ชุมทางฝูงนางนวล
เป็นประจำเหมือนเช่นเคยเมื่อฤดูหนาวมาเยือน ฝูงนกนางนวลเจ้าประจำนับหมื่นตัวก็จะอพยพยกพลกันมาปักหลักทำมาหากินกันที่สถานตากอากาศบางปู
โดย...ประกฤษณ์ จันทะวงษ์
เป็นประจำเหมือนเช่นเคยเมื่อฤดูหนาวมาเยือน ฝูงนกนางนวลเจ้าประจำนับหมื่นตัวก็จะอพยพยกพลกันมาปักหลักทำมาหากินกันที่สถานตากอากาศบางปู จ.สมุทรปราการ ให้เป็นที่ตื่นตาของนักท่องเที่ยว
บนสะพานสุขตาที่ทอดยาวออกจากฝั่ง วันนี้คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวและนักอนุรักษ์ นกนางนวลหลายพันตัวบินฉวัดเฉวียน พึ่บพั่บสองข้างฝั่งสะพาน แบบชนิดใกล้แค่เอื้อม เห็นแล้วอยากจะกระโดดไปจับมันให้รู้แล้วรู้รอดไป ส่วนกลุ่มที่ไม่บินก็จะลอยตัวบนน้ำ หันหน้าไปทางเดียวกันอย่างเป็นระเบียบสวยงาม เหมือนถูกฝึกมาแบบทหาร บางตัวก็จะไปจับจองที่ยืนอย่างสบายอารมณ์บนเสาไม้กลางทะเลที่ปักเรียงกัน
ช่วงกลางวันที่นี่อากาศจะร้อน ประมาณช่วงบ่าย 3 ถึงจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวทยอยกันมา ช่วง 4 โมงเย็น แดดไม่แรง อากาศกำลังดี มีลมทะเลพัดเย็นสบาย นอกจากนั้นที่นี่ยังเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม เพราะด้วยทิศทางด้านทิศตะวันตกแล้วเป็นเวิ้งทะเลกว้าง หากอากาศโปร่งโล่งใสๆ แล้วละก็ จะได้เห็นพระอาทิตย์ค่อยๆ จมหายลงไปในน้ำ ท่ามกลางฝูงนางนวลที่ร่ายระบำ
บนสะพานจะมีแม่ค้าขายอาหารนก นักท่องเที่ยวจะนิยมโยนอาหารขึ้นไปกลางอากาศนอกสะพาน แล้วนกนางนวลก็จะเฮโลเหินเวหากันมาคาบหมับ แล้วก็จากไปอย่างไม่ไยดี (อาจจะแท้งกิ้วในใจ พูดไม่ได้เดี๋ยวอาหารหล่น...) พวกมันจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ คือถ้ามีเพื่อนบินไปทางไหน พวกมันก็จะเฮโลบินตามกันไปทางนั้นเป็นขบวน แม้ไม่ได้กินอาหารแต่ขอให้ได้บินตามกันมาก็แฮปปี้แล้ว บางตัวบินมาเร็วไปนิด คนโยนก็ช้าไปหน่อย จังหวะไม่สัมพันธ์กัน มันต้องเบรกตัวโก่ง ชนกันตุ้บตั้บดูตลกดี
นกเหล่านี้อพยพมาจากทวีปเอเชียตอนกลาง ทางแถบมองโกเลีย จีน ทิเบต และทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศรัสเซีย เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดต่ำลงในช่วงหน้าหนาว หลายคนสงสัยพวกมันจดจำเส้นทางได้อย่างไร? ในการเดินทางกลับมาที่นี่ทุกๆ ปี เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติเช่นกันครับ คุณวิชา นรังศรี จากสมาคมอนุรักษ์นกฯ ยืนยันว่า “พวกมันจะเดินทางในตอนกลางคืนที่มืดมิด บินตลอดเส้นทาง โดยอาศัยการสังเกตดวงดาว การฟังเสียงคลื่นกระทบชายฝั่ง และการจดจำเส้นทางที่ถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น... พวกมันสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 170190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง”
ด้วยความอุ่นหนาฝาคั่งของนกที่นี่ทุกปี มาปีนี้จึงได้มีการจัดงานเทศกาลดูนกเอเชีย ครั้งที่ 3 ขึ้น (The Third Asian Bird Fair) ระหว่างวันที่ 1011 พ.ย. 2555 ด้วยความร่วมมือของกลุ่ม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น สมาคมอนุรักษ์นกแห่งประเทศไทย กรมพลาธิการทหารบก มูลนิธิฟีต และเหล่านกๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะกองทัพนกอพยพที่จะต้องเป็นพระเอกของงานโดยไม่รู้ตัว ที่นี่ไม่ได้มีเพียงนกนางนวลเท่านั้น มีนกหายากอีกหลายชนิดที่อพยพมาปักหลักหากินที่นี่เช่นกัน อาทิ นกปากแอ่นหางดำ จากทางตอนกลางของทวีปเอเชีย ราว 3,000 ตัวในแต่ละปี นอกจากนั้นยังมีนกประจำถิ่นอีกหลายชนิดตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
ฤดูกาลแห่งการชมนกเริ่มขึ้นแล้ว นกมากมายทยอยกันมาโดยมิได้นัดหมาย พวกมันกลับมาสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับผู้คน... บางปู ที่เคยเหงาๆ วันนี้คึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งด้วยน้องนางนวล...
&<2288;