพี่เลี้ยงได้แยกจับคู่ไว้หลายคู่ ส่วนใหญ่เกือบทุกคู่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ แต่มีนกกระเรียนคู่หนึ่งใช้เวลาอยู่ด้วยกันแรมปีก็ไม่เกิดอะไรขึ้น พยายามแยกออกไปหาที่สงบๆ เป็นส่วนตัวก็แล้วยังไม่สามารถเกิดอะไรขึ้นได้ จึงลำบากถึงทีมสัตวแพทย์และนักวิจัยต้องนำตัวอย่างของนกกระเรียนทั้ง 2 ตัวเข้าห้องทดลองเพื่อดูว่ามีปัญหาอย่างไร เพื่อจะได้นำไปปรับแก้ไขสำหรับคู่อื่นๆ ในอนาคต หลังจากตรวจอย่างละเอียดความจริงก็ปรากฏ...ปรากฏว่า เจ้านกกระเรียนทั้ง 2 ตัวเป็นตัวผู้ทั้งคู่ เพราะนกกระเรียนทั้ง 2 เพศนี้มีหน้าตาเหมือนกัน ทำให้แยกกันไม่ได้ด้วยลักษณะภายนอก ต้องตรวจเพศก่อนจึงจะยืนยันได้ ...นี่คงเป็นเหตุผลและคำตอบที่ว่าทำไมสวนสัตว์โคราชถึงเกิดฟ้าผ่าบ่อยๆ
นอกจากวิธีการที่เล่ามาแล้ว ทางทีมงานต้องใช้วิทยาการเทคโนโลยีการสืบพันธุ์เข้ามาช่วยอีกแรงหนึ่ง ซึ่งก็เป็นทางเลือกอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากได้โดยไม่ต้องลุ้นพฤติกรรมของสัตว์มากนัก อย่างเช่น การผสมเทียม ซึ่งสามารถสร้างให้แพนดาหลินปิงลืมตาดูโลกขึ้นมาได้ หรือจะเป็นแมวดาว จนมาถึงกรณีของทีมวิจัยที่สามารถทำให้เกิดละมั่งหลอดแก้วเป็นตัวแรกของโลกได้ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ซึ่งนำเอาเทคนิคการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือการผลิตเด็กหลอดแก้วในคนมาใช้ เทคนิคนี้ช่วยให้ผลิตตัวอ่อนได้จำนวนมากๆ และไปฝากกับแม่อุ้มบุญ ทำให้ได้ละมั่งพันธุกรรมเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ผมในฐานะผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ฯ พร้อมทีมงานขณะนั้นภูมิใจมากและได้ตัดสินใจถวายละมั่งตัวนี้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลอง 5 ธันวามหาราช 2554 ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงมีพระกรุณาพระราชทานชื่อให้ละมั่งน้อยนี้ว่า โรหิสรัตน์ (โรหิส=ละมั่ง+รัตน์=แก้ว) ในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่คู่ชีวิตนั้นไม่อาจหาในประเทศไทยได้ ต้องนำเข้ามาอย่างเดียวเนื่องจากเป็นสัตว์ต่างประเทศที่กฎเกณฑ์การนำเข้ายากมาก เมื่อเข้ามาได้คู่หนึ่งแล้ว หากคู่ชีวิตตายจากไปก็ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว เช่น เจ้าบัวน้อย คิงคองของสวนสัตว์พาต้า แรดอินเดียที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ซึ่งวันวาเลนไทน์ทุกปีก็จะจัดงานให้เขาเพื่อชดเชยกับความรักที่ขาดหายไป ฯลฯ
ผมจำได้ว่าเรามีการประชุมวางแผนประชากรสัตว์กันครั้งใหญ่ที่ จ.อุบลราชธานี เพราะนอกจากจะพยายามแก้ปัญหาจำนวนและความแข็งแรงด้านพันธุกรรมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เรายังวางแผนจะเปิดสวนสัตว์อุบลฯ ในปลายปี 2555 ให้จงได้ เพราะได้เริ่มกันมาเป็น 10 ปีแล้วยังไม่ได้เปิดสักที จึงทำให้ต้องมีการโยกย้ายสัตว์จากสวนสัตว์อื่นๆ มาเลี้ยงดูที่นี่ ซึ่งหมายความว่าถ้าเลือกได้ก็ต้องมีคู่มาด้วย
ในการประชุมครั้งนั้นทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ยกเว้นก่อนปิดการประชุมมีพนักงานผู้หญิงท่านหนึ่งได้เอ่ยถามผมว่า หลังจากช่วยหาคู่ให้สัตว์ต่างๆ ในสวนสัตว์แล้ว อยากให้ผู้อำนวยการช่วยหาคู่ให้กับพนักงานบ้างได้มั้ยค่ะ เพราะทำงานมาเป็น 10 ปี ยังไม่มีคู่เหมือนกัน ที่แต่งกันเองภายในสวนสัตว์ก็เริ่มจะใกล้เลือดชิดเข้าทุกที เป็นไปได้มั้ยค่ะที่ผู้อำนวยการจะช่วยแนะนำผู้ชายดีๆ ให้พนักงานที่ยังไม่มีคู่บ้าง ในเวลานั้นผมรู้สึกว่างานผมยากขึ้นเป็นเท่าตัวทันที